Sunday, June 9, 2013

อัคคัญญสุตร แสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่เกิดมีสัตว์ จนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก จึงจำเป็นต้องมีการปกครอง และการประกอบอาชีพ ฯ.

อัคคัญญสูตร

พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๑

             ทรงแสดงอัคคัญญสูตรแก่สามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์  ทรงคัดค้านคำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ ที่ถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด และถือว่ามีชาติกำเนิดอันเกิดแต่พรหมหรือเทพไท้เทวา และนำมาเป็นเครื่องตัดสินความประเสริฐและความต่ำทรามของมนุษย์
             ทรงแสดงให้เห็นว่าความประเสริฐหรือต่ำทรามนั้นอยู่ที่ความประพฤติ โดยมีธรรมเป็นเครื่องตัดสิน  คนวรรณะต่างๆ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมชื่อว่า เป็นผู้เกิดจากธรรมเสมอกันหมด
             
แล้วทรงแสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่เกิดมีสัตว์ขึ้นในโลก แล้วเปลี่ยนแปลงตามลำดับด้วยกิเลสต่างๆเป็นปัจจัย ด้วยความเชื่อที่ประกอบด้วยอวิชชา จนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก เกิดความจำเป็นต้องมีการปกครอง และมีการประกอบอาชีพ การงานต่างๆกัน วรรณะทั้งสี่ก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องของพรหมที่สร้างสรรค์ขึ้น  แต่เกิดจากธรรม (ธรรมดา, กฎธรรมชาติ)  ท่านกล่าวว่า ทุกวรรณะประพฤติชั่วก็ไปอบายได้ ปฏิบัติธรรมก็บรรลุนิพพานได้
             ธรรมจึงเป็นเครื่องตัดสิน และธรรมเป็นของประเสริฐสูงสุด  ผู้ที่สิ้น
อาสวะกิเลส
แล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในวรรณะทั้งสี่ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ในบรรดาเทวะและมนุษย์ทั้งปวง
๔. อัคคัญญสูตร
             [๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาท ของนางวิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล วาเสฏฐสามเณรกับภารทวาชสามเณร เมื่อจำนงความเป็นภิกษุอยู่ อยู่อบรมในสำนักภิกษุ ทั้งหลาย เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจาก ปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท วาเสฏฐสามเณรได้เห็น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาทกำลังเสด็จจงกรม อยู่ในที่แจ้ง ในร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น ครั้นแล้วจึงเรียกภารทวาชสามเณรมา พูดว่า ดูกรภารทวาชะผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลา เย็น เสด็จลงจากปราสาททรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท เรามาไปกัน เถิด พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางทีเราจะได้ฟังธรรมีกถา เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์บ้างเป็นแม่นมั่น ส่วนภารทวาชสามเณรรับคำของ วาเสฏฐสามเณรแล้ว ทันใดนั้น วาเสฏฐสามเณรกับภารทวาชสามเณร พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ชวนกันเดินตามเสด็จพระองค์ผู้กำลังเสด็จจงกรมอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกวาเสฏฐสามเณรมาแล้วตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสอง มีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ไม่ด่าว่าเธอทั้งสองบ้างดอกหรือ ฯ
             สามเณรทั้งสองนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้ง ๒ ด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลย     พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อไปว่า ก็พวกพราหมณ์พากันด่าว่าเธอ ทั้งสองด้วยถ้อยคำอันเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนอย่างไรเล่า     สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันว่า อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่  พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุดเสียแล้ว ไปเข้ารีดวรรณะ ที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละพวกที่ประเสริฐที่สุดใดเสีย ไปเข้ารีดวรรณะเลวทราม คือพวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้งสองด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยาม อย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลยอย่างนี้แล
            พระองค์จึงตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ     พวกพราหมณระลึกถึงเรื่องเก่าของพวกเขาไม่ได้ จึงพากันพูดอย่างนี้(ว่า) พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้     ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฏอยู่แล คือ นางพราหมณีทั้งหลายของพวกพราหมณ์ มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนมอยู่บ้าง  อันที่จริง พวกพราหมณ์เหล่านั้น ก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น (แต่)พากันอวดอ้างอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็น วรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม  เขาเหล่านั้นกล่าวตู่พรหม และพูดเท็จ ก็จะประสบแต่บาปเป็นอันมาก ฯ
             [๕๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   วรรณะเหล่านี้ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์  ศูทร   ก็กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ   ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน  อกุศลธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   แมพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ....ฯลฯ
             แมแพศยบางคนในโลกนี้ ....ฯลฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในศูทร บางคนในโลกนี้ ฯ
             [๕๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   ฝ่ายกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจาก การประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด ส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรม ไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม ควรนับว่าเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ...ฯลฯ
แมแพศย์บางคน ในโลกนี้ ...ฯลฯ
แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ...ฯลฯ ไม่ ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มี โทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม นับว่า ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในศูทรบางคนในโลกนี้
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   ก็เมื่อวรรณะ ทั้งสี่เหล่านี้แล รวมเป็นบุคคลสองจำพวก คือพวกที่ตั้งอยู่ในธรรมดำ วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง   พวกที่ตั้งอยู่ในธรรมขาววิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง เช่นนี้   ไฉนพวกพราหมณ์จึงพากันอวดอ้างอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พวกพราหมณ์เป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่  พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้เล่า   ท่านผู้รู้ ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพวกเขา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ   เพราะว่าบรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น  ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสและ อาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสียแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว  สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยชอบธรรมแท้  มิได้ปรากฏโดยไม่ชอบธรรมเลย  ด้วยว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน  ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่  ทั้งในเวลาภายหน้า
