Saturday, July 20, 2013

กุศลฌาน

กุศลฌาน ปัญจกนัย
             [๗๑๕] ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ สงัดจาก กาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ ในสมัยใด ฌานมี องค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า ปฐมฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน            
  [๗๑๖] ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุ
ทุติยฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไม่มีวิตก มีแต่วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่
วิเวก อยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีใน
สมัยนั้น นี้เรียกว่า ทุติยฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่าธรรมที่สัมปยุต
ด้วยฌาน
            
 [๗๑๗] ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุ
ตติยฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ เป็นไปในภายใน เป็นธรรมชาติผ่องใส เพราะ
วิตกวิจารสงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดแต่สมาธิ อยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต
มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่าตติยฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุต
ด้วยฌาน
           
  [๗๑๘] ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ เพราะ
คลายปีติได้อีกด้วย จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข
ด้วยนามกาย บรรลุจตุตถฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นฌานที่พระอริย-
*เจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
ดังนี้ อยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น
นี้เรียกว่า จตุตถฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน
            
 [๗๑๙] ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุ
ปัญจมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ ใน
สมัยใด ฌานมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า
ปัญจมฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน ฯลฯ
            
 [๗๒๐] ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงอรูปภพ เพราะ
ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงบรรลุจตุตถฌานอันสหรคตด้วย
เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ ใน
สมัยใด ฌานมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า
จตุตถฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๘๕๘๔ - ๘๖๑๗. หน้าที่ ๓๗๑ - ๓๗๒.

ฌาน ๔

กุศลฌาน จตุกกนัย
[๗๑๐] ฌาน ๔ คือ ๑. ปฐมฌาน ๒. ทุติยฌาน ๓. ตติยฌาน ๔. จตุตถฌาน [๗๑๑] ในฌาน ๔ นั้น ปฐมฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ประกอบ
ด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๕ คือ
วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า ปฐมฌาน
ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน
            
 [๗๑๒] ทุติยฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุทุติยฌานที่
มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ เป็นไปในภายใน เป็นธรรมชาติผ่องใส เพราะวิตกวิจาร
สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่
สมาธิ อยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีใน
สมัยนั้น นี้เรียกว่า ทุติยฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุต
ด้วยฌาน
            
 [๗๑๓] ตติยฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ เพราะคลายปีติได้
อีกด้วย จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าว
สรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ อยู่ ใน
สมัยใด ฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า
ตติยฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน
            
 [๗๑๔] จตุตตถฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทา เพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุจตุตถฌาน
ที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะ
โสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา อยู่ ในสมัยใด
ฌานมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า จตุตถฌาน
ธรรมทั้งหลายที่เหลือเรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๘๕๔๙ - ๘๕๘๓. หน้าที่ ๓๖๙ - ๓๗๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=8549&Z=8583

