Friday, July 19, 2013

พระไตรลักษณ์ประหาณอนุสัย


พระไตรลักษณ์ประหาณอนุสัย

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามปกติของในโลกนี้ ย่อมมีของคู่กันคือ มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีเย็นก็ต้องมีร้อน มีชั่วก็ต้องมีดีควบคู่กันไป ในทางธรรมะก็เหมือนกัน มีบาปก็ต้องมีบุญ มีกิเลสก็ต้องมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องทำลาย ตามธรรมดานิยมของโลก เป็นมาอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร เหตุนั้นแม้ว่าขันธสันดานของเรานี้ ท่านจะบ่งไว้ว่า มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดครอบงำอยู่ หรือเป็นนายเหนือหัวของจิตของใจเราอยู่ก็จริง แต่กิเลสนั้นจะมีมากมายสักปานใดก็ตาม ก็มีธรรมะเป็นเครื่องทำลายให้หมดไปได้เหมือนกัน เราทั้งหลายลองนึกย้อนหลังดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายว่า เมื่อก่อนนั้น ท่านก็มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเหมือนกับพวกเรา แต่ก็ได้อาศัยธรรมะซึ่งเป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับกิเลส ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายและยังได้ทรงมีพระกรุณาสั่งสอนธรรมะนั้นให้เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายทั้งมนุษย์เทวดามารพรหมได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม ต่างก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์บ้าง ไปตามๆ กัน
ธรรมดาในขันธสันดานของเรานี้ หรือในจิตใจของเรานี้ ส่วนลึกนั้นมีอนุสัยกิเลสเป็นเครื่องนอนดองอยู่ เหมือนขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม อันบุคคลจะทำลายได้โดยยากที่สุด เราจะให้ทานรักษาศีลเจริญสมาธิ ก็ไม่สามารถทำลายได้ ต้องเอาธรรมะที่เป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้าม ซึ่งมีพลานุภาพมาก มีกำลังมาก มาทำลาย จึงจะสามารถมาทำลายได้ เหตุนั้นวันนี้จึงจะได้นำเรื่องพระไตรลักษณ์มาบรรยาย เพราะว่าพระไตรลักษณ์นี้เป็นธรรมะที่มีอานุภาพมากมีกำลังมาก สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราทั้งหลายได้
อันธรรมดาว่าลายเสือย่อมอยู่กับตัวเสือ เห็นเสือก็เห็นลายฉันใด แม้ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อรู้ทันปัจจุบันจนเห็นรูปนามดับไปๆ ชัดด้วยปัญญา ก็ฉันนั้น ย่อมจะเห็นลักษณะของรูปนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระไตรลักษณ์ คือ
๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับไป
๒. ทุกขัง ทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป
๓. อนัตตา ไม่ใช่ตน บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป
ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้เป็นลวดลายของรูปนาม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขุดทำลายอนุสัย อันเป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดไป อุปมาเหมือนกันกับทำลายรัง หรือขุดรากของต้นหญ้าฉันนั้น เพราะเมื่อทำลายได้สิ้นเชิงเมื่อใดก็จะไม่เจริญขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ เข้าไปพิสูจน์รู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปนามขันธ์ ๕ แล้วเป็นปัจจัยทำลายต่อกันไป จนกว่าจะสิ้นอนุสัย อนุสัยนอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตได้อย่างไร ไตรลักษณ์ประหาณอนุสัยได้อย่างไร จะได้แสดงไปตามลำดับ แต่ก่อนอื่นขอแสดงถึงเรื่องวิถีของจิตเสียก่อน
วิถีจิตนั้นเป็นทางเดินของจิต เป็นที่หลั่งไหลของบุญและบาปเข้าสู่ภวังค์ บุญเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีจิตนี้ บาปเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีของจิตนี้เช่นเดียวกัน คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อารมณ์เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต จนลงสู่ห้วงภวังค์ตามวิถีของจิตดังนี้
เมื่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นรูปารมณ์ ที่เกิดขึ้นขณะตาเห็นรูปก็ดี สัททารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะหูได้ยินเสียงก็ดีเป็นต้น เกิดขึ้นมาสัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้น รับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น หนึ่งขณะจิตแล้วดับลง เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้สันตรีรณจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต พิจารณาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดโวฎฐัพพนจิต ตัดสินรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลง แล้วเป็นปัจจัยให้ชวนะจิตเกิดขึ้นมาเสพรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๗ ขณะคือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๗ ครั้ง เมื่อชวนะจิตดับลงครบ ๗ ขณะแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะจิต รับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ หลังจากนั้นภวังคจิตก็ทำหน้าที่รักษารูปารมณ์เป็นต้นนั้นไว้ในห้วงแห่งภวังค์ต่อไป