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   โดยบรรยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน  ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่  ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
             [๕๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงทราบ แน่ชัดว่า พระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยมได้ทรงผนวชจากศากยตระกูล ดังนี้
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ  ก็พวกศากยตระกูลยังต้องเป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าปัสเสนทิโกศลอยู่ทุกๆขณะ  และพวกเจ้าศากยะต้องทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมในพระเจ้าปัสเสนทิโกศลอยู่
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล พวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันใดอยู่ในพระเจ้าปัสเสนทิโกศล
แต่ถึงกระนั้น กิริยาที่นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมอันนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็ยังทรงกระทำอยู่ในตถาคต ด้วยทรงถือว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีพระชาติสูง เรา(หมายถึงพระเจ้าปัสเสนทิโกศลเอง)มีชาติต่ำกว่า  พระสมณโคดมเป็นผู้มีพระกำลัง เรามีกำลังน้อยกว่า  พระสมณโคดมเป็นผู้มีคุณน่าเลื่อมใส เรามีคุณน่าเลื่อมใสน้อยกว่า  พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเป็นผู้ต่ำศักดิ์กว่า ดังนี้   แต่ที่แท้ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพระธรรมนั้นเทียว พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม กราบ ไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในตถาคตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้  
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยปริยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน  ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่  ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
             [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   เธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต   เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็นพวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ (อัน)เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค  เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม  เป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้น  เป็นผู้รับมรดกพระธรรม  ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี  ว่าพรหมกายก็ดี  ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี  เป็นชื่อของตถาคต ฯ
             [๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ   มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ  เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน      ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ  มีสมัยบางครั้ง บางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ใน อากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละ สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลาง คืนก็ยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏ เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่านั้น     ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน  ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้ง เล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลนพูดว่า ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย นี่จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู  เมื่อเขาเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น  ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างสัตว์นั้น เอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลอง ลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น   ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆด้วยมือแล้วบริโภค   ดูกรเสฏฐะ และภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือ แล้วบริโภคอยู่นั้น เมื่อรัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง และกึ่งเดือนปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ   ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นมาอีก ฯ
             [๕๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้นมัวเพลินบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดิน เป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นพากันดูหมิ่น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็หายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงพากันจับกลุ่ม ครั้นแล้ว ต่างก็บ่นถึงกันว่า รสดีจริง รสดีจริง ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากได้ของที่มีรสดีอย่างใดอย่างหนึ่ง มักพูดกันอย่างนี้ว่า รสอร่อยแท้ๆ รสอร่อยแท้ๆ ดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ
             [๕๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อง้วนดินของสัตว์ เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีกระบิดินขึ้น กระบิดินนั้นปรากฏลักษณะคล้ายเห็ด กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีเหมือนเนยใส หรือเนยข้นอย่างดีฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคกระบิดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลนาน  
ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้า ขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวก ท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดู หมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป
เมื่อกระบิ ดินหายไปแล้ว ก็เกิดมีเครือดินขึ้น เครือดินนั้นปรากฏคล้ายผลมะพร้าวทีเดียว เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคเครือดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็น อาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามี ผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสอง พวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินก็หายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็พากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็ บ่นถึงกันว่า เครือดินได้เคยมีแก่พวกเราหนอ เดี๋ยวนี้เครือดินของพวกเราได้ สูญหายเสียแล้วหนอ ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมาก พอถูกความ ระทมทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบ ก็มักบ่นกันอย่างนี้ว่า สิ่งของของเราทั้งหลาย ได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งของของเราทั้งหลายได้มาสูญหายเสียแล้วหนอ  ดังนี้ พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ
             [๕๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีข้าวสาลีขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้นนำเอา ข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าเขาพากันไปนำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็นข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกแล้วก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย   ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น พวกสัตว์บริโภคข้าวสาลีที่เกิด ขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ พากันรับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน ก็โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีอันเกิดขึ้น เองอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นการช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่าง กันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฏ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฏ นัยว่า สตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างเพ่งดูกันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัดขึ้น เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแล สัตว์พวกใดเห็นพวกอื่นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับพูดว่า คนชาติชั่ว จงฉิบหาย คนชาติชั่ว จงฉิบหาย ดังนี้ แล้วพูดต่อไปว่า ก็ทำไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำแก่สัตว์เช่นนี้เล่า ข้อที่ว่ามานั้น จึงได้เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่ง คนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่ บ้างโปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในเมื่อเขาจะนำสัตว์ที่ประพฤติชั่วร้ายไปสู่ตะแลงแกง พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น  แต่พวกเขาไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ
             [๖๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารวาชะ ก็สมัยนั้นการโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้น นั้นแล สมมติกันว่าไม่เป็นธรรม  มาในบัดนี้ สมมติกันว่าเป็นธรรมขึ้น  ก็สมัยนั้น สัตว์พวกใด เสพเมถุนกัน สัตว์พวกนั้นเข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง  
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแล สัตว์ทั้งหลายพากันเสพอสัทธรรมนั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่กำบังอสัทธรรมนั้น  ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่ง เกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความ เห็นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลีมา ทั้งในเวลาเย็นสำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวเถิด  ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อแต่นั้นมา สัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้ เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวกัน ฉะนี้แล ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ  ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้นแล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เรา จักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ต่อมา สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์ผู้นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อสองวัน แล้วพูดว่า ได้ยินว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันท่านผู้เจริญ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของ สัตว์นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลี กัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วันแล้ว ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้น ถือตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บ ข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อแปดวัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันท่านผู้ เจริญ เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นพยายามเก็บข้าวสาลีสะสมไว้เพื่อบริโภคกัน ขึ้น เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกแทน ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ (ตั้งแต่นั้นมา) จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ ฯ
             [๖๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพากันมาจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็มาปรับทุกข์กันว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ เกิดมีธรรม ทั้งหลายอันเลวทรามปรากฏขึ้นในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่า เมื่อก่อนพวกเราได้ เป็นผู้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในวิมานนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน บาง ครั้งบางคราวโดยระยะยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยขึ้นบนน้ำ ทั่วไปแก่เราทุกคน ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามปั้นง้วนดินกระทำให้เป็น คำๆ ด้วยมือทั้งสองเพื่อจะบริโภค เมื่อพวกเราทุกคน พยายามปั้นง้วนดินกระ ทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือทั้งสองเพื่อจะบริโภคอยู่ รัศมีกายก็หายไป เมื่อรัศมีกาย หายไปแล้ว ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นแล้ว ดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏขึ้นแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏขึ้น เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏขึ้นแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏขึ้น เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนปรากฏขึ้นแล้ว ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเราทุกคนบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็น อาหารดำรงชีพอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏ ขึ้นแก่พวกเรา ง้วนดินจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว จึงมีกระบิดินปรากฏขึ้น กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนบริโภคกระบิดิน เมื่อพวกเรา ทุกคนบริโภคกระบิดินนั้นอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา กระบิดินจึงหายไป เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว จึงมีเครือดินปรากฏขึ้น เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามบริโภคเครือดิน เมื่อพวกเรา ทุกคนบริโภคเครือดินนั้นอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา เครือดินจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว จึงมีข้าวสาลีปรากฏขึ้นเองในที่ไม่ ต้องไถ เป็นข้าวที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าว สาร ตอนเย็นพวกเราทุกคนไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าพวกเราทุกคนไปนำ เอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็น ข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ด สุกก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคข้าวสาลี ซึ่งเกิดขึ้นเองในที่ไม่ต้องไถอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง มีแกลบห่อเมล็ดไว้บ้าง แม้ต้นที่เกี่ยวแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนที่ ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ จึงได้มีข้าวสาลี เป็นกลุ่มๆ  อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรมาแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน เสียเถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลี ปักปันเขตแดนกัน ฯ
