Monday, August 19, 2013

ว่าด้วยมีตนเป็นเกาะ

คิลานสูตร
ว่าด้วยมีตนเป็นเกาะ
[๗๐๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้า จำพรรษาในเมืองเวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ) เถิด เราจะเข้า จำพรรษา ณ เวฬุวคามนี้แล ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าจำพรรษา ในเมืองเวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ).              
[๗๐๙] ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษา ณ เวฬุวคาม นั้นแหละ เมื่อพระผู้มี
พระภาคทรงเข้าจำพรรษาแล้ว อาพาธกล้าบังเกิดขึ้น เวทนาอย่างหนักใกล้มรณะเป็นไปอยู่ ได้
ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำรงสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ไม่ทรงพรั่นพรึง
ครั้งนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า การที่เรายังไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ยังไม่อำลาภิกษุสงฆ์ แล้ว
ปรินิพพานเสียนั้น หาสมควรแก่เราไม่ ไฉนหนอ เราพึงขับไล่อาพาธนี้เสียด้วยความเพียร แล้ว
ดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระประชวรนั้นด้วยความเพียร แล้วทรง
ดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระประชวรแล้ว ทรงหายจากความไข้
ไม่นาน ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ในร่มแห่งวิหาร.
             
[๗๑๐] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรงอดทน ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรง
ยังอัตภาพให้เป็นไป กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้า
พระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะความประชวรของพระผู้มีพระภาค
แต่ข้าพระองค์มาเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัส
พระพุทธพจน์อันใดอันหนึ่ง จักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์
ก็บัดนี้ ภิกษุสงฆ์จะยังมาหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราแสดงแล้วกระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้
มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดพึงมีความดำริฉะนี้ว่า เราจัก
บริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ยังมีตัวเราเป็นที่เชิดชู ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าว
คำอันใดอันหนึ่งแน่นอน ดูกรอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์
หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่เชิดชู ดังนี้ ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่ง
ทำไมอีกเล่า บัดนี้เราก็แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว
เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ก็เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ยังเป็นไปได้ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมแล้วด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น.
             
[๗๑๑] ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำ
ไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก
เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จง
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.
             
[๗๑๒] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา
เห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล.
             
[๗๑๓] ดูกรอานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็น
ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ.
จบ สูตรที่ ๙
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๔๐๙๒ - ๔๑๓๕. หน้าที่ ๑๗๑ - ๑๗๒.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=4092&Z=4135&pagebreak=0http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=4092&Z=4135&pagebreak=0

นิวรณ์ 5

                                    
                                                                นิวรณ์๕

นิวรณ์ 5 หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ
1.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ 
 ความยินดี พอใจในรูป 
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ 
รวมทั้งความคิดอันเกี่ยว
เนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น 
ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)
2. พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
3. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน 
ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน
 แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ
ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย 
ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป
ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ
 เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ 
 หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป
 มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)
4. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ
อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน 
เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที
ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต 
ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ 
ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
 หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ 
สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น
นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น
 เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ
นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น 
สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย 
ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง 
ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 
นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง 
เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน