มาร ๕ ประการ
วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องมาร ๕ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
มาร ๕ ประการนี้ ถือว่าเป็นมหาภัยกั้นกลางหรือขัดขวางการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐาน
ของท่านทั้งหลายไม่ให้ได้ผลเหมือนกันคำว่ามารได้แก่สิ่งที่มุ่งร้าย เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง หรือขัดขวางการกระทำความดี ในที่นี้หมายเอาสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม ไม่ให้บรรลุผล หรือได้ผลน้อย ได้ผลไม่คุ้มค่า มาร ๕ ประการนั้นคือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร ดังมีอธิบายดังนี้
มารตัวที่ ๑ คือตัวหลอกลวง ได้แก่ กิเลสมาร มารคือกิเลส มารคือกิเลสนี้ เป็นมารที่มาขัดขวางความดีทุกอย่างไม่ให้เกิดขึ้น เป็นมารที่ทำจิตใจให้เศร้าหมอง เป็นสภาวะที่ลามก หมักดองอยู่ในขันธสันดาน กิเลสมารนี้มีมากถึงพันห้าร้อย แต่จะยกมาประกอบการบรรยายสักสิบประการ เรียกว่ากิเลส ๑๐ คือ
๑. โลภะ อยากได้ในอารมณ์ ๖ คืออยากได้รูปที่สวยๆ อยากฟังเสียงที่ดีๆ อยากได้กลิ่นที่ดีๆ อยากได้รสที่เอร็ดอร่อยที่ดีๆ อยากได้สัมผัสที่ดีๆ อยากได้ธรรมารมณ์ที่ดีๆ สรุปแล้วว่าอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าชอบ น่าปรารถนา น่าพอใจนั่นเอง ตัวโลภะนี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดความอยากได้อย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้าง เช่นเวลาปฏิบัติพระกรรมฐานก็อยากให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น อยากให้สมาธิเกิดขึ้น อยากให้โอภาสคือแสงสว่างเกิดขึ้น อยากเห็นนรก อยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ซึ่งจากโลกนี้
ไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้าเป็นต้น หากว่าเกิดขึ้นกับคนธรรมดา ก็พาให้เป็นคนโกง ลักทรัพย์ ค้าของเถื่อน หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตเป็นต้น แต่โลภะนี่ขอให้เข้าใจว่า โลภะในภาคปริยัติกับโลภะในภาคปฏิบัตินี้ไม่เหมือนกัน ถ้าโลภะในภาคปริยัติ หมายเอาการอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต และก็หาเอาในทางทุจริตเช่น ลักขโมยเอาบ้าง ปล้นเอาบ้าง จี้เอาบ้าง ยักยอกหลอกลวงเอาบ้าง ถ้าเรามีความอยากได้ในทางทุจริต แล้วก็หาเอาในทางทุจริตอย่างนี้ แม้จะได้มาเพียง ๑ บาท ๒ บาท ก็ถือว่าเป็นโลภะแล้ว แต่ถ้าอยากได้ในทางสุจริตแล้วก็หาเอาในทางสุจริต แม้จะได้มาเป็นพันๆ ล้านบาท ก็ไม่ถือว่าเป็นโลภะ ส่วนโลภะในด้านปฏิบัติแล้วเอาละเอียดกว่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาปฏิบัติ ถ้ามีความชอบใจเป็นโลภะแล้ว ไม่ชอบใจจัดเป็นโทสะ สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้กำหนด จัดเป็นโมหะ โลภะโทสะโมหะในด้านปฏิบัตินี้ เราเอาละเอียดกว่าด้านปริยัติ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี การบรรยายธรรมะ การเทศน์หรือการสอนธรรมะ เราอย่าเอาปริยัติกับปฏิบัติไปผสมกัน แล้วก็จะทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา เพราะว่าธรรมะในด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ หมายเอาละเอียดกว่ากันดังกล่าวมาแล้ว
๒. โทสะ ความโกรธ ทำให้ใจเศร้าหมองหงุดหงิด โกรธง่าย มีอะไรนิดหน่อยเกิดขึ้นก็โกรธ ก็ขัดใจ ทำตัวเป็นศัตรู แห้งผากใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ร้อนใจเหมือนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา หากเกิดกับคนธรรมดาสามัญ ก็ทำให้ด่ากัน ฆ่ากัน วางเพลิง จุดบ้านเผาเรือนกันเป็นต้น