Friday, July 19, 2013

มาร ๕ ประการ


มาร ๕ ประการ

วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องมาร ๕ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
มาร ๕ ประการนี้ ถือว่าเป็นมหาภัยกั้นกลางหรือขัดขวางการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐาน
ของท่านทั้งหลายไม่ให้ได้ผลเหมือนกันคำว่ามารได้แก่สิ่งที่มุ่งร้าย เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง หรือขัดขวางการกระทำความดี ในที่นี้หมายเอาสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม ไม่ให้บรรลุผล หรือได้ผลน้อย ได้ผลไม่คุ้มค่า มาร ๕ ประการนั้นคือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร ดังมีอธิบายดังนี้
มารตัวที่ ๑ คือตัวหลอกลวง ได้แก่ กิเลสมาร มารคือกิเลส มารคือกิเลสนี้ เป็นมารที่มาขัดขวางความดีทุกอย่างไม่ให้เกิดขึ้น เป็นมารที่ทำจิตใจให้เศร้าหมอง เป็นสภาวะที่ลามก หมักดองอยู่ในขันธสันดาน กิเลสมารนี้มีมากถึงพันห้าร้อย แต่จะยกมาประกอบการบรรยายสักสิบประการ เรียกว่ากิเลส ๑๐ คือ
๑. โลภะ อยากได้ในอารมณ์ ๖ คืออยากได้รูปที่สวยๆ อยากฟังเสียงที่ดีๆ อยากได้กลิ่นที่ดีๆ อยากได้รสที่เอร็ดอร่อยที่ดีๆ อยากได้สัมผัสที่ดีๆ อยากได้ธรรมารมณ์ที่ดีๆ สรุปแล้วว่าอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าชอบ น่าปรารถนา น่าพอใจนั่นเอง ตัวโลภะนี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดความอยากได้อย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้าง เช่นเวลาปฏิบัติพระกรรมฐานก็อยากให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น อยากให้สมาธิเกิดขึ้น อยากให้โอภาสคือแสงสว่างเกิดขึ้น อยากเห็นนรก อยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ซึ่งจากโลกนี้
ไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้าเป็นต้น หากว่าเกิดขึ้นกับคนธรรมดา ก็พาให้เป็นคนโกง ลักทรัพย์ ค้าของเถื่อน หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตเป็นต้น แต่โลภะนี่ขอให้เข้าใจว่า โลภะในภาคปริยัติกับโลภะในภาคปฏิบัตินี้ไม่เหมือนกัน ถ้าโลภะในภาคปริยัติ หมายเอาการอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต และก็หาเอาในทางทุจริตเช่น ลักขโมยเอาบ้าง ปล้นเอาบ้าง จี้เอาบ้าง ยักยอกหลอกลวงเอาบ้าง ถ้าเรามีความอยากได้ในทางทุจริต แล้วก็หาเอาในทางทุจริตอย่างนี้ แม้จะได้มาเพียง ๑ บาท ๒ บาท ก็ถือว่าเป็นโลภะแล้ว แต่ถ้าอยากได้ในทางสุจริตแล้วก็หาเอาในทางสุจริต แม้จะได้มาเป็นพันๆ ล้านบาท ก็ไม่ถือว่าเป็นโลภะ ส่วนโลภะในด้านปฏิบัติแล้วเอาละเอียดกว่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาปฏิบัติ ถ้ามีความชอบใจเป็นโลภะแล้ว ไม่ชอบใจจัดเป็นโทสะ สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้กำหนด จัดเป็นโมหะ โลภะโทสะโมหะในด้านปฏิบัตินี้ เราเอาละเอียดกว่าด้านปริยัติ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี การบรรยายธรรมะ การเทศน์หรือการสอนธรรมะ เราอย่าเอาปริยัติกับปฏิบัติไปผสมกัน แล้วก็จะทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา เพราะว่าธรรมะในด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ หมายเอาละเอียดกว่ากันดังกล่าวมาแล้ว
๒. โทสะ ความโกรธ ทำให้ใจเศร้าหมองหงุดหงิด โกรธง่าย มีอะไรนิดหน่อยเกิดขึ้นก็โกรธ ก็ขัดใจ ทำตัวเป็นศัตรู แห้งผากใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ร้อนใจเหมือนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา หากเกิดกับคนธรรมดาสามัญ ก็ทำให้ด่ากัน ฆ่ากัน วางเพลิง จุดบ้านเผาเรือนกันเป็นต้น
๓. โมหะ ความหลงไม่รู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้ประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ทำให้เป็นคนหัวดื้อ ขี้เมา ฉุดคร่าอนาจาร บ้ากาม ประมาท เกียจคร้านเป็นต้น คนทั้งหลายที่ติดอยู่ในของเสพติดมีประการต่างๆ เช่น ติดอยู่ในหมากพลู กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล้า ผงขาว ดมกาว อะไรนานัปการ จนหลงติดอยู่กับอบายมุข ๖ ประการ มีการพนันเป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นไปตามอำนาจของโมหะทั้งนั้น เพราะว่าโมหะทำให้เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นของดี และก็เป็นเหตุให้หลวมตัวเข้าไป ผลสุดท้ายก็ต้องเสียผู้เสียคน เสียคุณงามความดีอันจะพึงได้พึงถึง เสียอนาคตของตัวเอง เหตุนั้นโมหะนี้ก็จึงถือว่าเป็นตัวหลวกลวงตัวหนึ่ง
๔. อหิริกะ ความไม่ละอายบาป ไม่ละอายต่อการทำบาป สามารถทำความชั่วได้ ไม่ละอายทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๕. อโนตตัปปะ ความไม่กลัวบาป ไม่กลัวต่อผลของบาปถือว่าชาตินี้ตัวเป็นสุขก็พอ คนอื่นจะเดือดร้อนเช่นไรก็ช่างเขา ขอแต่เราเป็นสุขในชาตินี้ก็พอแล้ว ชาติหน้าจะเป็นไส้เดือนกิ้งกือก็ช่างมัน อันนี้เป็นลักษณะของตัวอโนตตัปปะ
๖. ทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่นเห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี บิดามารดาครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หามีคุณไม่ เป็นคนอกตัญญูเนรคุณแก่ท่านผู้มีพระคุณต่อเรา
๗. มานะ ความถือตัวว่าไม่เท่าเพื่อน ถือว่าดีกว่าเพื่อนบ้าง เลวกว่าเพื่อนบ้าง ทำให้เป็นคนหัวดื้อถือรั้น ว่ายากสอนยากชอบเอาแต่ใจตนเองเป็นต้น
๘. อุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เช่น จิตคิดไปในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต เวลาทำกรรมฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดได้ปัจจุบันธรรม คือไม่สามารถที่จะจับรูปนาม ให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเราไม่ได้ปัจจุบันธรรม พระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนั้นพึงสังวรให้ดี เวลาอุทธัจจะเกิดขึ้น พยายามตั้งจิตตั้งใจให้ทันปัจจุบัน
๙. ถีนะ ความท้อถอยต่ออารมณ์ต่างๆ ทำให้ง่วงเหงาหาวนอนเซื่องซึม จิตใจอ่อนแอ จับอารมณ์ไม่มั่น เวลาปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกรรมฐานให้ทันปัจจุบัน ไม่สามารถกำหนดได้อย่างกระฉับกระเฉง มีแต่เซื่องซึมง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา
๑๐. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ใครไปเห็นมา พระธรรมที่ตรัสเป็นจริงหรือ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมได้บรรลุมรรคผลนิพพานจริงหรือ ชาติหน้ามีจริงหรือ ถ้ามีไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ สวรรค์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงผู้ไปเกิดในสวรรค์ไม่เห็นมีใครมาบอก เป็นต้น
กิเลสมารเป็นมารได้อย่างไร เป็นมารได้อย่างนี้คือ เพราะว่ากิเลสมารนี้ เป็นสภาพทำลายล้างคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป และกีดกันขัดขวางคุณงามความดีคือบุญกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เช่นเวลาปฏิบัติธรรม ก็ทำลายล้างศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้ว มีขึ้นแล้วให้หมดไป และกีดกันศีล สมาธิ ปัญญาอริยมรรคอริยผลใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา กิเลสแต่ละชนิดแต่ละตัวนั้น ล้วนแต่เป็นมารเป็นศัตรูทำลายล้าง และกีดกันคุณงามความดีทั้งนั้น ที่ร้ายที่สุดก็พวกตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า และพวกอภิชัปปาคือกิเลสกระซิบที่จิต ทำให้เราเข้าใจผิด และทำให้การปฏิบัติผิด เดินทางไม่ถูก ผลสุดท้ายก็ไม่อาจบรรลุอริยมรรคอริยผล
เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของกิเลสมาร มีหนทางเดียวเท่านั้น คือต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุพระนิพพานแล้วนั้นแหละ จึงจะพ้นจากอำนาจของมารได้ ข้อนี้มีพระพุทธพจน์ ที่ตรัสกับกัปปะมาณพว่า เรากล่าวว่าพระนิพพานอันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะนี้แหละ เป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้พระนิพพานนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลยดังนี้
มารตัวที่ ๒ คือตัวทวงสิทธิ์ ได้แก่ ขันธมาร มารคือ ขันธ์ ๕ เพราะเหตุไรขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงจัดว่าเป็นมาร เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ เป็นสภาวธรรมที่ให้เกิดความลำบากอยู่เป็นนิจ บางครั้งก็ลำบากจนเหลืออดเหลือทน เดี๋ยวก็ปวดที่โน้น เดี๋ยวก็เจ็บที่นี้ เดี๋ยวก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หิวกระหาย อ่อนเพลีย เดี๋ยวก็ทำให้เป็นโรคกระเพาะ โรคความดันสูง โรคประสาท เป็นต้น มีเงินมีทองหามาบำรุงเยียวยาเท่าไรก็ไม่พอ หนักๆ เข้าก็คิดทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตาย ยิงตัวตาย แทงตัวตาย ผูกคอตาย กระโดดน้ำตาย กระโดดตึกตาย บางครั้งก็เอาน้ำมันราดเผาตัวเองตาย กินยาพิษตาย แล้วก็ต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ยิ่งได้รับความทุกข์มากขึ้น สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นทุกวันนี้ ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา หารู้ไม่ว่าเบญจขันธ์นี้เป็นสภาวธรรมที่เบียดเบียนเราให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ไม่มีความสงสัย ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนกับบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งมีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดีผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ แต่มาคิดว่าคฤหบดีนี้เขารักษาตัวดีนัก เราจะฆ่าโดยพลการนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องฆ่าโดยอุบาย เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว จึงเข้าไปขอเป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านของคฤหบดี คฤหบดีก็รับไว้ แต่หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนั้นเขาจะมาเพื่อฆ่าตน ในขณะที่ใช้เขาอยู่ก็ไม่ได้รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน จนคฤหบดีนั้นไว้เนื้อเชื่อใจทุกสิ่งทุกประการ เมื่อไว้เนื้อเชื่อใจแล้วก็มอบความเป็นใหญ่ให้ มอบหน้าที่การงานทุกอย่างให้ บุรุษนั้นก็สามารถทำงานโดยอิสระ เข้านอกออกในได้ตามความประสงค์ อยู่มาวันหนึ่ง ในขณะที่คฤหบดีนอนหลับอยู่ บุรุษนั้นได้นำดาบมาแล้วตัดคอคฤหบดีนั้นตายไป ท่านทั้งหลายในขณะที่บุรุษนั้นมาอยู่ด้วย คฤหบดีก็ดี คนทั้งหลายก็ดี ก็หารู้ได้ไม่ว่า บุรุษนี้เขามาเพื่อจะพยายามฆ่า ในขณะที่ใช้เขาอยู่ก็ไม่รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน และในขณะที่เขาฆ่าคฤหบดีตายไปแล้ว คฤหบดีนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นผู้ฆ่า หรือคนในบ้านนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นคนฆ่า ข้อนี้ฉันใด ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ก็เป็นสภาวธรรมที่ทำลายล้างและเบียดเบียนฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา ทำลายคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป คนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทำความชั่วช้าลามกนานาประการ ก็เพราะว่าไม่รู้ความจริง หรือว่าไม่รู้ความเป็นไปไม่รู้ธาตุแท้แก่นแท้ของขันธ์ ๕ ประการนี้ว่าเป็นอย่างไร เลยหลงยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเราอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้ทำความชั่วนานัปการ เมื่อตายแล้วก็ไปตกอบายภูมิ ดังนั้นการไปตกนรกก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่คนไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในฉกามาวจร สวรรค์ก็ดี ในพรหมโลกก็ดี ก็เพราะเบญจขันธ์นี้เป็นเหตุ สัตว์โลกทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นเพราะเบญขันธ์นี้เป็นเหตุ เหตุนั้นเบญจขันธ์นี้จึงถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่ร้ายกาจที่สุด
เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากอำนาจของขันธมาร เราต้องปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐาน จนเกิดปัญญา เกิดนิพพิทา เกิดวิราคะ เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ ก็จะพ้นได้ดังมีพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระราธะว่า ราธะสิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นของธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเสีย แล้วมารก็จะตามไม่ทัน ก็จะเป็นเหตุละขันธมารได้
มารตัวที่ ๓ คือตัวอิทธิพล ได้แก่ อภิสังขารมาร มารคือบาป บาปในที่นี้หมายถึงบาปที่เราเคยทำไว้ในอดีตตามสนองบ้าง และก็หมายเอาบาปที่เราทำไว้ในภพนี้ชาตินี้บ้าง บวกกันทั้งอดีตทั้งปัจจุบัน บาปจัดเป็นมารได้อย่างไร บาปจัดเป็นมารได้เพราะว่าบาปนี้ เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้สำเร็จ เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง คือเผาไหม้กุศลจิตให้เหี้ยมเกรียมไป ทำนำ้ที่หล่อเลี้ยงหัวใจคือบุญกุศลให้หมดไป ยกตัวอย่างผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ ประการ มีปิตุฆาต ฆ่าบิดา มาตุฆาต ฆ่ามารดา อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ โลหิตุปบาท ทำลายพระพุทธเจ้าเพียงพระโลหิตห้อ สังฆเภท ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เมื่อเราทำอนันตริยกรรม ๕ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราเป็นอภัพพบุคคล ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดีได้เลย แม้จะสำเร็จสมาบัติ ๘ ประการ อันนับว่าเป็นกุศลที่สูงสุดฝ่ายโลกียะ แต่หากว่าได้ทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า สมาบัติทั้ง ๘ ประการนั้นก็เสื่อม ตัวอย่างพระเทวทัต เมื่อก่อนโน้นได้ฌาน ได้อภิญญาโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่เมื่อทำลายพระพุทธเจ้า ทำพระโลหิตให้ห้อ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฌานและอภิญญาจิตก็เสื่อมเพราะเหตุไร เพราะจิตใจของผู้ทำอนันตริยกรรมนั้น ถูกกิเลสเผาไหม้จนเหี้ยมเกรียมไปหมดแล้ว อุปมาเหมือนกับไฟที่ไหม้ต้นไม้หรือท่อนไม้ให้เป็นถ่านเป็นเถ้าไป เมื่อไม้นั้นเป็นถ่านเป็นเถ้าไป ก็ไม่สามารถจะนำไม้นั้นมาใช้ประโยชน์ได้ อนึ่งหากว่าเราทำบาปไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่าเราล่วงเกินพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ให้ท่านต้องเจ็บใจต้องน้ำตาตกเพราะเราเป็นต้นเหตุ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจึงจัดเป็นอภิสังขารมาร คือบาปนี้เป็นมารตัวร้ายกาจตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกลางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล
เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอภิสังขารมารได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น ต้องเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานไปจนสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เท่านั้นแหละ มารจึงจะตามไม่ทัน ดังพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสแก่เมตตคูมาณพว่า ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิคือกรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดขึ้นมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนโง่เขลาไม่รู้ ย่อมกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนืองๆ เหตุนั้นเมื่อรู้เห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้เกิดให้มีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถที่จะทำการละอภิสังขารมารนี้ได้
มารตัวที่ ๔ คือตัวกลมารยา ได้แก่ เทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร เทวบุตรนั้นมีอยู่ ๓ จำพวกคือ
๑. สมมติเทวบุตร ได้แก่เป็นเทวบุตรโดยสมมติ เช่น พระราชา พระราชินี บิดา มารดา เป็นต้น
๒. อุปปัตติเทวบุตรได้แก่เทวบุตรโดยกำเนิด
๓. วิสุทธิเทวบุตร ได้แก่ท่านผู้มีความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจ คือผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
เทวบุตรมารในที่นี้หมายเอาจำเพาะประเภทที่ ๑ และ ๒ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ปกครองบุตรธิดาหรือลูกศิษย์ลูกหาไม่ยุติธรรม ลำเอียงเพราะรักคนโน้นชังคนนี้เป็นต้น ทำอะไรขาดเหตุผล ขาดวิจารณญาณ คอยแต่จะให้ร้ายอยู่เสมอ ท่านจึงจัดว่าเป็นมาร และประเภทที่ ๒ หมายเอาผู้ที่เป็นเทวบุตรจริงๆ เช่น รุกขเทวดาบ้าง เป็นภุมมเทวดาบ้าง เป็นอารักขเทวดาบ้าง หรือเป็นอากาสัฏฐเทวดาบ้าง แต่เป็นเทวดาที่เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในระพุทธศาสนา ไม่เลื่อมใสในบุญกุศล ไม่เลื่อมใสในพระธรรม เมื่อเห็นผู้หนึ่งผู้ใดบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล หรือประพฤติปฏิบัติธรรม ก็หาทางกีดขวางนานัปการแสดงตัวให้ปรากฏเป็นภาพที่น่าพิลึกสะพรึงกลัว บางทีทำให้เหมือนสัตว์ร้าย เหมือนเปรต เหมือนอสุรกาย เหมือนภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอนบ้าง มีเสียงข่มขู่ให้ตกใจกลัวบ้าง อันนี้ก็ถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่สุดที่ทำลายล้าง การประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานไม่ให้เกิดขึ้น หากว่าผู้มีความกลัวเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้วยิ่งร้าย ไม่สามารถที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไปได้เลย
ที่นี้เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของเทวบุตรมาร ทำอย่างนี้คือ
๑. เจริญเมตตา แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญกุศลให้
๒. ใช้ความเพียรตั้งสติกำหนดให้ทันปัจจุบัน โดยไม่เอาใจใส่ก็จะหลีกไปเอง ดังครั้งหนึ่งพระศาสดา ทรงเห็นอุปนิสัยของเด็กหญิงจำนวน ๕๐๐ ชาวบ้านพราหมณ์ปัญจะสาละ ว่าควรแก่การที่จะบรรลุพระโสดาบัน เช้าขึ้นมาพระองค์ก็นุ่งสบงทรงจีวร มีกรจับบาตร ลีลาศเข้าไปสู่หมู่บ้านพราหมณ์ปัญจะสาละนั้น เพื่อบิณฑบาตและจะได้โปรดเด็กหญิงทั้ง ๕๐๐ นั้น ในขณะที่พระองค์ทรงเที่ยวบิณฑบาตอยู่มารก็เข้าดลใจชาวบ้านทั้งหลาย ไม่ให้เลื่อมใสไม่ให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านทั้งหลายลองนึกดูซิว่า มารนี้มีกำลังร้ายแรงขนาดไหน สมเด็จพระบรมครูของเราเป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้ว มารยังกล้าเบียดเบียนได้ดลจิตดลใจชาวบ้านให้เฉยอยู่ไม่ทำความสำคัญในพระองค์เลย ราวกับว่าพระองค์เป็นคนธรรมดา เมื่อพระองค์เสด็จบิณฑบาตจนทั่วหมู่บ้านแล้ว ไม่ใครถวายบิณฑบาตเลย พระองค์ก็เสด็จออกจากบ้านนั้น ไปถึงประตูบ้านที่พวกเด็กหญิง ๕๐๐ คนกำลังเดินมาถึงประตูบ้านพอดี และในขณะนั้นพระยามารเห็นว่าพระองค์กำลังจะเสด็จออกจากบ้าน เลิกจากการบิณฑบาต ก็เข้าไปหาพระพุทธองค์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ไม่ได้บิณฑบาตหรือพระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมาร ก็เธอทำชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้นึกถึงเราตถาคตผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ แล้วยังจะมีหน้ามากล่าวเช่นนี้อีกหรือ มารก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์จงเสด็จไปใหม่เถิด คราวนี้ชาวบ้านจักเลื่อมใส พระองค์จึงได้ตรัสพระถาคาว่าดูก่อนมาร เราผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขดีหนอ เราจะเป็นผู้มีปีติเป็นภักษา เหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสระฉะนั้น เวลาจบพระคาถา หญิงทั้ง ๕๐๐ คนซึ่งพากันนั่งฟังพระพุทธเจ้าสนทนากับพระยามาร ส่งกระแสจิตกระแสใจไปตามพระดำรัสของพระองค์ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน นี้แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้เราพ้นจากเทวบุตรมาร ก็มีดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
มารตัวที่ ๕ คือตัวล่าสังขาร ได้แก่ มัจจุมาร มารคือความตาย เพราะเหตุไรความตายจึงจัดว่าเป็นมาร เพราะว่าความตายเป็นที่ตัดชีวิตเสียก่อนจะได้บำเพ็ญคุณงามความดีให้เต็มที่ เช่นจะก่อสร้างศาสนวัตถุให้สำเร็จ จะศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ จะปฏิบัติพระกรรมฐานให้สำเร็จ จะเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไปให้สำเร็จ ก็มาปลิดชีวิตไปเสีย อีกอย่างหนึ่งความตาย ที่จัดว่าเป็นมาร เพราะคนเรามีความกลัวตาย ไม่กล้าทำความดี ไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวตาย เช่นเวลาปฏิบัติพระกรรมฐาน เจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย หิวกระหาย ขี้เกียจ กลุ้มใจ ลำบากสักหน่อยก็เลิกปฏิบัติหยุดปฏิบัติ เพราะกลัวตาย การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องตายเสียก่อนตาย จึงจะสำเร็จ คือตายเสียก่อนที่มัจจุราชจะมาปลิดชีวิตของเรา เราไม่ยอมให้มัจจุราชฆ่าเราตายแต่เราตายของเราเอง เรียกว่าตายอย่างพระอริยเจ้า เมื่อการปฏิบัติธรรมต้องตายเสียก่อนตายอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงกลัวตาย
ที่นี้เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากอำนาจของมัจจุราช การที่จะพ้นจากอำนาจของมัจจุราชนั้น ต้องปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ตรัส พระพุทธพจน์แก่โมฆราชมาณพว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่าตัวของเรา เสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจึงจะไม่ตามทัน
สรุปแล้วว่าวันนี้ได้นำมหาภัยสิ่งที่มาขัดขวาง หรือกั้นกลางการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานไม่ให้ได้ผลมาบรรยาย ๕ ประการ ก็ได้แก่มาร ๕ ประการ คือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร เมื่อใดมารทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้น ก็จะทำลายล้างสภาวธรรมที่ดีคือบุญกุศล หรือศีลสมาธิที่มีอยู่ให้เสื่อมไป และเป็นสิ่งที่กั้นกลางขัดขวาง ศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค อริยผล ไม่ให้เกิดขึ้น เหตุนั้นท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป ให้มีเผลอน้อย ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้มารได้ช่องได้โอกาส เข้าแทรกแซงหรือทำลายล้างคุณงามความดีของเรา…

ภาพ ๕ ประการ


ภาพ ๕ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ภัยใหญ่ของวิปัสสนา มิใช่ว่าจะมีเฉพาะที่ได้เคยกล่าวมาแล้วนั้นก็หาไม่ เมื่อใดเราใช้สติเพ่งลึกลงไปตามลำดับๆ จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับรูปนาม อยู่กับอาการพองอาการยุบไม่เผลอ สมาธิก็เกิดขึ้น พอสมาธิเกิดแล้ว ก็จะสร้างนิมิตต่างๆ นานาประการให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๕ ประการ ๑. ภาพล้อ ๒. ภาพล่อ ๓. ภาพหลอก ๔. ภาพลวง ๕. ภาพล้าง
ภาพทั้ง ๕ ประการนี้ จะเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ใดมีมนสิการสำเหนียกไว้ในใจ พยายามรักษาสติอารมณ์ ข่มจิตใจไม่ให้เกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เกิดถีนะความท้อแท้ง่วงเหงาหาวนอน จิตใจของเราไม่เผลอไปจากอารมณ์ของกรรมฐาน เช่นเรากำหนดอาการพองอาการยุบ จิตใจก็จับอยู่ที่อาการพองอาการยุบตลอดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา เมื่อสมาธิเกิดจิตใจก็ปลอดจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ ทำให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบ เมื่อจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ประณีตดีแล้ว จิตใจก็จะสร้างนิมิตต่างๆ ขึ้นมา เช่นบางครั้ง
นั่งไปก็จะเห็นป่าไม้ ภูเขาแม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ จิตเป็นผู้ที่สร้างขึ้นมา แต่เมื่อรวมแล้วก็ได้แก่ภาพ ๕ ประการนั้นเอง
๑. ภาพล้อ นิมิตที่เรียกว่าภาพล้อนั้นบางท่านเรียกว่า กายทิพย์ คือจะปรากฏมีอีกภาพหนึ่งเหมือนกับตัวของเราเอง ผู้ปฏิบัติทำอะไรภาพนั้นก็จะทำตามบ้าง เราจะยืนก็ยืนบ้าง เมื่อจะเดินก็เดินบ้าง เมื่อเราก้มเหยียดคู้เงยเคลื่อนไหวก็ทำเช่นนั้นบ้าง เป็นดังว่าภาพนั้นล้อเลียนเรา บางทีผู้ปฏิบัติจะนึกใช้ให้ไปทำอะไรที่ไหนก็ได้ตามความนึกคิดในขณะนั้น อันนี้เรียกว่าภาพล้อ คือล้อเลียนเรา เลียนแบบเราทุกสิ่งทุกอย่าง เรานั่งพระกรรมฐานอยู่ก็ปรากฏเป็นรูปๆ หนึ่งนั่งอยู่ข้างหน้า เรามองดูแล้วก็เป็นรูปของเรานี้เอง เรากำหนดพองหนอยุบหนอหรือว่า พุทโธๆ มันก็พองหนอยุบหนอหรือว่าพุทโธๆ เหมือนกับเรา มองซ้ายแลขวามันก็มองซ้ายแลขวาด้วย เราลุกไปเดินจงกรมมันก็ลุกไปเดินจงกรมด้วย เรานึกเราคิดอย่างไรก็รู้หมด บางท่านเป็นคนที่มีขวัญอ่อน จิตใจไม่เข้มแข็ง ก็นึกว่าวิญญาณของเราออกไปแล้ว ภาษาบ้านเราภาคอีสานว่า ขวัญดิบออกแล้ว ทำให้เกิดจิตใจห่อเหี่ยวแห้งแล้ว หมดสมรรถภาพไม่เข้มแข็ง กลัวว่าจะตายอะไรทำนองนี้ ผลสุดท้ายก็ไม่กล้าที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไป ถ้าเป็นชาวบ้านบางทีก็ต้องหาหมอสู่ขวัญ มาเรียกขวัญ เชิญขวัญกัน บางคนจิตใจไม่เข้มแข็งถึงตายไปก็มี แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เป็นจิตใจของเรานี้แหละ ออกมาหลอกมาล้อเลียนเรา
นิมิตที่เรียกว่าภาพล้อนี้จะหายไปได้ ก็โดยที่เราตั้งอกตั้งใจกำหนดให้ทันปัจจุบันรูปนาม ไม่เอาใจใส่แล้วในที่สุดก็จะหายไปเอง คือเราเอาสติมาตั้งไว้ที่ตา กำหนดว่าเห็นหนอๆ หรือรู้หนอๆ เท่านั้น นิมิตนั้นก็จะหายไป ถ้ากำหนดแล้วภาพหายไปช้าๆ กำหนด ๓-๔ ครั้งก็ยังไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญาของเรายังหย่อน พยายามลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มอีก ๕ นาที ๑๐ หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อ สมาธิและญาณจะดีขึ้น ถ้ากำหนดเพียง ๑-๒ คำเท่านั้นก็หายไปแสดงว่าสมาธิของเราดีแล้ว พยายามนั่งต่อไป สมาธิ ญาณ ปัญญา จะได้ดียิ่งขึ้น
๒. ภาพล่อ นิมิตที่เรียกว่าภาพล่อนั้น ได้แก่นิมิตที่ปรากฏการณ์ด้วยความประณีตของจิต จึงสร้างนิมิตอันสวยงาม ให้หลงติดหลงดูด้วยความชอบใจในนิมิตนั้น เช่นบางครั้งนั่งไปจนเห็นดอกไม้ที่มีสีสัณฐานสวยสดงดงามบ้างบางครั้งเห็นพระเจดีย์ที่หุ้มด้วยทองคำอร่ามเรืองบ้าง บางครั้งเห็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองคำอร่ามเรืองบ้าง บางทีก็เห็นสวนดอกไม้มีสีสวยสดงดงามเป็นที่รื่นรมย์ ทำให้จิตใจสบายบ้าง บางครั้งนั่งไปเห็นเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นวิมานของเทวดาบ้าง ล้วนแต่ทำให้เกิดความสุขขึ้นอย่างแปลกประหลาด ล่อให้ติดให้หลงใหลอยู่
ท่านนักปฏิบัติธรรมท่านใด มาติดอยู่กับนิมิตนี้แล้ว วิปัสสนาญาณจะเจริญขึ้นไม่ได้เลย เมื่อวิปัสสนาไม่บังเกิดขึ้นแล้ว ตนก็จะต้องหลงติดอยู่กับนิมิตนั้น ให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด
นิมิตที่เรียกว่าภาพล่อนี้ จะหายไปได้ด้วยการกำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบัน โดยไม่เอาใจใส่กับนิมิตนั้น ผลสุดท้ายนิมิตนั้นก็จะหายไปเอง
๓. ภาพหลอก นิมิตที่เรียกว่าภาพหลอกนั้น ได้แก่นิมิตที่ทำให้เกิดความตกใจกลัว เช่นบางครั้งนั่งไป เห็นเป็นสัตว์ร้ายต่างๆ เป็นงูจะเข้ามากัดบ้าง เป็นสุนัขมากัดบ้าง เห็นเสือเห็นช้างจะมาทำร้ายบ้าง เหมือนจะมีคนมายิงมาแทงบ้าง บางครั้งปรากฏเห็นซากศพเป็นต้นบ้าง ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดความสะดุ้งหวาดกลัวและตกใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จิตใจก็จะพรากออกจากสมาธิ ทำให้วิปัสสนาหยุดชะงักลงไป ท่านทั้งหลายพึงสังวรพึงระวัง ในเวลามาประพฤติปฏิบัติ ถ้านิมิตอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้ว ส่วนมากมีแต่ทำให้ตกใจกลัว ไม่กล้าปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไป บางทีก็ปรากฏเห็นภูตผีปีศาจ เห็นพวกเปรตสูงเท่ายอดมะพร้าวยอดตาลก็มี วิธีไหนที่เราจะเกิดความสะดุ้งตกใจ และเกิดความกลัว จิตของเราก็จะสร้างขึ้นมาเอง บางทีเราค้นคว้าอยู่เป็นเดือนๆ ก็ยังไม่รู้ความจริงว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านทั้งหลายพึงระวังให้มาก สิ่งอื่นมาหลอกนั้นไม่เท่าไร จิตของเราออกมาหลอกนี้มันสำคัญที่สุด คือจิตหนึ่งหลอกจิตหนึ่งก็เกิดความกลัวขึ้นมา
นิมิตที่เรียกว่าภาพหลอกนี้จะหายไปได้ ด้วยการใช้สติปัญญากำหนดอารมณ์รูปนามให้ทันปัจจุบันธรรม โดยที่ไม่เอาใจใส่ในนิมิตนั้นแล้ว ผลสุดท้ายภาพหลอกนี้ก็จะอันตรธานหายไปเอง
๔. ภาพลวง นิมิตที่เรียกว่าภาพลวงนั้น จะเรียกว่าปฏิภาคนิมิตก็ได้ คือเรานึกถึงดวงจันทร์ ก็จะปรากฏเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้นจะนึกให้ใหญ่ ดวงจันทร์ก็ใหญ่ขึ้นตามใจนึก นึกให้มีขนาดเล็ก ก็เล็กลงตามใจนึกเป็นต้น หรือนึกถึงนรกก็จะเห็นนรก นึกถึงสวรรค์วิมานก็จะเห็นสวรรค์วิมานตามใจนึก นึกถึงพวกเทวดาพวกพรหม ก็เห็นพวกเทวดาพวกพรหมตามใจนึก นึกถึงพระอรหันต์ ก็จะเห็นพระอรหันต์ตามใจนึก นึกถึงพระพุทธเจ้าก็จะเห็นพระพุทธเจ้าตามใจนึกทำให้เข้าใจผิดหลงไปว่า พระอรหันต์ละจากอัตภาพนี้ปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีรูปมีร่างอยู่ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีรูปมีนามอยู่ พระนิพพานก็เป็นเมืองเหมือนเมืองกรุงเทพฯ เมืองอเมริกา มีพระพุทธเจ้า มีพระอรหันต์เต็มไปหมด หรือบางทีเรานึกถึงแสนโกฏิจักรวาฬ ก็เห็นไปทั้งแสนโกฏิจักรวาฬตามใจนึก อย่างนี้เรียกว่าภาพลวง เพราะเป็นนิมิต ไม่ใช่สภาวธรรมที่แท้จริง คือเป็นของลวง เราเข้าใจผิดต่างหาก นักปฏิบัติธรรมส่วนมากจะมาติดอยู่ที่ตรงนี้เช่นพระรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติอยู่ที่สำนักของเรานี้ เวลาภาพเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านก็บอกว่าได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุคุณพิเศษ บรรลุอภิญญาแล้ว ใช้เวลาแนะนำให้เป็นชั่วโมงก็ไม่เอา เพราะทิฏฐิมานะความเห็นผิด ความถือตัวเกิดขึ้นมาพร้อม แนะนำอย่างไรท่านไม่เอา ผลสุดท้ายก็หาว่าครูบาอาจารย์
สู้เขาไม่ได้ เมื่อไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เราก็ปล่อยตามยถากรรม ในที่สุดไปที่นั้นทีนี้ ใครๆ เขาก็หาว่าเป็นบ้า ไปที่ไหนๆ เขาก็ไม่ให้อยู่ ตกลงแผ่นดินทั้งแผ่นในประเทศไทยก็คับแคบไปหมด ไม่มีที่จะอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี อย่าไปหลงไหลในนิมิตดังกล่าวมา
นิมิตที่เรียกว่าภาพลวงนี้ จะหายไปได้ก็ต่อเมื่อพยายามกำหนดรู้รูปนามให้ทันปัจจุบัน โดยที่ไม่เอาใจใส่ในภาพลวงนั้นอีกต่อไป ภาพนั้นก็จะหายไปเอง
๕. ภาพล้าง นิมิตที่เรียกว่าภาพล้างนั้น เป็นด้วยเหตุภายนอกที่มาทำลายล้างผลาญไม่ให้ได้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น หรือเจริญขึ้นไม่ได้และภาพล้างนี้ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. เกิดจากพวกเปรตมาขอส่วนบุญ คือพวกเปรตทั้งหลายที่เรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต จะมาขอส่วนบุญ เห็นว่าพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี มาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล หรือว่าพวกญาติๆ มาบวช มาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลอย่างนี้ ก็มาแสดงตัวขอส่วนบุญ พวกนี้เมื่อก่อนที่วัดของเรามีมากเต็มไปหมด ภาพนั้นมาปรากฏบ้าง ภาพนี้มาปรากฏบ้าง พอดีพระสงฆ์มาเจริญพระกรรมฐาน พากันแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ก็หายไปทีละเล็กละน้อย จนทุกวันนี้เกือบจะไม่มีมาปรากฏแล้ว มีปีหนึ่งจำไม่ได้ว่า พ.ศ. เท่าไร ปีนั้นครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่มาปฏิบัติเสียเป็นส่วนมาก มีเจ้าคณะตำบล มีพระครูชั้นตรีชั้นโทมาประพฤติปฏิบัติ แต่ท่านก็เป็นผู้ใหญ่มีอาวุโสเหนือกว่าเรา ท่านเป็นถึงขั้นหลวงพ่อ เวลาอธิบายธรรมะอะไรๆ ส่วนมาก ท่านจะไม่ยอมรับ ไม่ยอมฟัง คือไม่ตกลงปลงใจเชื่อ นั่งฟังไปตามธรรมดา เพราะท่านถือว่าท่านเป็นขั้นหลวงพ่อของเราท่านเข้าใจว่าเราเป็นเด็กเป็นเล็กอยู่ อะไรๆ ก็คงสู้ท่านไม่ได้ เราอธิบายธรรมะก็ไม่คล้อยตามไม่ปฏิบัติตามเวลาบอกว่า ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เวลานั่งสมาธิออกแล้วจะเป็นตอนเช้าก็ดี ตอนเย็นก็ดี ตอนกลางคืนก็ดี ก็ขอให้แผ่เมตตาเจริญเมตตา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่
สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย ท่านก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม วันหนึ่งพวกอมนุษย์เหล่านี้พากันไปฟ้องว่า หลวงพ่อๆ ครูบาอาจารย์ชุดนี้ขาดเมตตาธรรม ก็สงสัยทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พอมาสอบอารมณ์ก็เลยถามท่านดูว่า ท่านอาจารย์ เวลานั่งกรรมฐานแล้ว ได้แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไหม ท่านก็ตอบว่า บางครั้งนั่งไม่ได้ดี ก็ไม่แผ่เมตตา ถ้านั่งได้ดีจึงแผ่เมตตา นี้แหละมันเป็นผลสะท้อนกลับอย่างนี้ พวกเปรตนี้มาปรากฏเราจะสังเกตเห็นง่ายๆ ถ้าอดอาหารไม่มีอาหาร ไม่ได้รับอาหาร เรามองดูร่างกายก็ซูบผอม อดโซ เราก็รู้ทันทีว่า พวกนี้ไม่ได้บริโภคอาหาร บางตัวนั้นมองดูไม่มีเครื่องนุ่งห่ม เราก็รู้ว่าญาติไม่ได้ทำบุญทำกุศล ไม่เคยเอาผ้ามาถวายพระ ไม่เคยอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ เราก็ตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ผลสุดท้ายก็หายไปเอง
๒. เกิดจากเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระศาสนาเห็นพระสงฆ์สามเณรปะขาวแม่ชี ท่านผู้มีศรัทธาปสาทะมาบำเพ็ญธรรมะ ก็หาวิธีขัดขวางหรือกีดกันให้การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ดำเนินไปไม่ได้ ขัดขวางกั้นกลางไม่ให้สมาธิ สมาบัติ ไม่ให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น พวกนี้รุนแรง ในครั้งพุทธกาลก็มี ดังมีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทขุททกนิกายว่า
มีภิกษุจำนวน ๖๐ รูป เรียนพระกรรมฐานเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้วก็พากันออกไปสู่ป่าเพื่อเจริญสมณธรรรม บังเอิญป่าที่ภิกษุเหล่านั้นจะไป เป็นที่อาศัยอยู่ของบรรดารุกขเทวดา คือเทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ เมื่อพวกเทวดาเห็นภิกษุไปสู่ราวป่า ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกตน ก็พากันลงมาจากต้นไม้สู่เบื้องล่าง เพราะว่าพระภิกษุนี้เป็นพุทธบุตร บุตรของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม เทวดาจะอยู่เหนือพระไม่ได้ ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า แม้เทวดาก็ต้องกราบต้องไหว้พระ พวกพรหมก็ต้องกราบต้องไหว้พระ คือพระเรานี้ยังเหนือกว่าเทวดา กว่าพรหมอยู่ เทวดาทั้งหลายก็ลงจากต้นไม้มาเบื้องล่าง คิดว่า เราอาศัยที่ภาคพื้นดินไปพลางๆ ก่อน อีก ๔-๕ วัน ภิกษุทั้งหลายนี้คงจะหลีกไป จึงค่อยขึ้นไป แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ภิกษุเหล่านั้นตั้งใจจะจำพรรษาเจริญสมณธรรมที่นั่น และในขณะที่อยู่นั้น ภิกษุทั้งหลายก็ขาดเมตตาธรรมไม่ได้แผ่เมตตาให้เทพบุตร เทพธิดา และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพวกนั้นไม่ได้รับเมตตาธรรมก็เกิดความไม่พอใจ แสดงอาการต่างๆ บางทีก็ทำให้มีเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว หนังหัวพองสยองเกล้า ขนลุกชูชัน จะทำกรรมฐานก็ไม่เป็นอันทำ สมาธิไม่เกิด บางทีนั่งไปก็ทำให้เกิดมีกลิ่นเหม็นไปทั่ว เหมือนกันกับมีซากศพ เหมือนกับมีคนมาตายอยู่ที่นั้น บางทีเดินจงกรมหรือไปบิณฑบาต ก็เห็นคนหัวขาดบ้าง เห็นคนตายบ้างนานัปการ เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายแสดงอาการเพื่อเป็นการทรมานพระภิกษุเหล่านั้นให้ได้รับความเดือนร้อน ตลอดไตรมาสพรรษาสามเดือนนี้ ไม่เป็นอันเจริญสมณธรรม ไม่สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ พอออกพรรษาแล้วก็พากันไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้มีปฏิสันถารตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรม บรรลุถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือยัง พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะเจริญสมณธรรมได้ แล้วนำเรื่องทั้งหลายกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไปอยู่ที่เดิม ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็ทูลว่า ไม่สามารถที่จะไปอยู่ได้อีก พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงกลับไปอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เพราะว่าเมื่อก่อนนั้น เธอไม่ได้นำพุทธาวุธไป จึงได้ถูกเบียดเบียนจากเทวดาเหล่านั้น แต่นี้เธอจงเรียนพุทธาวุธแล้วไปอยู่ที่นั้นเถิด ภิกษุเหล่านั้นก็เรียนเอาพุทธาวุธจนจบแล้วกลับไปป่านั้นอีก พอไปถึงชายป่า ก็พากันเจริญกรณียเมตตสูตรอันเป็นพุทธาวุธที่พระองค์ประทานมา
หลังจากนั้นก็พากันเจริญทุกเช้าทุกค่ำทุกวันๆ เหมือนที่พวกเราได้พากันสวดอยู่ทุกวันนี้เป็นประจำเป็นการสวดเพื่อเราด้วย เพื่อญาติเราด้วย เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย เมื่อท่านพากันสวดอย่างนี้ บรรดาเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายที่ได้รับเมตตาธรรม ก็มีความอบอุ่นใจเยือกเย็นใจ มีความดีใจ พากันอุปถัมภ์บำรุงภิกษุทั้งหลายไม่ให้เกิดความเดือนร้อน มิหนำซ้ำ เทวดาเหล่านั้นยังช่วยไล่พวกนกพวกกา พวกสัตว์ทั้งหลายที่ร้องเสียงดัง ที่ทำให้เสียงนั้นมารบกวนการประพฤติปฏิบัติธรรมของภิกษุ ครานั้นสถานที่นั้นได้เป็นที่สงบเงียบ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สมความประสงค์ด้วยกันทั้ง ๖๐ รูป นี้เป็นเรื่องที่มีในสมัยพุทธกาล แต่เทวดามิจฉาทิฏฐินี้ใช่ว่าจะมีในครั้งพุทธกาลเท่านั้น แม้ในปัจจุบันก็มี ที่หลวงพ่อได้ประสบการณ์ก็มีมาก แต่จะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้
ทีนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อเทวดามิจฉาทิฏฐิไม่เลื่อมใสในพระศาสนามาทรมานเราให้ได้รับความลำบาก เพื่อที่จะทำลายล้างวิปัสสนาของเราไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้เจริญขึ้น และเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล มีหนทางเดียวเท่านั้น ท่านทั้งหลาย คือเรากำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบันโดยที่ไม่เอาใจใส่ ผลสุดท้ายพวกเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ก็จะหลีกไปเอง หรือเราแผ่ส่วนบุญกุศลให้ อุทิศส่วนบุญกุศลให้ก็จะหลีกไปเอง การแผ่ส่วนกุศลให้นี้ บางทีพวกเทวดามิจฉาทิฏฐิก็ไม่ยอมรับไม่ดีใจ เราก็อย่าไปเอาใจใส่อย่าไปสนใจเลย เรามาสนใจเฉพาะรูปนามคืออาการพองอาการยุบที่เรากำหนดอยู่นี้กำหนดให้ทันปัจจุบัน ผลสุดท้ายทำอะไรเราไม่ได้ก็จะหายไปเอง
ท่านทั้งหลายภัยใหญ่ของวิปัสสนานี้ มีมากมายหลายสิ่งหลายประการ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอยู่ผู้เดียว ส่วนมากไปไม่ได้ต้องอาศัยครูบาอาจารย์คอยประคับประคอง เช่นอย่างภาพทั้ง ๕ ประการนี้ ถ้าว่าผู้ใดเกิดขึ้นแล้ว หากไม่มีครูบาอาจารย์ช่วยประคับประคองชี้แนะหนทางให้ ก็จะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นดวงธรรม หรือได้บรรลุมรรคผล พระนิพพานแล้ว หรือบางท่านเกิดขึ้นมาแล้วก็เกิดความสะดุ้งตกใจ เกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปอีก สุดท้ายการปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
สรุปอันตรายทั้ง ๕ ประการที่กล่าวมานี้คือ ภาพล้อ ภาพล่อ ภาพหลอก ภาพลวง ภาพล้าง ก็ล้วนแต่จิตของเรานี้เป็นผู้สร้างขึ้นมาขออย่าไปสำคัญว่าเป็นดวงธรรม อย่าไปสำคัญว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว…

