Thursday, July 18, 2013

กิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ

กิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ

สำหรับวันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่องกิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อประกอบการปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะของพวกเราทั้งหลาย ก็เพื่อดำเนินไปสู่ปฏิปทาความพ้นทุกข์ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่บางครั้งกิเลสได้โอกาส เพราะเราขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ กิเลสอาจเข้าแทรกในจิตของเรา ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราหวนระลึกกลับหลัง หรือถอยหลังเข้าคลองได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมะก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นจึงจะได้นำเอาเรื่องกิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อจะได้สดับตรับฟังพอเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติ ปฏิบัติธรรม
กิเลสที่ทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำนั้น มีดังนี้คือ

๑. โลภกิเลส คือเมื่อโลภะเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้สมหวัง ก็จะทำให้หมดอาลัยหมดหวังในการปฏิบัติ คิดว่าชาตินี้หรือปีนี้เราคงได้แค่นี้เท่านั้น คงหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว ทำไปก็คงไม่ได้อะไรอีก เลยทำให้เกิดความท้อแท้ เกียจคร้าน ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ ทำให้กลุ้มใจ เลิกการปฏิบัติ หรือมิฉะนั้นก็ลดเวลาปฏิบัติลง โดยคิดว่า หมดหนทางแล้วเรา เลยลืมพุทธพจน์ที่ได้ท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียรหรือที่ว่า ความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ความเพียรแม้เทวดาก็ไม่สามารถ
พยากรณ์ได้ พุทธพจน์ที่ดีๆ ที่เคยท่องได้จำได้จนขึ้นใจ ทำให้ลืมไปหมด เลยคิดแต่จะหวนกลับถอยหลัง อันนี้เป็นลักษณะของโลภะที่เกิดขึ้นมา

๒. โทสะ ตัวโทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติ ในเพื่อนปฏิบัติร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ที่อาศัย ในอาหาร ในครูบาอาจารย์เป็นต้น เลยให้คิดแส่ไปว่า ออกจากนี้ เราจะไปปฏิบัติที่โน้นที่นั้นดีกว่า คงจะดีกว่าที่นี้ ในที่นี้คงจะหมดแค่นี้เท่านั้น อะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของโทสะ

๓. โมหะ ตัวโมหะนี้ทำให้มืดมนอนธการ ทำให้มืดบอดเหมือนหมู่เมฆที่ปิดบังสุริยแสง ทำให้มืดครึ้มฉะนั้น ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาธรรมะ อันเป็นมรรคาที่จะนำไปสู่อริยมรรคอริยผลได้ ทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี กลับกันเหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเห็นรูปนาม เป็นนิจจังคือเที่ยง เห็นรูปนามเป็นสุขัง คือ เป็นสุข เห็นรูปนามเป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เห็นรูปนามเป็นสุภะคือเป็นของสวยของงาม ทำให้เกิดจิตวิปลาสคือคิดผิด ทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาสคือเห็นผิด ทำให้เกิดสัญญาวิปลาสคือจำผิด ทำให้เกิดญาณวิปลาสคือ รู้ผิดเป็นต้น

๔. มานะ ตัวมานะนี้ถ้าเกิดขึ้นก็จะทำให้เรา สำคัญตัวว่าอยู่ในฐานะนั้นฐานะนี้ ทำให้สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าดีกว่าเขา ก็ทำให้มีปมเขื่อง พองตัวตีค่าตัวว่า เราก็คนหนึ่งละ คนอื่นสู้เราไม่ได้ ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเสมอเขา ก็ทำให้ไม่สบายใจ เพราะมีคู่แข่ง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลวกว่าเขาก็จะทำให้เกิดโทมนัส เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ ผลก็คือทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล

๕. ทิฏฐิ ตัวทิฏฐิก็จะทำให้เราเข้าใจผิดจากกฎของธรรมชาติเห็นผิดต่อการปฏิบัติ เห็นผิดต่อผลของการปฏิบัติ เป็นคนเห็นผิดขาดเหตุผล ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี เหมือนกับข้าราชการตำรวจคนหนึ่งที่ลามาบวช เดินจงกรมนั่งสมาธิไป ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนเดินจงกรมถึงระยะ ๖ ตอนนั้นครูบาอาจารย์ก็อยู่ใกล้ชิด ก็ขอร้องว่า เดี๋ยวนี้ก็ใกล้จะหมดเวลาปฏิบัติแล้ว อีกไม่กี่วันก็จะเลิก ขอให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็ขอร้องเป็นพิเศษ พอดีคืนนั้นก็ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ พอปฏิบัติไปสภาวะเกิดขึ้นมา ทิฏฐิมันหายไป จนถึงกับร้องห่มร้องไห้ว่า ผมนี้เสียเวลามาตั้งนาน เข้าใจผิดมาตั้งนานคิดว่าผลการปฏิบัตินี้ไม่มี เมื่อก่อนโน้นหลวงพ่อไม่เตือนผมเลย ทั้งๆ ที่เราเตือนทุกวันนั่นแหละ แต่เขาไม่เอาใจใส่ ทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญที่ขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล เป็นตัวที่ทำให้กำลังใจตก การปฏิบัติถอยหลัง

๖. วิจิกิจฉา ตัววิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราเกิดความสงสัยในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้ามีใครไปรู้มา มรรคผลนิพพานมีจริงหรือ ถ้ามีใครบ้างได้บรรลุ บรรลุแล้วเป็นอย่างไร นรก เปรต อสุรกาย ภูตผีปีศาจ เทวดา มารพรหม มีจริงหรือ ถ้ามีใครไปเห็นมา โลกหน้ามีจริงหรือ ถ้ามีจริงไม่เห็นมีใครมาบอก คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิดไม่เห็นมีใครจำชาติได้ ระลึกชาติก่อนได้ อะไรทำนองนี้ เจ้าตัววิจิกิจฉานี้ มันทำให้เกิดความสงสัยไปหมด
๗. ถีนะ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่ทำให้ท้อแท้ใจ ทำให้ติดอยู่กับการหลับการนอน การเอนข้างเอนหลัง ทำให้ง่วงงุน ทำให้เคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาหาวนอน จะเดินจะนั่ง จะกำหนดอิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อยไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง ตกลงก็เลยถูกถีนะนี้ผลักหัวลง ปลงอธิษฐานว่า นิทราดีกว่าเรา ตอนเช้า เราตื่นขึ้นแต่ดึกๆ ก็แล้วกัน แต่เมื่อถึงคราวจะตื่นขึ้นทำความเพียรในตอนเช้า กลับบอกว่า เอาอีกหน่อยๆ อีกหน่อยค่อยลุกขึ้นไม่เป็นไร ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวให้การปฏิบัติถอยหลัง