๓. โมหะ ความหลงไม่รู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้ประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ทำให้เป็นคนหัวดื้อ ขี้เมา ฉุดคร่าอนาจาร บ้ากาม ประมาท เกียจคร้านเป็นต้น คนทั้งหลายที่ติดอยู่ในของเสพติดมีประการต่างๆ เช่น ติดอยู่ในหมากพลู กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล้า ผงขาว ดมกาว อะไรนานัปการ จนหลงติดอยู่กับอบายมุข ๖ ประการ มีการพนันเป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นไปตามอำนาจของโมหะทั้งนั้น เพราะว่าโมหะทำให้เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นของดี และก็เป็นเหตุให้หลวมตัวเข้าไป ผลสุดท้ายก็ต้องเสียผู้เสียคน เสียคุณงามความดีอันจะพึงได้พึงถึง เสียอนาคตของตัวเอง เหตุนั้นโมหะนี้ก็จึงถือว่าเป็นตัวหลวกลวงตัวหนึ่ง
๔. อหิริกะ ความไม่ละอายบาป ไม่ละอายต่อการทำบาป สามารถทำความชั่วได้ ไม่ละอายทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๕. อโนตตัปปะ ความไม่กลัวบาป ไม่กลัวต่อผลของบาปถือว่าชาตินี้ตัวเป็นสุขก็พอ คนอื่นจะเดือดร้อนเช่นไรก็ช่างเขา ขอแต่เราเป็นสุขในชาตินี้ก็พอแล้ว ชาติหน้าจะเป็นไส้เดือนกิ้งกือก็ช่างมัน อันนี้เป็นลักษณะของตัวอโนตตัปปะ
๖. ทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่นเห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี บิดามารดาครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หามีคุณไม่ เป็นคนอกตัญญูเนรคุณแก่ท่านผู้มีพระคุณต่อเรา
๗. มานะ ความถือตัวว่าไม่เท่าเพื่อน ถือว่าดีกว่าเพื่อนบ้าง เลวกว่าเพื่อนบ้าง ทำให้เป็นคนหัวดื้อถือรั้น ว่ายากสอนยากชอบเอาแต่ใจตนเองเป็นต้น
๘. อุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เช่น จิตคิดไปในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต เวลาทำกรรมฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดได้ปัจจุบันธรรม คือไม่สามารถที่จะจับรูปนาม ให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเราไม่ได้ปัจจุบันธรรม พระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนั้นพึงสังวรให้ดี เวลาอุทธัจจะเกิดขึ้น พยายามตั้งจิตตั้งใจให้ทันปัจจุบัน
๙. ถีนะ ความท้อถอยต่ออารมณ์ต่างๆ ทำให้ง่วงเหงาหาวนอนเซื่องซึม จิตใจอ่อนแอ จับอารมณ์ไม่มั่น เวลาปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกรรมฐานให้ทันปัจจุบัน ไม่สามารถกำหนดได้อย่างกระฉับกระเฉง มีแต่เซื่องซึมง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา
๑๐. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ใครไปเห็นมา พระธรรมที่ตรัสเป็นจริงหรือ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมได้บรรลุมรรคผลนิพพานจริงหรือ ชาติหน้ามีจริงหรือ ถ้ามีไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ สวรรค์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงผู้ไปเกิดในสวรรค์ไม่เห็นมีใครมาบอก เป็นต้น
กิเลสมารเป็นมารได้อย่างไร เป็นมารได้อย่างนี้คือ เพราะว่ากิเลสมารนี้ เป็นสภาพทำลายล้างคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป และกีดกันขัดขวางคุณงามความดีคือบุญกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เช่นเวลาปฏิบัติธรรม ก็ทำลายล้างศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้ว มีขึ้นแล้วให้หมดไป และกีดกันศีล สมาธิ ปัญญาอริยมรรคอริยผลใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา กิเลสแต่ละชนิดแต่ละตัวนั้น ล้วนแต่เป็นมารเป็นศัตรูทำลายล้าง และกีดกันคุณงามความดีทั้งนั้น ที่ร้ายที่สุดก็พวกตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า และพวกอภิชัปปาคือกิเลสกระซิบที่จิต ทำให้เราเข้าใจผิด และทำให้การปฏิบัติผิด เดินทางไม่ถูก ผลสุดท้ายก็ไม่อาจบรรลุอริยมรรคอริยผล
เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของกิเลสมาร มีหนทางเดียวเท่านั้น คือต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุพระนิพพานแล้วนั้นแหละ จึงจะพ้นจากอำนาจของมารได้ ข้อนี้มีพระพุทธพจน์ ที่ตรัสกับกัปปะมาณพว่า เรากล่าวว่าพระนิพพานอันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะนี้แหละ เป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้พระนิพพานนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลยดังนี้
มารตัวที่ ๒ คือตัวทวงสิทธิ์ ได้แก่ ขันธมาร มารคือ ขันธ์ ๕ เพราะเหตุไรขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงจัดว่าเป็นมาร เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ เป็นสภาวธรรมที่ให้เกิดความลำบากอยู่เป็นนิจ บางครั้งก็ลำบากจนเหลืออดเหลือทน เดี๋ยวก็ปวดที่โน้น เดี๋ยวก็เจ็บที่นี้ เดี๋ยวก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หิวกระหาย อ่อนเพลีย เดี๋ยวก็ทำให้เป็นโรคกระเพาะ โรคความดันสูง โรคประสาท เป็นต้น มีเงินมีทองหามาบำรุงเยียวยาเท่าไรก็ไม่พอ หนักๆ เข้าก็คิดทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตาย ยิงตัวตาย แทงตัวตาย ผูกคอตาย กระโดดน้ำตาย กระโดดตึกตาย บางครั้งก็เอาน้ำมันราดเผาตัวเองตาย กินยาพิษตาย แล้วก็ต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ยิ่งได้รับความทุกข์มากขึ้น สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นทุกวันนี้ ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา หารู้ไม่ว่าเบญจขันธ์นี้เป็นสภาวธรรมที่เบียดเบียนเราให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ไม่มีความสงสัย ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนกับบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งมีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดีผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ แต่มาคิดว่าคฤหบดีนี้เขารักษาตัวดีนัก เราจะฆ่าโดยพลการนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องฆ่าโดยอุบาย เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว จึงเข้าไปขอเป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านของคฤหบดี คฤหบดีก็รับไว้ แต่หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนั้นเขาจะมาเพื่อฆ่าตน ในขณะที่ใช้เขาอยู่ก็ไม่ได้รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน จนคฤหบดีนั้นไว้เนื้อเชื่อใจทุกสิ่งทุกประการ เมื่อไว้เนื้อเชื่อใจแล้วก็มอบความเป็นใหญ่ให้ มอบหน้าที่การงานทุกอย่างให้ บุรุษนั้นก็สามารถทำงานโดยอิสระ เข้านอกออกในได้ตามความประสงค์ อยู่มาวันหนึ่ง ในขณะที่คฤหบดีนอนหลับอยู่ บุรุษนั้นได้นำดาบมาแล้วตัดคอคฤหบดีนั้นตายไป ท่านทั้งหลายในขณะที่บุรุษนั้นมาอยู่ด้วย คฤหบดีก็ดี คนทั้งหลายก็ดี ก็หารู้ได้ไม่ว่า บุรุษนี้เขามาเพื่อจะพยายามฆ่า ในขณะที่ใช้เขาอยู่ก็ไม่รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน และในขณะที่เขาฆ่าคฤหบดีตายไปแล้ว คฤหบดีนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นผู้ฆ่า หรือคนในบ้านนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นคนฆ่า ข้อนี้ฉันใด ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ก็เป็นสภาวธรรมที่ทำลายล้างและเบียดเบียนฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา ทำลายคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป คนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทำความชั่วช้าลามกนานาประการ ก็เพราะว่าไม่รู้ความจริง หรือว่าไม่รู้ความเป็นไปไม่รู้ธาตุแท้แก่นแท้ของขันธ์ ๕ ประการนี้ว่าเป็นอย่างไร เลยหลงยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเราอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้ทำความชั่วนานัปการ เมื่อตายแล้วก็ไปตกอบายภูมิ ดังนั้นการไปตกนรกก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่คนไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในฉกามาวจร สวรรค์ก็ดี ในพรหมโลกก็ดี ก็เพราะเบญจขันธ์นี้เป็นเหตุ สัตว์โลกทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นเพราะเบญขันธ์นี้เป็นเหตุ เหตุนั้นเบญจขันธ์นี้จึงถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่ร้ายกาจที่สุด
เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากอำนาจของขันธมาร เราต้องปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐาน จนเกิดปัญญา เกิดนิพพิทา เกิดวิราคะ เบื่อหน่ายคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ ก็จะพ้นได้ดังมีพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระราธะว่า ราธะสิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นของธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเสีย แล้วมารก็จะตามไม่ทัน ก็จะเป็นเหตุละขันธมารได้
มารตัวที่ ๓ คือตัวอิทธิพล ได้แก่ อภิสังขารมาร มารคือบาป บาปในที่นี้หมายถึงบาปที่เราเคยทำไว้ในอดีตตามสนองบ้าง และก็หมายเอาบาปที่เราทำไว้ในภพนี้ชาตินี้บ้าง บวกกันทั้งอดีตทั้งปัจจุบัน บาปจัดเป็นมารได้อย่างไร บาปจัดเป็นมารได้เพราะว่าบาปนี้ เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้สำเร็จ เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง คือเผาไหม้กุศลจิตให้เหี้ยมเกรียมไป ทำนำ้ที่หล่อเลี้ยงหัวใจคือบุญกุศลให้หมดไป ยกตัวอย่างผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ ประการ มีปิตุฆาต ฆ่าบิดา มาตุฆาต ฆ่ามารดา อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ โลหิตุปบาท ทำลายพระพุทธเจ้าเพียงพระโลหิตห้อ สังฆเภท ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เมื่อเราทำอนันตริยกรรม ๕ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราเป็นอภัพพบุคคล ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดีได้เลย แม้จะสำเร็จสมาบัติ ๘ ประการ อันนับว่าเป็นกุศลที่สูงสุดฝ่ายโลกียะ แต่หากว่าได้ทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า สมาบัติทั้ง ๘ ประการนั้นก็เสื่อม ตัวอย่างพระเทวทัต เมื่อก่อนโน้นได้ฌาน ได้อภิญญาโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่เมื่อทำลายพระพุทธเจ้า ทำพระโลหิตให้ห้อ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฌานและอภิญญาจิตก็เสื่อมเพราะเหตุไร เพราะจิตใจของผู้ทำอนันตริยกรรมนั้น ถูกกิเลสเผาไหม้จนเหี้ยมเกรียมไปหมดแล้ว อุปมาเหมือนกับไฟที่ไหม้ต้นไม้หรือท่อนไม้ให้เป็นถ่านเป็นเถ้าไป เมื่อไม้นั้นเป็นถ่านเป็นเถ้าไป ก็ไม่สามารถจะนำไม้นั้นมาใช้ประโยชน์ได้ อนึ่งหากว่าเราทำบาปไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่าเราล่วงเกินพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ให้ท่านต้องเจ็บใจต้องน้ำตาตกเพราะเราเป็นต้นเหตุ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจึงจัดเป็นอภิสังขารมาร คือบาปนี้เป็นมารตัวร้ายกาจตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกลางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล
เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอภิสังขารมารได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น ต้องเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานไปจนสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เท่านั้นแหละ มารจึงจะตามไม่ทัน ดังพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสแก่เมตตคูมาณพว่า ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิคือกรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดขึ้นมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนโง่เขลาไม่รู้ ย่อมกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนืองๆ เหตุนั้นเมื่อรู้เห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้เกิดให้มีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถที่จะทำการละอภิสังขารมารนี้ได้
มารตัวที่ ๔ คือตัวกลมารยา ได้แก่ เทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร เทวบุตรนั้นมีอยู่ ๓ จำพวกคือ
๑. สมมติเทวบุตร ได้แก่เป็นเทวบุตรโดยสมมติ เช่น พระราชา พระราชินี บิดา มารดา เป็นต้น
๒. อุปปัตติเทวบุตรได้แก่เทวบุตรโดยกำเนิด
๓. วิสุทธิเทวบุตร ได้แก่ท่านผู้มีความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจ คือผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
เทวบุตรมารในที่นี้หมายเอาจำเพาะประเภทที่ ๑ และ ๒ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ปกครองบุตรธิดาหรือลูกศิษย์ลูกหาไม่ยุติธรรม ลำเอียงเพราะรักคนโน้นชังคนนี้เป็นต้น ทำอะไรขาดเหตุผล ขาดวิจารณญาณ คอยแต่จะให้ร้ายอยู่เสมอ ท่านจึงจัดว่าเป็นมาร และประเภทที่ ๒ หมายเอาผู้ที่เป็นเทวบุตรจริงๆ เช่น รุกขเทวดาบ้าง เป็นภุมมเทวดาบ้าง เป็นอารักขเทวดาบ้าง หรือเป็นอากาสัฏฐเทวดาบ้าง แต่เป็นเทวดาที่เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในระพุทธศาสนา ไม่เลื่อมใสในบุญกุศล ไม่เลื่อมใสในพระธรรม เมื่อเห็นผู้หนึ่งผู้ใดบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล หรือประพฤติปฏิบัติธรรม ก็หาทางกีดขวางนานัปการแสดงตัวให้ปรากฏเป็นภาพที่น่าพิลึกสะพรึงกลัว บางทีทำให้เหมือนสัตว์ร้าย เหมือนเปรต เหมือนอสุรกาย เหมือนภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอนบ้าง มีเสียงข่มขู่ให้ตกใจกลัวบ้าง อันนี้ก็ถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่สุดที่ทำลายล้าง การประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานไม่ให้เกิดขึ้น หากว่าผู้มีความกลัวเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้วยิ่งร้าย ไม่สามารถที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไปได้เลย
ที่นี้เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของเทวบุตรมาร ทำอย่างนี้คือ
๑. เจริญเมตตา แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญกุศลให้
๒. ใช้ความเพียรตั้งสติกำหนดให้ทันปัจจุบัน โดยไม่เอาใจใส่ก็จะหลีกไปเอง ดังครั้งหนึ่งพระศาสดา ทรงเห็นอุปนิสัยของเด็กหญิงจำนวน ๕๐๐ ชาวบ้านพราหมณ์ปัญจะสาละ ว่าควรแก่การที่จะบรรลุพระโสดาบัน เช้าขึ้นมาพระองค์ก็นุ่งสบงทรงจีวร มีกรจับบาตร ลีลาศเข้าไปสู่หมู่บ้านพราหมณ์ปัญจะสาละนั้น เพื่อบิณฑบาตและจะได้โปรดเด็กหญิงทั้ง ๕๐๐ นั้น ในขณะที่พระองค์ทรงเที่ยวบิณฑบาตอยู่มารก็เข้าดลใจชาวบ้านทั้งหลาย ไม่ให้เลื่อมใสไม่ให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านทั้งหลายลองนึกดูซิว่า มารนี้มีกำลังร้ายแรงขนาดไหน สมเด็จพระบรมครูของเราเป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้ว มารยังกล้าเบียดเบียนได้ดลจิตดลใจชาวบ้านให้เฉยอยู่ไม่ทำความสำคัญในพระองค์เลย ราวกับว่าพระองค์เป็นคนธรรมดา เมื่อพระองค์เสด็จบิณฑบาตจนทั่วหมู่บ้านแล้ว ไม่ใครถวายบิณฑบาตเลย