พระไตรลักษณ์ประหาณอนุสัย


พระไตรลักษณ์ประหาณอนุสัย

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามปกติของในโลกนี้ ย่อมมีของคู่กันคือ มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีเย็นก็ต้องมีร้อน มีชั่วก็ต้องมีดีควบคู่กันไป ในทางธรรมะก็เหมือนกัน มีบาปก็ต้องมีบุญ มีกิเลสก็ต้องมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องทำลาย ตามธรรมดานิยมของโลก เป็นมาอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร เหตุนั้นแม้ว่าขันธสันดานของเรานี้ ท่านจะบ่งไว้ว่า มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดครอบงำอยู่ หรือเป็นนายเหนือหัวของจิตของใจเราอยู่ก็จริง แต่กิเลสนั้นจะมีมากมายสักปานใดก็ตาม ก็มีธรรมะเป็นเครื่องทำลายให้หมดไปได้เหมือนกัน เราทั้งหลายลองนึกย้อนหลังดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายว่า เมื่อก่อนนั้น ท่านก็มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเหมือนกับพวกเรา แต่ก็ได้อาศัยธรรมะซึ่งเป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับกิเลส ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายและยังได้ทรงมีพระกรุณาสั่งสอนธรรมะนั้นให้เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายทั้งมนุษย์เทวดามารพรหมได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม ต่างก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์บ้าง ไปตามๆ กัน
ธรรมดาในขันธสันดานของเรานี้ หรือในจิตใจของเรานี้ ส่วนลึกนั้นมีอนุสัยกิเลสเป็นเครื่องนอนดองอยู่ เหมือนขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม อันบุคคลจะทำลายได้โดยยากที่สุด เราจะให้ทานรักษาศีลเจริญสมาธิ ก็ไม่สามารถทำลายได้ ต้องเอาธรรมะที่เป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้าม ซึ่งมีพลานุภาพมาก มีกำลังมาก มาทำลาย จึงจะสามารถมาทำลายได้ เหตุนั้นวันนี้จึงจะได้นำเรื่องพระไตรลักษณ์มาบรรยาย เพราะว่าพระไตรลักษณ์นี้เป็นธรรมะที่มีอานุภาพมากมีกำลังมาก สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราทั้งหลายได้
อันธรรมดาว่าลายเสือย่อมอยู่กับตัวเสือ เห็นเสือก็เห็นลายฉันใด แม้ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อรู้ทันปัจจุบันจนเห็นรูปนามดับไปๆ ชัดด้วยปัญญา ก็ฉันนั้น ย่อมจะเห็นลักษณะของรูปนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระไตรลักษณ์ คือ
๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับไป
๒. ทุกขัง ทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป
๓. อนัตตา ไม่ใช่ตน บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป
ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้เป็นลวดลายของรูปนาม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขุดทำลายอนุสัย อันเป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดไป อุปมาเหมือนกันกับทำลายรัง หรือขุดรากของต้นหญ้าฉันนั้น เพราะเมื่อทำลายได้สิ้นเชิงเมื่อใดก็จะไม่เจริญขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ เข้าไปพิสูจน์รู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปนามขันธ์ ๕ แล้วเป็นปัจจัยทำลายต่อกันไป จนกว่าจะสิ้นอนุสัย อนุสัยนอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตได้อย่างไร ไตรลักษณ์ประหาณอนุสัยได้อย่างไร จะได้แสดงไปตามลำดับ แต่ก่อนอื่นขอแสดงถึงเรื่องวิถีของจิตเสียก่อน
วิถีจิตนั้นเป็นทางเดินของจิต เป็นที่หลั่งไหลของบุญและบาปเข้าสู่ภวังค์ บุญเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีจิตนี้ บาปเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีของจิตนี้เช่นเดียวกัน คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อารมณ์เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต จนลงสู่ห้วงภวังค์ตามวิถีของจิตดังนี้
เมื่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นรูปารมณ์ ที่เกิดขึ้นขณะตาเห็นรูปก็ดี สัททารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะหูได้ยินเสียงก็ดีเป็นต้น เกิดขึ้นมาสัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้น รับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น หนึ่งขณะจิตแล้วดับลง เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้สันตรีรณจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต พิจารณาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดโวฎฐัพพนจิต ตัดสินรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลง แล้วเป็นปัจจัยให้ชวนะจิตเกิดขึ้นมาเสพรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๗ ขณะคือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๗ ครั้ง เมื่อชวนะจิตดับลงครบ ๗ ขณะแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะจิต รับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ หลังจากนั้นภวังคจิตก็ทำหน้าที่รักษารูปารมณ์เป็นต้นนั้นไว้ในห้วงแห่งภวังค์ต่อไป
* (การเกิดขึ้นของวิถีจิตที่มี สัมปฎิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้นนี้ เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวาร ๕ คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และได้เฉพาะอารมณ์ ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เท่านั้น ส่วนในขณะที่มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจนั้น สัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือเมื่อธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ตัดสินรับเอาธรรมารมณ์นั้นทันที ๑ ขณะจิต แล้วดับลงเป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิตเสพธรรมารมณ์นั้น ๗ ขณะแล้วเป็นตทารัมมณะ เป็นภวังค์ต่อไป)
ในลักษณะเดียวกัน อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้น ก็เกิดขึ้นมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตตามลำดับๆ จนถึงตทารัมมณะ เก็บลงสู่ภวังค์จนเป็นสันดาน เรียกว่าอนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ คือ ราคานุสัย ๑ ปฏิฆานุสัย ๑ ทิฎฐานุสัย ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑ มานานุสัย ๑ ภวราคานุสัย ๑ อวิชชานุสัย ๑ ทั้ง ๗ ประการนี้ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ เช่นว่า ราคะความกำหนัดเกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส อันเป็นอิฎฐารมณ์ อารมณ์น่าใคร่น่าพอใจน่าชอบใจ เกิดราคะขึ้นมา ก็เป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉนจิตเกิดขึ้นมารับเอาอารมณ์อันประกอบไปด้วยราคะนั้น หนึ่งขณะจิตแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิต เกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นหนึ่งขณะแล้วดับไป เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิตขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นติดต่อกันไป ๗ ขณะ แล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตขึ้น ๒ ขณะ เก็บอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นลงสู่ภวังค์ เมื่อตทารัมมณจิตดับลงภวังคจิตก็เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นไว้ภายในจิตต่อไป ราคะนั้นก็ได้ชื่อว่า ราคานุสัย
ที่นี้หากว่าโทสะก็ดี ทิฏฐิความเห็นผิดก็ดี วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยก็ดี มานะความถือตัวก็ดี ภวราคะความยินดีในภพก็ดีและอวิชชาความเขลา ก็ดี เกิดขึ้นเพราะประสบอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างไรอย่างหนึ่งก็ตาม สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยคือโทสะ ทิฎฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชานั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลงไป แล้วก็เป็นปัจจัย ให้เกิดสันตีรณจิตขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้นหนึ่งขณะจิตก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิตเสพอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตขึ้น ๒ ขณะจิตเก็บเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ อันมีโทสะเป็นต้น ลงสู่ภวังค์ ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นรักษาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้น ไว้ภายในห้วงภวังค์ เป็นปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย นอนดองอยู่ในขันธสันดานตลอดไป อุปมาเหมือนกันกับเราถ่ายรูป พอเราเปิดหน้ากล้องแล้วกดชัตเตอร์เท่านั้น รูปก็เข้าไปติดอยู่ที่ฟิล์มนั้นตลอดไป อนุสัยนั้นก็เช่นนั้น ก็จะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดไป
อนุสัยกิเลสที่นอนดองในขันธสันดานนี้ เราจะให้ทานจนหมดทรัพย์สินที่เรามีอยู่ก็ดี จะไหว้พระทำวัตรสวดมนต์รักษาศีลได้ดีจนกระทั่งวันตายก็ดี เราจะเจริญสมถกรรมฐานจนได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยนั้นได้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรมแล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยภาวนาญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา สัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วย อนิจจังทุกขังอนัตตานั้นหนึ่งขณะจิตก็ดับลง เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หนึ่งขณะจิตก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิต (กุศลญาณสัมปยุตตจิต) เสพอารมณ์ที่ประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้น ๗ ขณะจิตอุปมาเหมือนกับเราได้ธนบัตรใบละ ๕๐๐ มาใบหนึ่ง แล้วก็มาพลิกดูด้านหน้าด้านหลังว่าใช้ได้หรือเปล่าหนอ พลิกกลับไปกลับมา ๗ ครั้งเห็นว่าธนบัตรนี้ใช้ได้ตามกฎหมายแล้วก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อชวนะจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ๗ ขณะแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตขึ้น ๒ ขณะรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้นลงสู่ภวังค์แล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์นั้น เป็นองค์สำคัญอยู่ภายในจิตในใจต่อไป
อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกาลใด ในกาลนั้นชวนะจิตทั้ง ๗ ขณะก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และในขณะที่เสพพระไตรลักษณ์อยู่นั้น ก็จะตัดอนุสัยทั้ง ๗ ประการ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา ไม่ให้เข้ามาเป็นตัวอนุสัย และไม่ให้เกิดขึ้นเป็นตัวอนุสัยอีกต่อไป เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์มากเท่าไรๆ อนุสัยก็จะเบาบางน้อยลงไปเท่านั้นๆ จนดับสิ้นเชื้อสิ้นยาง ไม่มีเหลือค้างอยู่ในจิตสันดาน อุปมาเหมือนกับน้ำหมึกที่เราเขียนเป็นตัวอักษรลงในแผ่นกระดาษ จะเป็นหมึกสีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม สีน้ำเงินก็ตาม เรามีโอกาสที่จะลบมันได้โดยที่ใช้กรดลบหมึก เมื่อเราเอากรดลบหมึกมาหยดใส่ ถ้ากรดลบหมึกนั้นมีความเข้มข้นเพียงพอ พอเราหยดลงไปสีดำสีแดงสีน้ำเงินเหล่านั้น ก็จางหายไปเลยไม่มีอยู่ในแผ่นกระดาษ แต่ถ้าว่ากรดลบหมึกนั้นไม่เข้มข้น เมื่อเราหยดลงไป ก็จะยังเป็นคราบสีดำสีแดงสีน้ำเงินให้เห็นอยู่ ข้อนี้ฉันใด เรื่องอนุสัยกิเลสกับพระไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากว่าอำนาจของพระไตรลักษณ์นั้นมีกำลังอ่อน เมื่อมีกำลังอ่อนเช่นนั้นแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต เมื่อลงถึงภวังคจิต ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยได้เด็ดขาด เหมือนกรดลบหมึกที่ไม่เข้มข้น ไม่สามารถที่จะลบหมึกได้เด็ดขาด แต่ถ้าขณะใดพระไตรลักษณ์มีอำนาจเต็มที่ หมายถึงในขณะที่พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นนั้น สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ถูกอะไรครอบงำเลย เป็นสติที่มีกำลังมีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังแก่กล้าพระไตรลักษณ์ก็มีกำลังแก่กล้า มีอานุภาพ เมื่อพระไตรลักษณ์ที่มีอานุภาพปวัตติไปตามวิถีของจิตลงสู่ภวังค์ อนุสัยกิเลสก็จะหมดไปไม่มีเหลือ ทำลายได้เด็ดขาดเหตุนั้น การเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานนี้ ครูบาอาจารย์จึงแนะแล้วแนะอีก พร่ำเตือนแล้วพร่ำเตือนอีกว่า ท่านทั้งหลายอย่าชะล่าใจต้องบำเพ็ญสติให้สมบูรณ์ จะยืนเดินนั่งนอน กินดื่มพูดคิดทำกิจใดๆ ก็ตาม จะสรงน้ำ ถ่ายหนักถ่ายเบา นุ่งสบงห่มจีวร ก็ขอให้มีสติ ให้กำหนดเสียก่อน ที่แนะนำพร่ำเตือนอย่างนี้ ต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายปลุกสติให้มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังมากมีอานุภาพมาก พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นก็มีอานุภาพมากมีกำลังมากเมื่อพระไตรลักษณ์มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ก็สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากจิตจากใจในพริบตาเดียวได้เมื่อเกิดขึ้น
เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ส่วนมากชะล่าใจ อยู่ในอำนาจของอนุสัยกิเลส ไม่อยากที่จะกำหนดบทพระกรรมฐานให้ติดต่อกัน และมัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มัวพูดจาปราศัยเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ผลสุดท้ายก็เลยเห็นการเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานเป็นของธรรมดา เมื่อเป็นดังนี้ เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้
อนึ่งการเจริญวิปัสสนาภาวนา ยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่งที่ถูกแก่อัธยาศัย อาสวะกิเลสที่ไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในขันธสันดานนั้น คือทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิก็ดี กามาสวะ อาสวะ คือกามก็ดี ภวาสวะ อาสวะคือภพก็ดี อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาก็ดี ก็จะถูกทำลายลงไปตามลำดับๆ และจะไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในใจอีกเหมือนกาลก่อนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะที่มีอยู่ก่อนก็จะบรรเทาเบาบางลงไปทีละน้อยด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ จนสิ้นไปเมื่อสิ้นอาสวะกิเลสขณะใด ก็จะบรรลุสันติลักษณะ คือลักษณะที่สงบจากทุกข์ทั้งปวงได้แก่ พระนิพพาน โดยอาศัยลำดับญาณทั้ง ๑๖ คือ เริ่มตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณไปตามลำดับๆ จนถึงอนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ และก็เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ เกิดครบสมบูรณ์ถึง ๔ ครั้งเมื่อใด ก็ได้ชื่อว่าอยู่จบพรหมจรรย์มีกิเลสสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติจบแล้วมีจิตดันเกษมจากโยคะธรรมล่วงส่วน โอกาสต่อไปหน้าที่ของเราก็เผยแผ่ศาสนา แนะนำลูกศิษย์ลูกหาญาติโยม ให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติอย่างที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติแล้ว

Thursday, July 18, 2013

นิวรณ์ ๕ ประการ


นิวรณ์ ๕ ประการ

ณ โอกาสบัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ธรรมะที่จะนำมาบรรยายในวันนี้ ได้แก่เรื่องนิวรณ์ ๕

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การทำงานทุกสิ่งทุกอย่างทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม ไม่สำเร็จตามความประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง หรือมีอันตรายเกิดขึ้นฉันใด การเจริญพระกรรมฐานของเราไม่สำเร็จสมประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรืออันตรายเข้ามาขัดขวางฉันนั้น ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้นำเอาเรื่องนิวรณ์ ๕ ประการ ซึ่งเป็นมหาภัยอันยิ่งใหญ่ในการขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราท่านทั้งหลาย ไม่ให้ดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล นิวรณ์ธรรมนี้เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือ สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา หมายความว่านิวรณ์ธรรมนี้เป็นธรรมที่กั้นความดีไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา หรือว่ากั้นจิตใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึงคุณงามความดี อุปมาเหมือนกันกับแผ่นกระดาษหรือพลาสติก หรือน้ำยากั้นกระแสไฟฟ้าไม่ให้ช็อตกันข้อนี้ฉันใด นิวรณ์นี้ก็เป็นบาปหรือกิเลสกั้นบุญไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา เช่นเวลาที่พวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกรรมฐาน ก็กั้นศีลกั้นสมาธิกั้นปัญญา กั้นพระไตรลักษณ์ กั้นอริยมรรคอริยผล กั้นพระนิพพานไว้ไม่ให้เกิดขึ้นแก่เราหรือว่ากั้นจิตกั้นใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญา พระไตรลักษณ์ อริยมรรค อริยผล นิพพาน นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ

๑. กามฉันทะนิวรณ์ ได้แก่ความรักใคร่พอใจในอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนา เช่น พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าชอบใจ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในความสุขในความสบายในความเฉย หรือพอใจในความคิดของตัวเอง พอใจในการทำงาน พอใจในการพูดการคุยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ พอใจในการเล่น ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติพระกรรมฐาน เช่นเรานั่งไป เห็นแม่น้ำ ภูเขาเห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นพรหม เห็นพ่อแม่ซึ่งได้ล่วงลับจากเราไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้า เห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็มีความใคร่ความพอใจในนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่เรา ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในแสงสว่างที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติมีความใคร่ ความพอใจในปีติ ในปัส สัทธิ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในสติ ในญาณะคือความรู้ ในอุเบกขาความเฉย หรือมีราคะดำกฤษณากำหนัดกล้า เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมพินาศอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยถูกตัดรอน คือเอาสติไปกำหนดจิตที่ถูกกามฉันทะเข้าครอบงำ ก็จะเกิดความดิ้นรนเหมือนสุนัขบ้าที่เต็มไปด้วยความดุร้าย ทำให้จิตใจใฝ่ฝันหาแต่รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัสธรรมารมณ์ที่ดีๆ นึกถึงแต่รสกามคุณที่เคยสัมผัส จนเป็นเหตุทำอะไรนอกรีตนอกรอยของธรรมวินัย ขาดหิริ ความละอายใจตัวเอง ขาดโอตตัปปะความเกรงกลัว ต่อผลของบาป ขาดการยั้งคิด ขาดความเข้มแข็ง จิตใจอ่อนแอ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของราคะดำกฤษณา แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ ลงไปแล้วจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุด เพราะว่าผู้ที่ยินดีในกามคุณหรือบริโภคกามคุณก็อุปมาเหมือนกันกับสุนัขที่ แทะกระดูกซึ่งไม่มีเนื้อ ตนเองนึกว่าเอร็ดอร่อย แต่ที่ไหนได้ต้องกลืนกินนำ้ลายตัวเองข้อนี้ฉันใด ผู้บริโภคกามคุณ ซึ่งนึกว่ามีความเอร็ดอร่อยในรสอันเลอเลิศ ก็เหมือนกันฉันนั้น