๘. อุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้ เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตของเราฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีตอนาคต เมื่อก่อนยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกรรมฐาน เจ้ากิเลสตัวนี้ก็จะทำประจบประแจง อยากให้มาบวชอยากให้มาปฏิบัติ แต่พอเข้ามาปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติของเราจะพ้นจากอำนาจของมัน มันก็จะดั้นด้นเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้คิดบางทีเรื่องนี้คิดยังไม่จบ ก็เอาเรื่องใหม่มาให้เราคิดต่ออีกแล้ว บางทีหนักๆ เข้ามันก็ทำเหมือนเรามีใจ ๒ ดวง ดวงหนึ่งบริกรรมว่าพุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอเป็นต้น อีกดวงหนึ่ง ทำให้เราคิดเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง หรือดวงหนึ่งถามปัญหา อีกดวงหนึ่งวิสัชนาปัญหา หนักๆ เข้าจะกำหนดจิตว่าคิดหนอๆ มันก็กระซิบว่าไม่ต้องกำหนด ปล่อยให้มันคิดไปลองดูมันจะคิดไปถึงไหน ผลสุดท้ายชะล่าใจก็เลยปล่อยใจจิตใจนี้ฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของมัน เจ้าตัวอุทธัจจะนี้ร้ายกาจมาก มันทำให้เราไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติ ไม่ได้วิปัสสนาญาณ คือวิปัสสนาญาณไม่เกิด ก็เพราะไม่มีสมาธิเป็นเครื่องรองรับ มัวแต่คิดไปตามอำนาจของอุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้นอกจากจะทำให้เสียผลดังกล่าวมาแล้ว ยังทำให้เกิดโรคความดันสูง โรคเส้นประสาท โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจอ่อน โรคลมบ้าหมู เป็นต้น นอกจากนี้ ทำให้เกิดวิปลาส ทำให้เกิดประสาทหลอน บางทีก็ทำให้เห็นพระนิพพานอยู่ใกล้ๆ จะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ให้ได้ เลยเอามีดเชือดคอตัวเองตาย กินยาตาย แล้วจะไปนิพพานให้ได้ ผลก็คือเป็นบาปตกอเวจีมหานรก กล่าวได้ว่าที่ทำกรรมฐานไม่สำเร็จ ก็เพราะเจ้าตัวนี้เป็นตัวสำคัญเบอร์ ๑ เหตุนั้นขอให้ท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พึงสังวร พึงระวัง ก็ลองพิจารณาดูว่า เหมือนกับหลวงพ่อกล่าวมาหรือไม่เพราะตัวนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้คิดมาก เดินจงกรมอยู่ก็คิดนั่งอยู่ ก็คิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ เมื่อเรามัวแต่คิดๆ แล้ว จิตก็พรากจากสมาธิๆ ไม่มีสมาธิ เมื่อ
ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ

๙. และ ๑๐. อหิริกะ กับ อโนตตัปปะ สำหรับตัวอหิริกะกับอโนตตัปปะนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะทำให้จิตของเรา ไม่ละอายบาปไม่กลัวบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งๆ บางทีเราก็รู้อยู่ว่า ทำอย่างนี้พูดอย่างนี้คิดอย่างนี้มันผิด ไม่สมควรกับเพศภูมิหรือฐานะของเราผิดศีลผิดธรรม ผิดกฎหมายผิดกฎกติกา เป็นต้น แต่เจ้าอหิริกะหรืออโนตตัปปะนี้ มันก็จะมากระซิบว่า ไม่เป็นไรครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าผิดศีลเราก็ปลงอาบัติเอาก็ได้ หรืออยู่ปริวาสกรรมก็ได้ อะไรทำนองนี้มันกระซิบขึ้นมา ผลสุดท้ายก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัน อหิริกะ และอโนตตัปปะนี้ เมื่อเกิดขึ้นอย่างแรงกล้าแล้ว มันจะพาทำบาปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อย่างเบาถึงอย่างหนัก สามารถที่จะต้องอาบัติได้ ตั้งแต่อาบัติเบา จนถึงที่สุด