* (การเกิดขึ้นของวิถีจิตที่มี สัมปฎิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้นนี้ เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวาร ๕ คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และได้เฉพาะอารมณ์ ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เท่านั้น ส่วนในขณะที่มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจนั้น สัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือเมื่อธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ตัดสินรับเอาธรรมารมณ์นั้นทันที ๑ ขณะจิต แล้วดับลงเป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิตเสพธรรมารมณ์นั้น ๗ ขณะแล้วเป็นตทารัมมณะ เป็นภวังค์ต่อไป)
ในลักษณะเดียวกัน อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้น ก็เกิดขึ้นมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตตามลำดับๆ จนถึงตทารัมมณะ เก็บลงสู่ภวังค์จนเป็นสันดาน เรียกว่าอนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ คือ ราคานุสัย ๑ ปฏิฆานุสัย ๑ ทิฎฐานุสัย ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑ มานานุสัย ๑ ภวราคานุสัย ๑ อวิชชานุสัย ๑ ทั้ง ๗ ประการนี้ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ เช่นว่า ราคะความกำหนัดเกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส อันเป็นอิฎฐารมณ์ อารมณ์น่าใคร่น่าพอใจน่าชอบใจ เกิดราคะขึ้นมา ก็เป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉนจิตเกิดขึ้นมารับเอาอารมณ์อันประกอบไปด้วยราคะนั้น หนึ่งขณะจิตแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิต เกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นหนึ่งขณะแล้วดับไป เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิตขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นติดต่อกันไป ๗ ขณะ แล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตขึ้น ๒ ขณะ เก็บอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นลงสู่ภวังค์ เมื่อตทารัมมณจิตดับลงภวังคจิตก็เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นไว้ภายในจิตต่อไป ราคะนั้นก็ได้ชื่อว่า ราคานุสัย
ที่นี้หากว่าโทสะก็ดี ทิฏฐิความเห็นผิดก็ดี วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยก็ดี มานะความถือตัวก็ดี ภวราคะความยินดีในภพก็ดีและอวิชชาความเขลา ก็ดี เกิดขึ้นเพราะประสบอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างไรอย่างหนึ่งก็ตาม สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยคือโทสะ ทิฎฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชานั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลงไป แล้วก็เป็นปัจจัย ให้เกิดสันตีรณจิตขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้นหนึ่งขณะจิตแล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้นหนึ่งขณะจิตก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิตเสพอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตขึ้น ๒ ขณะจิตเก็บเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ อันมีโทสะเป็นต้น ลงสู่ภวังค์ ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นรักษาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้น ไว้ภายในห้วงภวังค์ เป็นปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย นอนดองอยู่ในขันธสันดานตลอดไป อุปมาเหมือนกันกับเราถ่ายรูป พอเราเปิดหน้ากล้องแล้วกดชัตเตอร์เท่านั้น รูปก็เข้าไปติดอยู่ที่ฟิล์มนั้นตลอดไป อนุสัยนั้นก็เช่นนั้น ก็จะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดไป
อนุสัยกิเลสที่นอนดองในขันธสันดานนี้ เราจะให้ทานจนหมดทรัพย์สินที่เรามีอยู่ก็ดี จะไหว้พระทำวัตรสวดมนต์รักษาศีลได้ดีจนกระทั่งวันตายก็ดี เราจะเจริญสมถกรรมฐานจนได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยนั้นได้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรมแล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยภาวนาญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา สัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วย อนิจจังทุกขังอนัตตานั้นหนึ่งขณะจิตก็ดับลง เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หนึ่งขณะจิตก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนะจิต (กุศลญาณสัมปยุตตจิต) เสพอารมณ์ที่ประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้น ๗ ขณะจิตอุปมาเหมือนกับเราได้ธนบัตรใบละ ๕๐๐ มาใบหนึ่ง แล้วก็มาพลิกดูด้านหน้าด้านหลังว่าใช้ได้หรือเปล่าหนอ พลิกกลับไปกลับมา ๗ ครั้งเห็นว่าธนบัตรนี้ใช้ได้ตามกฎหมายแล้วก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อชวนะจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ๗ ขณะแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทารัมมณจิตขึ้น ๒ ขณะรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้นลงสู่ภวังค์แล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์นั้น เป็นองค์สำคัญอยู่ภายในจิตในใจต่อไป
อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกาลใด ในกาลนั้นชวนะจิตทั้ง ๗ ขณะก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และในขณะที่เสพพระไตรลักษณ์อยู่นั้น ก็จะตัดอนุสัยทั้ง ๗ ประการ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา ไม่ให้เข้ามาเป็นตัวอนุสัย และไม่ให้เกิดขึ้นเป็นตัวอนุสัยอีกต่อไป เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์มากเท่าไรๆ อนุสัยก็จะเบาบางน้อยลงไปเท่านั้นๆ จนดับสิ้นเชื้อสิ้นยาง ไม่มีเหลือค้างอยู่ในจิตสันดาน อุปมาเหมือนกับน้ำหมึกที่เราเขียนเป็นตัวอักษรลงในแผ่นกระดาษ จะเป็นหมึกสีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม สีน้ำเงินก็ตาม เรามีโอกาสที่จะลบมันได้โดยที่ใช้กรดลบหมึก เมื่อเราเอากรดลบหมึกมาหยดใส่ ถ้ากรดลบหมึกนั้นมีความเข้มข้นเพียงพอ พอเราหยดลงไปสีดำสีแดงสีน้ำเงินเหล่านั้น ก็จางหายไปเลยไม่มีอยู่ในแผ่นกระดาษ แต่ถ้าว่ากรดลบหมึกนั้นไม่เข้มข้น เมื่อเราหยดลงไป ก็จะยังเป็นคราบสีดำสีแดงสีน้ำเงินให้เห็นอยู่ ข้อนี้ฉันใด เรื่องอนุสัยกิเลสกับพระไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากว่าอำนาจของพระไตรลักษณ์นั้นมีกำลังอ่อน เมื่อมีกำลังอ่อนเช่นนั้นแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต เมื่อลงถึงภวังคจิต ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยได้เด็ดขาด เหมือนกรดลบหมึกที่ไม่เข้มข้น ไม่สามารถที่จะลบหมึกได้เด็ดขาด แต่ถ้าขณะใดพระไตรลักษณ์มีอำนาจเต็มที่ หมายถึงในขณะที่พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นนั้น สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ถูกอะไรครอบงำเลย เป็นสติที่มีกำลังมีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังแก่กล้าพระไตรลักษณ์ก็มีกำลังแก่กล้า มีอานุภาพ เมื่อพระไตรลักษณ์ที่มีอานุภาพปวัตติไปตามวิถีของจิตลงสู่ภวังค์ อนุสัยกิเลสก็จะหมดไปไม่มีเหลือ ทำลายได้เด็ดขาดเหตุนั้น การเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานนี้ ครูบาอาจารย์จึงแนะแล้วแนะอีก พร่ำเตือนแล้วพร่ำเตือนอีกว่า ท่านทั้งหลายอย่าชะล่าใจต้องบำเพ็ญสติให้สมบูรณ์ จะยืนเดินนั่งนอน กินดื่มพูดคิดทำกิจใดๆ ก็ตาม จะสรงน้ำ ถ่ายหนักถ่ายเบา นุ่งสบงห่มจีวร ก็ขอให้มีสติ ให้กำหนดเสียก่อน ที่แนะนำพร่ำเตือนอย่างนี้ ต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายปลุกสติให้มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังมากมีอานุภาพมาก พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นก็มีอานุภาพมากมีกำลังมากเมื่อพระไตรลักษณ์มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ก็สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากจิตจากใจในพริบตาเดียวได้เมื่อเกิดขึ้น
เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ส่วนมากชะล่าใจ อยู่ในอำนาจของอนุสัยกิเลส ไม่อยากที่จะกำหนดบทพระกรรมฐานให้ติดต่อกัน และมัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มัวพูดจาปราศัยเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ผลสุดท้ายก็เลยเห็นการเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานเป็นของธรรมดา เมื่อเป็นดังนี้ เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้
อนึ่งการเจริญวิปัสสนาภาวนา ยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่งที่ถูกแก่อัธยาศัย อาสวะกิเลสที่ไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในขันธสันดานนั้น คือทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิก็ดี กามาสวะ อาสวะ คือกามก็ดี ภวาสวะ อาสวะคือภพก็ดี อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาก็ดี ก็จะถูกทำลายลงไปตามลำดับๆ และจะไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในใจอีกเหมือนกาลก่อนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะที่มีอยู่ก่อนก็จะบรรเทาเบาบางลงไปทีละน้อยด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ จนสิ้นไปเมื่อสิ้นอาสวะกิเลสขณะใด ก็จะบรรลุสันติลักษณะ คือลักษณะที่สงบจากทุกข์ทั้งปวงได้แก่ พระนิพพาน โดยอาศัยลำดับญาณทั้ง ๑๖ คือ เริ่มตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณไปตามลำดับๆ จนถึงอนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ และก็เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ เกิดครบสมบูรณ์ถึง ๔ ครั้งเมื่อใด ก็ได้ชื่อว่าอยู่จบพรหมจรรย์มีกิเลสสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติจบแล้วมีจิตดันเกษมจากโยคะธรรมล่วงส่วน โอกาสต่อไปหน้าที่ของเราก็เผยแผ่ศาสนา แนะนำลูกศิษย์ลูกหาญาติโยม ให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติอย่างที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติแล้ว

No comments:

Post a Comment