พระองค์ก็เสด็จออกจากบ้านนั้น ไปถึงประตูบ้านที่พวกเด็กหญิง ๕๐๐ คนกำลังเดินมาถึงประตูบ้านพอดี และในขณะนั้นพระยามารเห็นว่าพระองค์กำลังจะเสด็จออกจากบ้าน เลิกจากการบิณฑบาต ก็เข้าไปหาพระพุทธองค์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ไม่ได้บิณฑบาตหรือพระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมาร ก็เธอทำชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้นึกถึงเราตถาคตผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ แล้วยังจะมีหน้ามากล่าวเช่นนี้อีกหรือ มารก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์จงเสด็จไปใหม่เถิด คราวนี้ชาวบ้านจักเลื่อมใส พระองค์จึงได้ตรัสพระถาคาว่าดูก่อนมาร เราผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขดีหนอ เราจะเป็นผู้มีปีติเป็นภักษา เหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสระฉะนั้น เวลาจบพระคาถา หญิงทั้ง ๕๐๐ คนซึ่งพากันนั่งฟังพระพุทธเจ้าสนทนากับพระยามาร ส่งกระแสจิตกระแสใจไปตามพระดำรัสของพระองค์ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน นี้แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้เราพ้นจากเทวบุตรมาร ก็มีดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
มารตัวที่ ๕ คือตัวล่าสังขาร ได้แก่ มัจจุมาร มารคือความตาย เพราะเหตุไรความตายจึงจัดว่าเป็นมาร เพราะว่าความตายเป็นที่ตัดชีวิตเสียก่อนจะได้บำเพ็ญคุณงามความดีให้เต็มที่ เช่นจะก่อสร้างศาสนวัตถุให้สำเร็จ จะศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ จะปฏิบัติพระกรรมฐานให้สำเร็จ จะเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไปให้สำเร็จ ก็มาปลิดชีวิตไปเสีย อีกอย่างหนึ่งความตาย ที่จัดว่าเป็นมาร เพราะคนเรามีความกลัวตาย ไม่กล้าทำความดี ไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวตาย เช่นเวลาปฏิบัติพระกรรมฐาน เจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย หิวกระหาย ขี้เกียจ กลุ้มใจ ลำบากสักหน่อยก็เลิกปฏิบัติหยุดปฏิบัติ เพราะกลัวตาย การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องตายเสียก่อนตาย จึงจะสำเร็จ คือตายเสียก่อนที่มัจจุราชจะมาปลิดชีวิตของเรา เราไม่ยอมให้มัจจุราชฆ่าเราตายแต่เราตายของเราเอง เรียกว่าตายอย่างพระอริยเจ้า เมื่อการปฏิบัติธรรมต้องตายเสียก่อนตายอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงกลัวตาย
ที่นี้เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากอำนาจของมัจจุราช การที่จะพ้นจากอำนาจของมัจจุราชนั้น ต้องปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ตรัส พระพุทธพจน์แก่โมฆราชมาณพว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่าตัวของเรา เสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจึงจะไม่ตามทัน
สรุปแล้วว่าวันนี้ได้นำมหาภัยสิ่งที่มาขัดขวาง หรือกั้นกลางการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานไม่ให้ได้ผลมาบรรยาย ๕ ประการ ก็ได้แก่มาร ๕ ประการ คือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร เมื่อใดมารทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้น ก็จะทำลายล้างสภาวธรรมที่ดีคือบุญกุศล หรือศีลสมาธิที่มีอยู่ให้เสื่อมไป และเป็นสิ่งที่กั้นกลางขัดขวาง ศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค อริยผล ไม่ให้เกิดขึ้น เหตุนั้นท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป ให้มีเผลอน้อย ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้มารได้ช่องได้โอกาส เข้าแทรกแซงหรือทำลายล้างคุณงามความดีของเรา…
No comments:
Post a Comment