สรุปความว่าที่เราปฏิบัติพระกรรมฐาน ไม่ได้ดี ไม่ถึงดี หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เพราะกิเลสหรือเพื่อนชั่วทั้ง ๑๐ ประการนี้ ชักจูงจิตใจเรา ให้ตกไปในฝ่ายต่ำอยู่เสมอ ทำให้ขาดความตั้งใจที่ตั้งใจไว้เดิมทำให้ขาดทมะความข่มใจ ขาดขันติความอดทน ขาดฉันทะความพอใจ ขาดวิริยะความเพียร ขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาเป็นต้น เลยเสียทั้งทุน สูญทั้งกำไร กว่าจะรู้ตัวได้ เราก็ถูกมันทำลายเสียอย่างยับเยินแล้ว นั้นขอให้ท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้มีการสำเหนียกพิจารณาได้ตั้งใจใหม่ว่าขณะนี้เวลาก็ยังมีอีกมาก หลวงพ่อคิดว่า ยังไม่สายจนเกินแก้ หากว่าเรารู้ตัวว่าเราตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หรือว่าถูกกิเลส ทั้ง ๑๐ ตัวนี้ ชักพาหรือนำพาจิตใจของเราให้ตกไปในฝ่ายต่ำถ้าว่าเรารู้อย่างนี้ ได้สติอย่างนี้ ก็คิดว่ายังไม่สายเกินแก้ เพราะยังอีกหลายวันกว่าจะถึงวันมหาปวารณา หากว่าเราขะมักเขม้นตั้งใจทำคงจะมีทางผ่านการปฏิบัติไปได้ไม่มากก็น้อย หลวงพ่อคิดว่าเราควรจะคิดสู้กับมันบ้างเพราะขณะนี้ กองสนับสนุน กองเสบียงของเรา ก็ถวายการอุปการะอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจเมตตาธรรมของท่านครูบาอาจารย์และนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สายธารศรัทธาก็หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศมิได้ขาด ควรที่เราจะได้ปลื้มใจดีใจในสายธารศรัทธาและปลงธรรมสังเวชว่า ถึงอย่างไรๆ เราก็จะทำให้ ภัตตาหารที่มีผู้ถวายมานี้ เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอริยบุคคลให้จงได้ ขอให้เราคิดดังนี้ จิตใจของเราก็จะได้เกิดอุตสาหะพยายาม ในการประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไป ดังพระรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติในภาคฤดูหนาว ตอนนั้นเวลาปฏิบัติไป ญาติโยมทำวัตรเช้าวัตรเย็น ถึงบทสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร ก็ได้พรรณนาไปถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่น ควรเคารพนับถือ กราบไหว้สักการะ สัมมานะ ควรรับทักษิณาทานของผู้อื่น พระรูปนั้นก็พิจารณาว่า เรานี้บวชมาในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมะครั้งนี้ เราก็ยังไม่อยู่ในขั้นที่ว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีเต็มที่ ยังไม่สมควรที่คนทั้งหลายจะเคารพยกย่องสรรเสริญ การปฏิบัติของเรายังไม่ได้บรรลุสามัญญผลขั้นใดเลย ถ้าคิดให้ดีๆ เรายังไม่สมควรที่จะรับ
ภัตตาหารของเขา เมื่อคิดอย่างนี้แล้วก็ปลีกตัวออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว พยายามตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากรรมฐานไม่นานก็สามารถทำความประสงค์ของ ตนให้สำเร็จได้ เข้ามาหาหลวงพ่อว่า บัดนี้ผมดีใจภูมิใจในการประพฤติปฏิบัติแล้ว แกก็เล่าสภาวะที่ปฏิบัติมาทั้งหมดให้ฟัง

นี้แลท่านทั้งหลาย ความเพียรนี้แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ บางทีเทวดาพยากรณ์ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่เป็นไปตามนั้น ดังมีเรื่องของพระราชาที่ส่งราชบุรุษไปถามพระฤาษีว่าการรบกันครั้งนี้ใครจะ แพ้ใครจะชนะพระฤาษีก็พยากรณ์ว่าฝ่ายโน้นจะชนะ ฝ่ายพระราชานี้จะแพ้ ที่พยากรณ์อย่างนี้ก็เพราะว่ามีเทวดามาบอก ราชบุรุษนั้นก็นำความไปกราบทูลพระราชา เมื่อพระราชาทราบแล้วก็เกิดฮึดสู้ มันจะแพ้จริงก็ให้มันรู้ไป ปลุกระดมเหล่าทัพทั้งหลายให้ปรองดองสามัคคีกัน จะตายก็ขอให้ตายอย่างสมเกียรติ จะไม่ยอมทิ้งบ้านเมืองไปเป็นอันขาด ผลสุดท้ายพระราชาพร้อมทั้งบริวารก็ได้รับชัยชนะ อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าอย่าได้น้อยใจอย่าได้ท้อถอย หากท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในอิทธิบาทธรรม ๔ ประการ ดังที่เคยบรรยายให้ฟังว่า เราต้องมีฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติ มีวิริยะ แข็งใจในการปฏิบัติ มีจิตตะตั้งใจในการปฏิบัติ มีวิมังสาฉลาดในการปฏิบัติ เมื่อใดเราตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ การประพฤติปฏิบัติของเรา ก็สามารถจะบรรลุสามัญญผล สมกับความที่เราตั้งใจไว้เดิม…

ที่มาของบทความ....
http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=198:2009-12-17-21-08-04&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131

No comments:

Post a Comment