๒. พยาปาทนิวรณ์ ความปองร้าย เช่นนึกถึงคนที่เคยล่วงเกินขึ้นมา ก็เกิดความโกรธ เกิดความแค้นใจ ผูกใจเจ็บ คิดจะแก้แค้นขึ้นมา ตลอดถึงไม่พอใจในผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่พอใจในการเดินจงกรมของเพื่อน ซึ่งบางท่านอาจเดินไปพูดไปคุยไป หรือบางครั้งก็ไม่พอใจในการพูดการจามการไอ การเข้าห้องน้ำ การสรงน้ำซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง รบกวน หรือไม่พอใจในการฉันอาหารของเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน หรือไม่พอใจในผู้เทศน์ผู้สอน ผู้สอบอารมณ์ ไม่พอใจในการบรรยายธรรมะ ตลอดถึงไม่พอใจในสถานที่อยู่ ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ อันเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี และไม่พอใจในความเจ็บปวด ความคิดที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง คือไม่ชอบใจไม่พอใจในสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทำให้ใจหงุดหงิดโกรธง่าย เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมอยู่เป็นนิจ ดุจดังว่าอาวุธที่เสียบแทงดวงใจอยู่ให้ปวดร้าวแสนสาหัสฉะนั้น

๓. ถีนมิทธะนิวรณ์ คือความหดหู่ท้อถอย กำหนดบทพระกรรมฐานไม่กระฉับกระเฉง หรือจิตจับอารมณ์ไม่มั่นทำให้เวลาเรานั่งกำหนดบทพระกรรมฐานก็ไม่ได้ดี ทำให้สติสัมปชัญญะหย่อน ผู้ถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำนี้ ไม่เพียงแต่จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิเท่านั้นที่กำหนดไม่ได้ดี แม้ว่าในขณะที่ฟังบรรยายธรรมะ หรือเทศน์หรือสอนก็ดีก็หลงๆ ลืมๆ จับต้นชนปลาย จับหลังใส่หน้า จับหน้าใส่หลัง ไม่รู้ว่าอะไรเริ่มต้นท่ามกลาง และสิ้นสุดคือฟังไม่รู้เรื่อง หรือว่าประกอบการงานอย่างอื่นเช่นว่า แม่ครัวทำครัวก็ทำไม่ได้ดี บางทีไฟไหม้หม้อข้าวก็มี บางทีลืมไปเอาอย่างโน้นมาประกอบอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็เสียไป สำหรับผู้ทำการงานบางอย่างเช่นขับรถ หากว่าถีนมิทธะเข้าครอบงำ บางครั้งทำให้หลับในได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดอันตรายขึ้นแก่ตนได้ทุกขณะ ถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอนนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมทำลายล้างสติไม่ให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันรูปนาม มันซึมอยู่เนืองๆ ดุจฝุ่นที่ฟุ้งขจรไปปิดกั้นทางสัญจร ไม่ให้คนเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่เห็นทางฉะนั้น

๔. อุทธัจจกุกกุจจะนิวรณ์ ความร้อนใจเมื่อนึกถึงบาปกรรมอันตนเคยทำมาแล้ว ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้วมิใช่ว่าจะทำแต่คุณงามความดีอย่างเดียว คิดดีทำดีพูดดีอย่างเดียวหามิได้ ทุกรูปทุกนามเกิดขึ้นมาแล้ว บางครั้งก็อาจทำชั่วพูดชั่วคิดชั่วด้วยกันทั้งนั้น เหตุนั้นการทำดีพูดดีคิดดีก็ตาม การคิดชั่วทำชั่วพูดชั่วก็ตาม เวลามาเจริญพระกรรมฐานนี้ จะเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา โดยเฉพาะนึกถึงบาปกรรมที่ตนเคยทำมาแล้ว และบุญไม่ได้ทำหรือทำเพียงเล็กน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความร้อนใจเพราะนึกถึงแต่บาปกรรมที่ตน เคยทำไว้และเป็นเหตุให้เกิดคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งเรื่องในอดีต ทั้งเรื่องในอนาคต วุ่นวายทับถมจิตใจทำให้เหินห่างต่อการที่จะกำหนดรู้ในปัจจุบันธรรม ดุจดังในวสันตฤดู หมู่เมฆจากทิศานุทิศปิดบังสุริยแสงให้มืดครึ้ม อีกฝนฟ้าก็คนอง เป็นอุปสรรคต่อบุรุษผู้ต้องการเดินทางฉะนั้น เมื่อใดอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำจิตใจของเราอยู่ เมื่อนั้นแม้ว่าเราจะฟังธรรม สาธยายธรรมหรือว่าเราจะปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็ไม่สามารถบรรลุสามัญญผลตามที่ต้องการได้ ตัวอย่างเรื่องของนายตัมพทาฐิกะ ซึ่งท่านกล่าวไว้ในธรรมบทภาค ๔ มีเรื่องเล่าว่า (เรื่องนายตัมพทาฐิกะนี้ มีอยู่ในเรื่องการประหาณกิเลส ๑๐ ประการแล้ว จึงจะไม่นำมาลงไว้ในที่นี้อีก ให้ดูเอาในเรื่องการประหาณกิเลส ๑๐ นั้น)

….นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราลองนึกดูซิว่าฆ่าคนตั้ง ๒ พันกว่าคน แทนที่ตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ แต่นี่นายตัมพทาฐิกะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพียงแต่เป็นมรรคครั้งแรกเท่านั้น ก็ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายไปแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่ได้เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในวันข้างหน้า ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายหนทางที่เราจะปฏิบัติไม่ให้บาปกรรมทั้งหลายที่ เราทำไว้ติดตามทัน มีหนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งนี้ นับว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดินแล้ว ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในที่ทุกสถานใน กาลทุกเมื่อ สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้จิตใจของเราเกิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ เกิดซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นานาประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมได้ เมื่อใดเราข่มอุทธัจจกุกกุจจะลงได้ จิตใจของเราเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความสงบสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกับนายตัมพทาฐิกะ

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัย เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงไหม ใครไปเห็นมา นรกสวรรค์มีจริงไหม ไม่เห็นว่าจะน่าเชื่อที่ตรงไหน คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิดจริงไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ บาปบุญนรกสวรรค์พระนิพพานมีจริงไหม การบวชได้บุญจริงหรือ เราสึกดีกว่า เพราะเราไม่ได้บวชเอาบุญ เราบวชตามประเพณีต่างหาก ตลอดทั้งสงสัยในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ นั่งกำหนดไปเห็นนิมิตเกิดขึ้นมา เช่นเห็นแม่น้ำ เห็นป่าไม้ภูเขาลำธารสถานที่ เห็นพระพุทธรูปเห็นเจดีย์เป็นต้น ก็เกิดความสงสัยเอะใจขึ้นว่านี่อะไรกัน ก็เป็นตัววิจิกิจฉาความสงสัยแล้ว เมื่อเอะใจขึ้นมาสมาธิของเราก็ตก เมื่อสมาธิตก การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นตัววิจิกิจฉานี้ จึงเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเจริญขึ้นได้ มีความกังขาสงสัยอยู่ในใจเสมอว่า รูปนามเป็นอย่างไรหนอ สมาธิ สมาบัติมรรคผลนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ดุจบุรุษผู้เดินไปถึงทาง ๒ แพร่ง ทั้งไม่ทราบว่าจะไปตรงไหนจึงจะถูกต้อง ได้แต่นั่งรำพึงอยู่ว่า ทางไหนหนอๆ สิ้นกาลนานฉะนั้น


นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการที่กล่าวมานี้แหละ เป็นสิ่งที่กั้นกระแสจิตของเรา ไม่ให้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา ดังนั้นนิวรณ์นี้จึงเป็นภัยใหญ่อันสำคัญ ที่ขัดขวางหรือกั้นกลางไม่ให้บรรลุปฏิเวธธรรม เมื่อนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายรีบกำหนดทันที เมื่อใดเรากำหนดได้ นิวรณ์ ๕ นี้สงบลง เราก็สามารถที่จะได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสม อบรมมา……

ที่มาของบทความ....
http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=206:2009-12-18-20-10-31&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131

กิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ

กิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ

สำหรับวันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่องกิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อประกอบการปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะของพวกเราทั้งหลาย ก็เพื่อดำเนินไปสู่ปฏิปทาความพ้นทุกข์ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่บางครั้งกิเลสได้โอกาส เพราะเราขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ กิเลสอาจเข้าแทรกในจิตของเรา ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราหวนระลึกกลับหลัง หรือถอยหลังเข้าคลองได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมะก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นจึงจะได้นำเอาเรื่องกิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อจะได้สดับตรับฟังพอเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติ ปฏิบัติธรรม
กิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำนั้น มีดังนี้คือ

๑. โลภกิเลส คือเมื่อโลภะเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้สมหวัง ก็จะทำให้หมดอาลัยหมดหวังในการปฏิบัติ คิดว่าชาตินี้หรือปีนี้เราคงได้แค่นี้เท่านั้น คงหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว ทำไปก็คงไม่ได้อะไรอีก เลยทำให้เกิดความท้อแท้ เกียจคร้าน ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ ทำให้กลุ้มใจ เลิกการปฏิบัติ หรือมิฉะนั้นก็ลดเวลาปฏิบัติลง โดยคิดว่า หมดหนทางแล้วเรา เลยลืมพุทธพจน์ที่ได้ท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียรหรือที่ว่า ความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ความเพียรแม้เทวดาก็ไม่สามารถ
พยากรณ์ได้ พุทธพจน์ที่ดีๆ ที่เคยท่องได้จำได้จนขึ้นใจ ทำให้ลืมไปหมด เลยคิดแต่จะหวนกลับถอยหลัง อันนี้เป็นลักษณะของโลภะที่เกิดขึ้นมา

๒. โทสะ ตัวโทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติ ในเพื่อนปฏิบัติร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ที่อาศัย ในอาหาร ในครูบาอาจารย์เป็นต้น เลยให้คิดแส่ไปว่า ออกจากนี้ เราจะไปปฏิบัติที่โน้นที่นั้นดีกว่า คงจะดีกว่าที่นี้ ในที่นี้คงจะหมดแค่นี้เท่านั้น อะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของโทสะ

๓. โมหะ ตัวโมหะนี้ทำให้มืดมนอนธการ ทำให้มืดบอดเหมือนหมู่เมฆที่ปิดบังสุริยแสง ทำให้มืดครึ้มฉะนั้น ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาธรรมะ อันเป็นมรรคาที่จะนำไปสู่อริยมรรคอริยผลได้ ทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี กลับกันเหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเห็นรูปนาม เป็นนิจจังคือเที่ยง เห็นรูปนามเป็นสุขัง คือ เป็นสุข เห็นรูปนามเป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เห็นรูปนามเป็นสุภะคือเป็นของสวยของงาม ทำให้เกิดจิตวิปลาสคือคิดผิด ทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาสคือเห็นผิด ทำให้เกิดสัญญาวิปลาสคือจำผิด ทำให้เกิดญาณวิปลาสคือ รู้ผิดเป็นต้น

๔. มานะ ตัวมานะนี้ถ้าเกิดขึ้นก็จะทำให้เรา สำคัญตัวว่าอยู่ในฐานะนั้นฐานะนี้ ทำให้สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าดีกว่าเขา ก็ทำให้มีปมเขื่อง พองตัวตีค่าตัวว่า เราก็คนหนึ่งละ คนอื่นสู้เราไม่ได้ ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเสมอเขา ก็ทำให้ไม่สบายใจ เพราะมีคู่แข่ง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลวกว่าเขาก็จะทำให้เกิดโทมนัส เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ ผลก็คือทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล

๕. ทิฏฐิ ตัวทิฏฐิก็จะทำให้เราเข้าใจผิดจากกฎของธรรมชาติเห็นผิดต่อการปฏิบัติ เห็นผิดต่อผลของการปฏิบัติ เป็นคนเห็นผิดขาดเหตุผล ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี เหมือนกับข้าราชการตำรวจคนหนึ่งที่ลามาบวช เดินจงกรมนั่งสมาธิไป ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนเดินจงกรมถึงระยะ ๖ ตอนนั้นครูบาอาจารย์ก็อยู่ใกล้ชิด ก็ขอร้องว่า เดี๋ยวนี้ก็ใกล้จะหมดเวลาปฏิบัติแล้ว อีกไม่กี่วันก็จะเลิก ขอให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็ขอร้องเป็นพิเศษ พอดีคืนนั้นก็ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ พอปฏิบัติไปสภาวะเกิดขึ้นมา ทิฏฐิมันหายไป จนถึงกับร้องห่มร้องไห้ว่า ผมนี้เสียเวลามาตั้งนาน เข้าใจผิดมาตั้งนานคิดว่าผลการปฏิบัตินี้ไม่มี เมื่อก่อนโน้นหลวงพ่อไม่เตือนผมเลย ทั้งๆ ที่เราเตือนทุกวันนั่นแหละ แต่เขาไม่เอาใจใส่ ทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญที่ขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล เป็นตัวที่ทำให้กำลังใจตก การปฏิบัติถอยหลัง

๖. วิจิกิจฉา ตัววิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราเกิดความสงสัยในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้ามีใครไปรู้มา มรรคผลนิพพานมีจริงหรือ ถ้ามีใครบ้างได้บรรลุ บรรลุแล้วเป็นอย่างไร นรก เปรต อสุรกาย ภูตผีปีศาจ เทวดา มารพรหม มีจริงหรือ ถ้ามีใครไปเห็นมา โลกหน้ามีจริงหรือ ถ้ามีจริงไม่เห็นมีใครมาบอก คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิดไม่เห็นมีใครจำชาติได้ ระลึกชาติก่อนได้ อะไรทำนองนี้ เจ้าตัววิจิกิจฉานี้ มันทำให้เกิดความสงสัยไปหมด
๗. ถีนะ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่ทำให้ท้อแท้ใจ ทำให้ติดอยู่กับการหลับการนอน การเอนข้างเอนหลัง ทำให้ง่วงงุน ทำให้เคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาหาวนอน จะเดินจะนั่ง จะกำหนดอิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อยไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง ตกลงก็เลยถูกถีนะนี้ผลักหัวลง ปลงอธิษฐานว่า นิทราดีกว่าเรา ตอนเช้า เราตื่นขึ้นแต่ดึกๆ ก็แล้วกัน แต่เมื่อถึงคราวจะตื่นขึ้นทำความเพียรในตอนเช้า กลับบอกว่า เอาอีกหน่อยๆ อีกหน่อยค่อยลุกขึ้นไม่เป็นไร ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวให้การปฏิบัติถอยหลัง

๘. อุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้ เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตของเราฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีตอนาคต เมื่อก่อนยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกรรมฐาน เจ้ากิเลสตัวนี้ก็จะทำประจบประแจง อยากให้มาบวชอยากให้มาปฏิบัติ แต่พอเข้ามาปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติของเราจะพ้นจากอำนาจของมัน มันก็จะดั้นด้นเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้คิดบางทีเรื่องนี้คิดยังไม่จบ ก็เอาเรื่องใหม่มาให้เราคิดต่ออีกแล้ว บางทีหนักๆ เข้ามันก็ทำเหมือนเรามีใจ ๒ ดวง ดวงหนึ่งบริกรรมว่าพุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอเป็นต้น อีกดวงหนึ่ง ทำให้เราคิดเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง หรือดวงหนึ่งถามปัญหา อีกดวงหนึ่งวิสัชนาปัญหา หนักๆ เข้าจะกำหนดจิตว่าคิดหนอๆ มันก็กระซิบว่าไม่ต้องกำหนด ปล่อยให้มันคิดไปลองดูมันจะคิดไปถึงไหน ผลสุดท้ายชะล่าใจก็เลยปล่อยใจจิตใจนี้ฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของมัน เจ้าตัวอุทธัจจะนี้ร้ายกาจมาก มันทำให้เราไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติ ไม่ได้วิปัสสนาญาณ คือวิปัสสนาญาณไม่เกิด ก็เพราะไม่มีสมาธิเป็นเครื่องรองรับ มัวแต่คิดไปตามอำนาจของอุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้นอกจากจะทำให้เสียผลดังกล่าวมาแล้ว ยังทำให้เกิดโรคความดันสูง โรคเส้นประสาท โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจอ่อน โรคลมบ้าหมู เป็นต้น นอกจากนี้ ทำให้เกิดวิปลาส ทำให้เกิดประสาทหลอน บางทีก็ทำให้เห็นพระนิพพานอยู่ใกล้ๆ จะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ให้ได้ เลยเอามีดเชือดคอตัวเองตาย กินยาตาย แล้วจะไปนิพพานให้ได้ ผลก็คือเป็นบาปตกอเวจีมหานรก กล่าวได้ว่าที่ทำกรรมฐานไม่สำเร็จ ก็เพราะเจ้าตัวนี้เป็นตัวสำคัญเบอร์ ๑ เหตุนั้นขอให้ท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พึงสังวร พึงระวัง ก็ลองพิจารณาดูว่า เหมือนกับหลวงพ่อกล่าวมาหรือไม่เพราะตัวนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้คิดมาก เดินจงกรมอยู่ก็คิดนั่งอยู่ ก็คิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ เมื่อเรามัวแต่คิดๆ แล้ว จิตก็พรากจากสมาธิๆ ไม่มีสมาธิ เมื่อ
ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ

๙. และ ๑๐. อหิริกะ กับ อโนตตัปปะ สำหรับตัวอหิริกะกับอโนตตัปปะนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะทำให้จิตของเรา ไม่ละอายบาปไม่กลัวบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งๆ บางทีเราก็รู้อยู่ว่า ทำอย่างนี้พูดอย่างนี้คิดอย่างนี้มันผิด ไม่สมควรกับเพศภูมิหรือฐานะของเราผิดศีลผิดธรรม ผิดกฎหมายผิดกฎกติกา เป็นต้น แต่เจ้าอหิริกะหรืออโนตตัปปะนี้ มันก็จะมากระซิบว่า ไม่เป็นไรครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าผิดศีลเราก็ปลงอาบัติเอาก็ได้ หรืออยู่ปริวาสกรรมก็ได้ อะไรทำนองนี้มันกระซิบขึ้นมา ผลสุดท้ายก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัน อหิริกะ และอโนตตัปปะนี้ เมื่อเกิดขึ้นอย่างแรงกล้าแล้ว มันจะพาทำบาปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อย่างเบาถึงอย่างหนัก สามารถที่จะต้องอาบัติได้ ตั้งแต่อาบัติเบา จนถึงที่สุด

สรุปความว่าที่เราปฏิบัติพระกรรมฐาน ไม่ได้ดี ไม่ถึงดี หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เพราะกิเลสหรือเพื่อนชั่วทั้ง ๑๐ ประการนี้ ชักจูงจิตใจเรา ให้ตกไปในฝ่ายต่ำอยู่เสมอ ทำให้ขาดความตั้งใจที่ตั้งใจไว้เดิมทำให้ขาดทมะความข่มใจ ขาดขันติความอดทน ขาดฉันทะความพอใจ ขาดวิริยะความเพียร ขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาเป็นต้น เลยเสียทั้งทุน สูญทั้งกำไร กว่าจะรู้ตัวได้ เราก็ถูกมันทำลายเสียอย่างยับเยินแล้ว นั้นขอให้ท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้มีการสำเหนียกพิจารณาได้ตั้งใจใหม่ว่าขณะนี้เวลาก็ยังมีอีกมาก หลวงพ่อคิดว่า ยังไม่สายจนเกินแก้ หากว่าเรารู้ตัวว่าเราตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หรือว่าถูกกิเลส ทั้ง ๑๐ ตัวนี้ ชักพาหรือนำพาจิตใจของเราให้ตกไปในฝ่ายต่ำถ้าว่าเรารู้อย่างนี้ ได้สติอย่างนี้ ก็คิดว่ายังไม่สายเกินแก้ เพราะยังอีกหลายวันกว่าจะถึงวันมหาปวารณา หากว่าเราขะมักเขม้นตั้งใจทำคงจะมีทางผ่านการปฏิบัติไปได้ไม่มากก็น้อย หลวงพ่อคิดว่าเราควรจะคิดสู้กับมันบ้างเพราะขณะนี้ กองสนับสนุน กองเสบียงของเรา ก็ถวายการอุปการะอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจเมตตาธรรมของท่านครูบาอาจารย์และนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สายธารศรัทธาก็หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศมิได้ขาด ควรที่เราจะได้ปลื้มใจดีใจในสายธารศรัทธาและปลงธรรมสังเวชว่า ถึงอย่างไรๆ เราก็จะทำให้ ภัตตาหารที่มีผู้ถวายมานี้ เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอริยบุคคลให้จงได้ ขอให้เราคิดดังนี้ จิตใจของเราก็จะได้เกิดอุตสาหะพยายาม ในการประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไป ดังพระรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติในภาคฤดูหนาว ตอนนั้นเวลาปฏิบัติไป ญาติโยมทำวัตรเช้าวัตรเย็น ถึงบทสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร ก็ได้พรรณนาไปถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่น ควรเคารพนับถือ กราบไหว้สักการะ สัมมานะ ควรรับทักษิณาทานของผู้อื่น พระรูปนั้นก็พิจารณาว่า เรานี้บวชมาในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมะครั้งนี้ เราก็ยังไม่อยู่ในขั้นที่ว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีเต็มที่ ยังไม่สมควรที่คนทั้งหลายจะเคารพยกย่องสรรเสริญ การปฏิบัติของเรายังไม่ได้บรรลุสามัญญผลขั้นใดเลย ถ้าคิดให้ดีๆ เรายังไม่สมควรที่จะรับ
ภัตตาหารของเขา เมื่อคิดอย่างนี้แล้วก็ปลีกตัวออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว พยายามตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานไม่นานก็สามารถทำความประสงค์ของ ตนให้สำเร็จได้ เข้ามาหาหลวงพ่อว่า บัดนี้ผมดีใจภูมิใจในการประพฤติปฏิบัติแล้ว แกก็เล่าสภาวะที่ปฏิบัติมาทั้งหมดให้ฟัง

นี้แลท่านทั้งหลาย ความเพียรนี้แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ บางทีเทวดาพยากรณ์ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่เป็นไปตามนั้น ดังมีเรื่องของพระราชาที่ส่งราชบุรุษไปถามพระฤาษีว่าการรบกันครั้งนี้ใครจะ แพ้ใครจะชนะพระฤาษีก็พยากรณ์ว่าฝ่ายโน้นจะชนะ ฝ่ายพระราชานี้จะแพ้ ที่พยากรณ์อย่างนี้ก็เพราะว่ามีเทวดามาบอก ราชบุรุษนั้นก็นำความไปกราบทูลพระราชา เมื่อพระราชาทราบแล้วก็เกิดฮึดสู้ มันจะแพ้จริงก็ให้มันรู้ไป ปลุกระดมเหล่าทัพทั้งหลายให้ปรองดองสามัคคีกัน จะตายก็ขอให้ตายอย่างสมเกียรติ จะไม่ยอมทิ้งบ้านเมืองไปเป็นอันขาด ผลสุดท้ายพระราชาพร้อมทั้งบริวารก็ได้รับชัยชนะ อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าอย่าได้น้อยใจอย่าได้ท้อถอย หากท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในอิทธิบาทธรรม ๔ ประการ ดังที่เคยบรรยายให้ฟังว่า เราต้องมีฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติ มีวิริยะ แข็งใจในการปฏิบัติ มีจิตตะตั้งใจในการปฏิบัติ มีวิมังสาฉลาดในการปฏิบัติ เมื่อใดเราตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ การประพฤติปฏิบัติของเรา ก็สามารถจะบรรลุสามัญญผล สมกับความที่เราตั้งใจไว้เดิม…

ที่มาของบทความ....
http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=198:2009-12-17-21-08-04&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131

การเจริญภาวนา

การเจริญภาวนานั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สมถภาวนา ภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ภาวนาประเภทนี้ไม่เกี่ยวด้วยปัญญาเพียงแต่ว่าต้องการที่จะทำใจให้สงบเป็น สมาธิเท่านั้น อารมณ์ของสมถภาวนาตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีอยู่ ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกรรมฐาน ๔
ก็แลในกรรมฐาน ๔๐ ประการนั้น มีนิมิต ๓ อย่าง มีภาวนา ๓ อย่าง นิมิต ๓ คือ บริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม อุคคหนิมิต นิมิตติดตา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียง บริกรรมนิมิตกับอุคคหนิมิต ๒ อย่างนี้ ได้ทั่วไปในกรรมฐานทั้งสิ้น แต่ปฏิภาคนิมิตนี้ ได้เฉพาะกรรมฐาน ๒๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑
ภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา บริกรรมภาวนานั้นได้ทั่วไปในกรรมฐานทั้งสิ้น อุปจารภาวนาได้เฉพาะกรรมฐาน ๑๐ ประการคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณัสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนา หรืออุปจารฌานเท่านั้น เพราะว่ากรรมฐานเหล่านี้เป็นกรรมฐานที่สุขุมละเอียดยิ่งนัก ไม่ปรากฎชัดได้ จิตและเจตสิกไม่สามารถแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน จึงให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น ส่วนอัปปนาภาวนานั้น ได้ในกรรมฐาน ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกรรมฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จตลอดถึงอัปปนาภาวนา เพราะเหตุใด เพราะกรรมฐานเหล่านี้อารมณ์ปรากฎชัด อันจิตและเจตสิกเข้าไปแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน
กรรมฐาน ๓๐ ประการ อันจะให้สำเร็จถึงอัปปนาภาวนา จะมีอานุภาพเสมอกันก็หาไม่
อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ รวม ๑๑ ประการนี้ ให้สำเร็จเพียง รูปาวจรปฐมฌานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เว้นแต่ท่านผู้ใดมีสติปัญญา เมื่อเจริญอสุภะกรรมฐานหรือกายคตาสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจริญไปๆ ถ้ามีสีปรากฏชัดขึ้นมา เช่น มีสีแดง สีขาว สีเขียว เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา หลังจากนั้นเราเอาสีนั้นมาบริกรรมเป็นกสิณ ก็สามารถให้สำเร็จถึงจตุตถฌานได้ แต่ถ้าเราบริกรรมแค่อสุภะหรือกายคตาสติอย่างเดียวก็ให้สำเร็จเพียงปฐมฌาน เท่านั้น
สำหรับพรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มีอานุภาพให้สำเร็จตั้งแต่ปฐมฌานถึงจตุตถฌาน (ว่าตามปัญจกนัย ถ้าตามจตุกนนัยก็ถึงตติยฌาน แต่ว่าโดยองค์ฌานแล้วมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน)
สำหรับอุเบกขาพรหมวิหาร มีอานุภาพให้สำเร็จได้เพียงแต่รูปาวจรจตุตถฌานหรือรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียว
สำหรับอรูปกรรมฐาน ๔ ก็ให้สำเร็จเพียงอรูปฌาน ๔ เท่านั้น หมายความว่า อรูปกรรมฐานที่ ๑ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ อรูปกรรมฐานที่ ๒ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ อรูปกรรมฐานที่ ๓ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ อรูปกรรมฐานที่ ๔ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ โดยเฉพาะๆ สลับกันไม่ได้
รวมกรรมฐานที่ให้สำเร็จรูปาวจรฌานมี ๒๖ และให้สำเร็จอรูปาวจรฌานมี ๔ เป็น ๓๐ ประการที่ให้สำเร็จอัปปนาภาวนา เหลือจากนั้นให้สำเร็จอุปจารภาวนาหรืออุปจารฌานเท่านั้น
อานิสงส์ของการเจริญสมถภาวนา เมื่อเราเจริญให้ยิ่งให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถให้สำเร็จ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และก็เป็นเหตุให้เกิดคุณสมบัติขึ้นมา เช่นว่าให้สำเร็จซึ่งวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อีกด้วย

