Thursday, July 18, 2013

การเจริญภาวนา

การเจริญภาวนานั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สมถภาวนา ภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ภาวนาประเภทนี้ไม่เกี่ยวด้วยปัญญาเพียงแต่ว่าต้องการที่จะทำใจให้สงบเป็น สมาธิเท่านั้น อารมณ์ของสมถภาวนาตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีอยู่ ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกรรมฐาน ๔
ก็แลในกรรมฐาน ๔๐ ประการนั้น มีนิมิต ๓ อย่าง มีภาวนา ๓ อย่าง นิมิต ๓ คือ บริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม อุคคหนิมิต นิมิตติดตา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียง บริกรรมนิมิตกับอุคคหนิมิต ๒ อย่างนี้ ได้ทั่วไปในกรรมฐานทั้งสิ้น แต่ปฏิภาคนิมิตนี้ ได้เฉพาะกรรมฐาน ๒๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑
ภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา บริกรรมภาวนานั้นได้ทั่วไปในกรรมฐานทั้งสิ้น อุปจารภาวนาได้เฉพาะกรรมฐาน ๑๐ ประการคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณัสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนา หรืออุปจารฌานเท่านั้น เพราะว่ากรรมฐานเหล่านี้เป็นกรรมฐานที่สุขุมละเอียดยิ่งนัก ไม่ปรากฎชัดได้ จิตและเจตสิกไม่สามารถแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน จึงให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น ส่วนอัปปนาภาวนานั้น ได้ในกรรมฐาน ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกรรมฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จตลอดถึงอัปปนาภาวนา เพราะเหตุใด เพราะกรรมฐานเหล่านี้อารมณ์ปรากฎชัด อันจิตและเจตสิกเข้าไปแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน
กรรมฐาน ๓๐ ประการ อันจะให้สำเร็จถึงอัปปนาภาวนา จะมีอานุภาพเสมอกันก็หาไม่
อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ รวม ๑๑ ประการนี้ ให้สำเร็จเพียง รูปาวจรปฐมฌานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เว้นแต่ท่านผู้ใดมีสติปัญญา เมื่อเจริญอสุภะกรรมฐานหรือกายคตาสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจริญไปๆ ถ้ามีสีปรากฏชัดขึ้นมา เช่น มีสีแดง สีขาว สีเขียว เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา หลังจากนั้นเราเอาสีนั้นมาบริกรรมเป็นกสิณ ก็สามารถให้สำเร็จถึงจตุตถฌานได้ แต่ถ้าเราบริกรรมแค่อสุภะหรือกายคตาสติอย่างเดียวก็ให้สำเร็จเพียงปฐมฌาน เท่านั้น
สำหรับพรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มีอานุภาพให้สำเร็จตั้งแต่ปฐมฌานถึงจตุตถฌาน (ว่าตามปัญจกนัย ถ้าตามจตุกนนัยก็ถึงตติยฌาน แต่ว่าโดยองค์ฌานแล้วมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน)
สำหรับอุเบกขาพรหมวิหาร มีอานุภาพให้สำเร็จได้เพียงแต่รูปาวจรจตุตถฌานหรือรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียว
สำหรับอรูปกรรมฐาน ๔ ก็ให้สำเร็จเพียงอรูปฌาน ๔ เท่านั้น หมายความว่า อรูปกรรมฐานที่ ๑ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ อรูปกรรมฐานที่ ๒ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ อรูปกรรมฐานที่ ๓ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ อรูปกรรมฐานที่ ๔ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ โดยเฉพาะๆ สลับกันไม่ได้
รวมกรรมฐานที่ให้สำเร็จรูปาวจรฌานมี ๒๖ และให้สำเร็จอรูปาวจรฌานมี ๔ เป็น ๓๐ ประการที่ให้สำเร็จอัปปนาภาวนา เหลือจากนั้นให้สำเร็จอุปจารภาวนาหรืออุปจารฌานเท่านั้น
อานิสงส์ของการเจริญสมถภาวนา เมื่อเราเจริญให้ยิ่งให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถให้สำเร็จ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และก็เป็นเหตุให้เกิดคุณสมบัติขึ้นมา เช่นว่าให้สำเร็จซึ่งวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อีกด้วย

๒. วิปัสสนาภาวนา ภาวนาเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ต้องใช้ปัญญา ต้องให้เกิดปัญญาทันรูป ทันนาม ทันปัจจุบัน เห็นไตรลักษณ์เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าเจริญไปๆ เท่าไรก็ตาม สติสัมปชัญญะของเราไม่ทันปัจจุบันไม่ทันรูปทันนาม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้อริยสัจ ๔ แม้เจริญเท่าไรก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา อารมณ์ที่ใช้เจริญวิปัสสนาภาวนาคือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ แต่เมื่อสรุปแล้วก็ได้แก่รูปกับนามนั่นเอง ย่นเข้าในการปฏิบัติ ก็ได้แก่ อาการพอง อาการยุบ เป็นต้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา
อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ คือสิ่งใดเป็นอยู่ก็สามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามธรรมชาตินั้น เช่นรู้สังขารทั้งหลายที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี ว่าสังขารเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ดับไป เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้แล้วดับไป เป็นต้น
การรู้สภาวธรรมของธรรมชาตินั้นมีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ อย่างต่ำที่สุดย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ไม่ให้พวกเราทั้งหลายหลงใหลอยู่ในสมมติบัญญัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้มานะทิฏฐิลดน้อยลงไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทานลดน้อยลงไป หรืออ่อนกำลังลงไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผลชั้นใดเลย นี้เป็นอย่างต่ำ อย่างสูงย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติ สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะมีความข้องใจสงสัยอยู่ว่าบัดนี้พระศาสนาก็ล่วงเลยมาตั้ง สองพันกว่าปีแล้ว ยังจะมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ยังจะมีพระอรหันต์อยู่อีกหรือ อาจจะสงสัยอย่างนี้ก็ได้ ข้อนี้ขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ ถึง ๑๑๒ บรรทัดที่ ๒๑ และบรรทัดที่ ๑ ที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า
ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๑ เป็นยุคของพระอรหันต์ ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาหนึ่งพันปี ในช่วงหนึ่งพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว หากว่าเราได้สั่งสมบุญกุศลไว้ในปุเรชาติก็สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ 

๔ ด้วย ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นั้นคือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในการกล่าวธรรมนิรุตติ
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสองพันปี ในช่วงสองพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถที่จะยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แล้วในชาติปางก่อน คือสามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ สามารถได้หูทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ มีตาทิพย์ รู้วิธีที่จะทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ นี้ สามารถเกิดขึ้นได้
เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ หมายความว่าพระศาสนาล่วงเลยมาถึงสามพันปี ในช่วงสามพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้ วิชชา ๓ นั้นคือ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นว่าผู้นี้เขามาเกิดที่ นี้ด้วยบุญกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนก็รู้ได้ และอาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้เคยสั่งสม อบรมบารมีมาในภพก่อนชาติก่อนมาแล้ว คือเคยตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สาธุ ด้วยอานิสงส์บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอบรมไว้นี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสำเร็จวิชชา ๓ ในอนาคตกาลข้างหน้าเถิด เหมือนดังหลวงพ่อพากล่าวคำบูชาอธิษฐานจิต ในวันอาสาฬหบูชานั้นว่าด้วยบุญกุศลที่ทำการบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในวัน อาสาฬหปุณณมีครั้งนี้ ขอจงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุซึ่งสมาธิ สมาบัติ ให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ มโนมยิทธิ อย่างนี้ เรียกว่าเราได้สั่งสมอบรมบารมีไว้ ถ้าว่าในภพก่อนชาติก่อน เราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในภพก่อนชาติก่อนไม่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้เลย ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบุญกรรมหรือกุศลกรรม ที่เราได้สั่งสมอบรมไว้
สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสี่พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็สำเร็จโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงทำลายความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานให้หมดไปจากขันธสันดานเท่านั้น เรียกว่าบรรลุโดยแห้งแล้ง
ปาติโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ ช่วงพันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงห้าพันปีนี้ แม้ว่าเราจะทำความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ อย่างสูงเพียงแต่ได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น
เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย หากว่าเข้าใจผิดมา ก็ขอให้กลับจิตกลับใจเสียใหม่ ผลของการปฏิบัตินั้น หากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ ผลก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ดุจเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปลูก พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืช ก็จะผลิดอกออกผลมาให้เราเชยชมได้ ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หากว่าเรานั้นมีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริง ย่อมมีผลตามมาเป็นธรรมดา เพราะธรรมดาเป็นมาอย่างนี้
อนึ่ง การเจริญภาวนาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน คือสำนักหนึ่งก็ภาวนาไปอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกุสโลบายของอาจารย์ท่านผู้สอนคือ

บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมพุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวาๆ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ หายใจออกภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า นั่งหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ถูกหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า กระทบหนอๆ
บางสำนักท้องพองขึ้นภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ
บางสำนักภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
บางสำนักยกมือไปยกมือมาภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนักหายใจเข้าหายใจออกนั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร
ส่วนการเดินจงกรมนั้นก็ไม่เหมือนกัน
บางสำนักเวลาเดินจงกรมภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนักภาวนาว่า ไหว นิ่งๆ
บางสำนักกำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก ถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสำนักไหนผิดเลย คือหมายความว่าการภาวนานั้น เราภาวนาต้องการที่จะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถภาวนาหรือสมถกรรมฐาน แต่ถ้าเราภาวนาหรือบริกรรมเพื่อจะทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะให้รู้แจ้งซึ่งสภาวธรรมหรือสิ่งที่ตนภาวนานั้น เช่น เรากำหนดท้องพองท้องยุบ ท้องพองขึ้นมา ภาวนาว่า พุทโธ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า พุทโธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่าพองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่ายุบหนอ เราต้องการจะรู้ว่าต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบเป็นอย่างไร สุดยุบเป็นอย่างไร เราสำเหนียกในใจให้รู้สภาวะความเป็นจริงในอารมณ์กรรมฐานที่ตนบริกรรมหรือฝึก ภาวนานั้น ก็ถูกแบบวิปัสสนากรรมฐาน
การเจริญกรรมฐานนั้นถ้าเราใช้เพียงขั้นบริกรรม ก็เป็นสมถภาวนาสมถกรรมฐาน คือเพียงบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ก็ถูกแบบสมถภาวนา แต่ถ้าเราใช้วิธีกำหนด เช่นในเวลาเดิน เราภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ก็กำหนดรู้ไปด้วยว่าเริ่มยกเป็นอย่างไร เหวี่ยงเท้าไปเป็นอย่างไร เหยียบลงเป็นอย่างไร ขาไหนหนัก ขาไหนเบา ในเวลานั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ก็กำหนดรู้อาการพองอาการยุบว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไรเรากำหนดรู้ตามอาการของมัน ถ้าใช้วิธีกำหนดแบบนี้ก็ถูกตามแบบวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน
แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่าการบริกรรมก็ดี การกำหนดก็ดี เราไม่เอา เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ รอการเกิดขึ้นของมรรคผล พระนิพพานต่างหาก อุปมาเหมือนกับเราต้องการจะดื่มเครื่องดื่มสักขวด เราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้วก็เปิดดื่มแต่น้ำเท่านั้นขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราจะใช้บริกรรมหรือกำหนดบทไหนก็ตาม เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานเท่านั้น เมื่อสมาธิ สมาบัติมรรคผล พระนิพพานเกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือภาวนานั้นเราก็ทิ้งไป เราเอาสมาธิ เอามรรคผล เอานิพพานต่างหาก
และขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุไรการบริกรรมการภาวนานั้นจึงมีมาก เพราะเหตุว่าธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมี มาก คือมีถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ดังนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติใครจะเอาที่ไหนๆ มาบริกรรม มาภาวนา มากำหนดได้ทั้งนั้น ใครจะบริกรรมอย่างไร ภาวนาอย่างไร หรือกำหนดอย่างไรก็ตาม ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลายที่ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น ผู้ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน ผู้ทำไร่ก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน พวกเสริมสวยก็ต้องการเงิน พวกเลี้ยงสัตว์ก็ต้องการเงิน ผู้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน พวกเดินรถก็ต้องการเงินผู้เป็นข้าราชการก็ต้องการเงิน ผู้ทำมาค้าขายก็ต้องการเงิน หนักๆ เข้า ผู้ที่ไปลัก ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ จับคนไปเรียกค่าไถ่ก็ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินของคนไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการที่จะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือมรรคผลนิพพานทั้งนั้นแต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