๒. วิปัสสนาภาวนา ภาวนาเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ต้องใช้ปัญญา ต้องให้เกิดปัญญาทันรูป ทันนาม ทันปัจจุบัน เห็นไตรลักษณ์เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าเจริญไปๆ เท่าไรก็ตาม สติสัมปชัญญะของเราไม่ทันปัจจุบันไม่ทันรูปทันนาม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้อริยสัจ ๔ แม้เจริญเท่าไรก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา อารมณ์ที่ใช้เจริญวิปัสสนาภาวนาคือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ แต่เมื่อสรุปแล้วก็ได้แก่รูปกับนามนั่นเอง ย่นเข้าในการปฏิบัติ ก็ได้แก่ อาการพอง อาการยุบ เป็นต้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา
อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ คือสิ่งใดเป็นอยู่ก็สามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามธรรมชาตินั้น เช่นรู้สังขารทั้งหลายที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี ว่าสังขารเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ดับไป เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้แล้วดับไป เป็นต้น
การรู้สภาวธรรมของธรรมชาตินั้นมีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ อย่างต่ำที่สุดย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ไม่ให้พวกเราทั้งหลายหลงใหลอยู่ในสมมติบัญญัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้มานะทิฏฐิลดน้อยลงไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทานลดน้อยลงไป หรืออ่อนกำลังลงไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผลชั้นใดเลย นี้เป็นอย่างต่ำ อย่างสูงย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติ สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะมีความข้องใจสงสัยอยู่ว่าบัดนี้พระศาสนาก็ล่วงเลยมาตั้ง สองพันกว่าปีแล้ว ยังจะมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ยังจะมีพระอรหันต์อยู่อีกหรือ อาจจะสงสัยอย่างนี้ก็ได้ ข้อนี้ขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ ถึง ๑๑๒ บรรทัดที่ ๒๑ และบรรทัดที่ ๑ ที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า
ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๑ เป็นยุคของพระอรหันต์ ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาหนึ่งพันปี ในช่วงหนึ่งพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว หากว่าเราได้สั่งสมบุญกุศลไว้ในปุเรชาติก็สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ 

๔ ด้วย ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นั้นคือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในการกล่าวธรรมนิรุตติ
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสองพันปี ในช่วงสองพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถที่จะยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แล้วในชาติปางก่อน คือสามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ สามารถได้หูทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ มีตาทิพย์ รู้วิธีที่จะทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ นี้ สามารถเกิดขึ้นได้
เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ หมายความว่าพระศาสนาล่วงเลยมาถึงสามพันปี ในช่วงสามพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้ วิชชา ๓ นั้นคือ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นว่าผู้นี้เขามาเกิดที่ นี้ด้วยบุญกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนก็รู้ได้ และอาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้เคยสั่งสม อบรมบารมีมาในภพก่อนชาติก่อนมาแล้ว คือเคยตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สาธุ ด้วยอานิสงส์บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอบรมไว้นี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสำเร็จวิชชา ๓ ในอนาคตกาลข้างหน้าเถิด เหมือนดังหลวงพ่อพากล่าวคำบูชาอธิษฐานจิต ในวันอาสาฬหบูชานั้นว่าด้วยบุญกุศลที่ทำการบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในวัน อาสาฬหปุณณมีครั้งนี้ ขอจงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุซึ่งสมาธิ สมาบัติ ให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ มโนมยิทธิ อย่างนี้ เรียกว่าเราได้สั่งสมอบรมบารมีไว้ ถ้าว่าในภพก่อนชาติก่อน เราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในภพก่อนชาติก่อนไม่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้เลย ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบุญกรรมหรือกุศลกรรม ที่เราได้สั่งสมอบรมไว้
สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสี่พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็สำเร็จโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงทำลายความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานให้หมดไปจากขันธสันดานเท่านั้น เรียกว่าบรรลุโดยแห้งแล้ง
ปาติโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงห้าพันปีนี้ แม้ว่าเราจะทำความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ อย่างสูงเพียงแต่ได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น
เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย หากว่าเข้าใจผิดมา ก็ขอให้กลับจิตกลับใจเสียใหม่ ผลของการปฏิบัตินั้น หากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ ผลก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ดุจเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปลูก พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืช ก็จะผลิดอกออกผลมาให้เราเชยชมได้ ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หากว่าเรานั้นมีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริง ย่อมมีผลตามมาเป็นธรรมดา เพราะธรรมดาเป็นมาอย่างนี้
อนึ่ง การเจริญภาวนาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน คือสำนักหนึ่งก็ภาวนาไปอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกุสโลบายของอาจารย์ท่านผู้สอนคือ

บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมพุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวาๆ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ หายใจออกภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า นั่งหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ถูกหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า กระทบหนอๆ
บางสำนักท้องพองขึ้นภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ
บางสำนักภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
บางสำนักยกมือไปยกมือมาภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนักหายใจเข้าหายใจออกนั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร
ส่วนการเดินจงกรมนั้นก็ไม่เหมือนกัน
บางสำนักเวลาเดินจงกรมภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนักภาวนาว่า ไหว นิ่งๆ
บางสำนักกำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก ถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสำนักไหนผิดเลย คือหมายความว่าการภาวนานั้น เราภาวนาต้องการที่จะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถภาวนาหรือสมถกรรมฐาน แต่ถ้าเราภาวนาหรือบริกรรมเพื่อจะทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะให้รู้แจ้งซึ่งสภาวธรรมหรือสิ่งที่ตนภาวนานั้น เช่น เรากำหนดท้องพองท้องยุบ ท้องพองขึ้นมา ภาวนาว่า พุทโธ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า พุทโธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่าพองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่ายุบหนอ เราต้องการจะรู้ว่าต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบเป็นอย่างไร สุดยุบเป็นอย่างไร เราสำเหนียกในใจให้รู้สภาวะความเป็นจริงในอารมณ์กรรมฐานที่ตนบริกรรมหรือฝึก ภาวนานั้น ก็ถูกแบบวิปัสสนากรรมฐาน
การเจริญกรรมฐานนั้นถ้าเราใช้เพียงขั้นบริกรรม ก็เป็นสมถภาวนาสมถกรรมฐาน คือเพียงบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ก็ถูกแบบสมถภาวนา แต่ถ้าเราใช้วิธีกำหนด เช่นในเวลาเดิน เราภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ก็กำหนดรู้ไปด้วยว่าเริ่มยกเป็นอย่างไร เหวี่ยงเท้าไปเป็นอย่างไร เหยียบลงเป็นอย่างไร ขาไหนหนัก ขาไหนเบา ในเวลานั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ก็กำหนดรู้อาการพองอาการยุบว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไรเรากำหนดรู้ตามอาการของมัน ถ้าใช้วิธีกำหนดแบบนี้ก็ถูกตามแบบวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน
แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่าการบริกรรมก็ดี การกำหนดก็ดี เราไม่เอา เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ รอการเกิดขึ้นของมรรคผล พระนิพพานต่างหาก อุปมาเหมือนกับเราต้องการจะดื่มเครื่องดื่มสักขวด เราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้วก็เปิดดื่มแต่น้ำเท่านั้นขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราจะใช้บริกรรมหรือกำหนดบทไหนก็ตาม เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานเท่านั้น เมื่อสมาธิ สมาบัติมรรคผล พระนิพพานเกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือภาวนานั้นเราก็ทิ้งไป เราเอาสมาธิ เอามรรคผล เอานิพพานต่างหาก
และขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุไรการบริกรรมการภาวนานั้นจึงมีมาก เพราะเหตุว่าธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมี มาก คือมีถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ดังนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติใครจะเอาที่ไหนๆ มาบริกรรม มาภาวนา มากำหนดได้ทั้งนั้น ใครจะบริกรรมอย่างไร ภาวนาอย่างไร หรือกำหนดอย่างไรก็ตาม ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลายที่ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น ผู้ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน ผู้ทำไร่ก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน พวกเสริมสวยก็ต้องการเงิน พวกเลี้ยงสัตว์ก็ต้องการเงิน ผู้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน พวกเดินรถก็ต้องการเงินผู้เป็นข้าราชการก็ต้องการเงิน ผู้ทำมาค้าขายก็ต้องการเงิน หนักๆ เข้า ผู้ที่ไปลัก ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ จับคนไปเรียกค่าไถ่ก็ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินของคนไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการที่จะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือมรรคผลนิพพานทั้งนั้นแต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

ดังนั้นขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ได้เข้าใจหลักการและวิธีการประพฤติปฏิบัติ ในพรรษานี้ขอให้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อสะดวกในการสอบการสอน ถ้ารูปนั้นปฏิบัติอย่างหนึ่ง รูปนี้ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเกรงว่าการปฏิบัติตามแนวที่ทางสำนักนี้ปฏิบัติอยู่จะทำให้สภาวธรรมที่ เราเคยปฏิบัติมานั้นเสื่อมไป ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าเข้าใจผิด หลายๆ องค์ที่มาประพฤติปฏิบัติทั้งๆ ที่ตั้งใจมาอยู่ ตั้งใจมาศึกษา แต่พอมาแล้วทิฏฐิมานะไม่ยอมลด เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมทำตาม ขอให้ภาวนาอย่างที่สำนักนี้ให้ภาวนาก่อนเถิด ออกจากวัดไปแล้วค่อยภาวนาอย่างอื่นไป แต่ก็ไม่ยอม สมมติว่าเคยเพ่งลูกแก้วมาอย่างนี้ ก็อยากเพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่ออยากเพ่งก็เพ่งลูกแก้วนั้นอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่เดินหน้า การสอบ การแนะนำ การสอนก็เป็นไปได้ยาก ไม่เข้ากัน
ความจริงเราไม่ควรที่จะเกรงว่าสภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมาตามแบบของตนจะ เสื่อม ท่านทั้งหลายจะภาวนาหมวดไหนอย่างไรก็ตามก็ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้น ทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญครั้งแรกนี้ เราต้องทำให้ได้ให้ถึงเสียก่อน เมื่อเราเคยได้เคยถึงแล้ว ต่อไปเราจะภาวนาอย่างไรได้ทั้งนั้น สมมติว่าเราเคยภาวนาอย่างนี้แล้วเข้าฌานได้ เคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ได้อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เมื่อเราเคยได้อย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะเข้าสมาธิอีก เราไม่ต้องภาวนาเลย เรานั่งดูวัตถุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ได้ โดยที่สำรวมจิต แล้วนั่งเพ่งถึงวัตถุนั้นๆ จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ เป็นนาฬิกาก็ได้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน หรือไม่อย่างนั้นเราจะใช้คำภาวนาว่าขี้เกียจหนอๆ แต่ที่จริงเราไม่ขี้เกียจ แต่เราใช้คำภาวนาว่าขี้เกียจหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันทั้งนั้น หรือเราจะภาวนาว่าอยากตายหนอๆ แต่เราไม่ได้อยากตาย ใช้เป็นคำภาวนาว่าอยากตายหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน ถ้าเราเคยเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง มาแล้ว เราจะมาเพ่งอะไร ภาวนาว่าอย่างไร เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ได้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ถึงที่เสียก่อน จึงจะทำอย่างนั้นได้ หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึง เราจะมาภาวนาว่าอย่างนี้ไม่ได้
ต่อไปเป็นองค์คุณของผู้ปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติธรรมต้องการที่จะให้การประพฤติปฏิบัติได้ผลเร็วนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้ คือ

๑. สติมา ต้องมีสติ คือสติสมบูรณ์ กำหนดให้ทันปัจจุบัน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบัน

๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้รู้ตัวทุกขณะ เหมือนกับเราเขียนหนังสือสมมติว่า เราจะเขียนตัว “ก” เราก็ต้องรู้ว่าอักษร “ก” มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ก็เขียนไป ในขณะที่เขียน เขียนถูกก็รู้ว่าเขียนถูก เขียนผิดก็รู้ว่าเขียนผิด
๓. อาตาปี มีความเพียร คือมีความหมั่นความขยัน มีฉันทะ พอใจทำกรรมฐาน มีวิริยะ แข็งใจทำกรรมฐาน มีจิตตะ ตั้งใจทำกรรมฐาน มีวิมังสา ฉลาดทำกรรมฐาน

เมื่อท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว และขอรับรองว่าไม่เสียสติ ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ อาจเสียสติเป็นบ้า เสียผู้เสียคนไปก็ได้

ที่มาของบทความ....
http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=199:2009-12-17-21-09-48&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131