ดังนั้นขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ได้เข้าใจหลักการและวิธีการประพฤติปฏิบัติ ในพรรษานี้ขอให้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อสะดวกในการสอบการสอน ถ้ารูปนั้นปฏิบัติอย่างหนึ่ง รูปนี้ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเกรงว่าการปฏิบัติตามแนวที่ทางสำนักนี้ปฏิบัติอยู่จะทำให้สภาวธรรมที่ เราเคยปฏิบัติมานั้นเสื่อมไป ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าเข้าใจผิด หลายๆ องค์ที่มาประพฤติปฏิบัติทั้งๆ ที่ตั้งใจมาอยู่ ตั้งใจมาศึกษา แต่พอมาแล้วทิฏฐิมานะไม่ยอมลด เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมทำตาม ขอให้ภาวนาอย่างที่สำนักนี้ให้ภาวนาก่อนเถิด ออกจากวัดไปแล้วค่อยภาวนาอย่างอื่นไป แต่ก็ไม่ยอม สมมติว่าเคยเพ่งลูกแก้วมาอย่างนี้ ก็อยากเพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่ออยากเพ่งก็เพ่งลูกแก้วนั้นอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่เดินหน้า การสอบ การแนะนำ การสอนก็เป็นไปได้ยาก ไม่เข้ากัน
ความจริงเราไม่ควรที่จะเกรงว่าสภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมาตามแบบของตนจะ เสื่อม ท่านทั้งหลายจะภาวนาหมวดไหนอย่างไรก็ตามก็ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้น ทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญครั้งแรกนี้ เราต้องทำให้ได้ให้ถึงเสียก่อน เมื่อเราเคยได้เคยถึงแล้ว ต่อไปเราจะภาวนาอย่างไรได้ทั้งนั้น สมมติว่าเราเคยภาวนาอย่างนี้แล้วเข้าฌานได้ เคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ได้อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เมื่อเราเคยได้อย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะเข้าสมาธิอีก เราไม่ต้องภาวนาเลย เรานั่งดูวัตถุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ได้ โดยที่สำรวมจิต แล้วนั่งเพ่งถึงวัตถุนั้นๆ จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ เป็นนาฬิกาก็ได้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน หรือไม่อย่างนั้นเราจะใช้คำภาวนาว่าขี้เกียจหนอๆ แต่ที่จริงเราไม่ขี้เกียจ แต่เราใช้คำภาวนาว่าขี้เกียจหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันทั้งนั้น หรือเราจะภาวนาว่าอยากตายหนอๆ แต่เราไม่ได้อยากตาย ใช้เป็นคำภาวนาว่าอยากตายหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน ถ้าเราเคยเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง มาแล้ว เราจะมาเพ่งอะไร ภาวนาว่าอย่างไร เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ได้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ถึงที่เสียก่อน จึงจะทำอย่างนั้นได้ หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึง เราจะมาภาวนาว่าอย่างนี้ไม่ได้
ต่อไปเป็นองค์คุณของผู้ปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติธรรมต้องการที่จะให้การประพฤติปฏิบัติได้ผลเร็วนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้ คือ

๑. สติมา ต้องมีสติ คือสติสมบูรณ์ กำหนดให้ทันปัจจุบัน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบัน

๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้รู้ตัวทุกขณะ เหมือนกับเราเขียนหนังสือสมมติว่า เราจะเขียนตัว “ก” เราก็ต้องรู้ว่าอักษร “ก” มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ก็เขียนไป ในขณะที่เขียน เขียนถูกก็รู้ว่าเขียนถูก เขียนผิดก็รู้ว่าเขียนผิด
๓. อาตาปี มีความเพียร คือมีความหมั่นความขยัน มีฉันทะ พอใจทำกรรมฐาน มีวิริยะ แข็งใจทำกรรมฐาน มีจิตตะ ตั้งใจทำกรรมฐาน มีวิมังสา ฉลาดทำกรรมฐาน

เมื่อท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว และขอรับรองว่าไม่เสียสติ ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ อาจเสียสติเป็นบ้า เสียผู้เสียคนไปก็ได้

ที่มาของบทความ....
http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=199:2009-12-17-21-09-48&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131

No comments:

Post a Comment