             [๖๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์ทั้งหลายจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่ เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้ง ที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นสงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนว่า แน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วน ที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมา การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จ จึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุม กัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จัก ปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควร ว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาสัตว์ที่ สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคน แล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้ โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ
             [๖๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอัน มหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่า กษัตริย์  กษัตริย์จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา  ราชาจึงอุบัติขึ้นเป็น อันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือ ไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
             [๖๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกได้มี ความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การกล่าวเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ การขับไล่จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรไปลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้ากันเถิดสัตว์เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าแล้ว ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าอยู่ ดังนี้แล อักขระว่า พวกพราหมณ์ๆ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรกพราหมณ์เหล่านั้นพากันสร้างกระท่อมซึ่ง มุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ พวกเขา ไม่มีการหุงต้ม และไม่มีการตำข้าว เวลาเย็น เวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหา อาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้น ครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ใน ราวป่าอีก คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นั้นแล้วพากันพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย สัตว์พวกนี้แลพากันมาสร้างกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ ไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว เวลาเย็นเวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหาอาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อ บริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้วจึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุนั้นแล อักขระว่า พวกเจริญฌาน พวกเจริญฌาน ดังนี้ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บางพวกเมื่อไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังคามและนิคมที่ใกล้เคียง แล้วก็จัดทำพระคัมภีร์มาอยู่ คนทั้งหลายเห็น พฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นี้นั้นแล้ว จึงพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เที่ยวไปยังบ้าน และนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำพระคัมภีร์ไปอยู่ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้ พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้ พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ ดังนี้แล อักขระว่า อชฺฌายิกา อชฺฌายิกา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม  ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็สมัยนั้น การทรงจำ การสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้ สมมติว่าประเสริฐ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกพราหมณ์ นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณอย่างนี้แล  เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกันจะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น  ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
             [๖๕] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บาง จำพวกยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่า เวสฺสา เวสฺสา ดังนี้ จึงอุบัติขึ้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการ ดังที่กล่าวมานี้ การอุบัติขึ้นแห่งพวกแพศย์นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็น ของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ฯลฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกศูทรนั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความ จริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งใน เวลาภายหน้า ฯ
             [๖๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอยู่ ที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์ บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกสมณะจะเกิดมีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ นี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกัน หรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งใน เวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ
             [๖๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เป็นเหตุเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งสิ้น ฯ
             [๖๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
             [๖๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... มีปรกติกระทำกรรมทั้งสอง [คือสุจริตและทุจริต] ด้วย กาย มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยวาจา มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มี ความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อม เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ
             [๗๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ
             [๗๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้  วรรณะใด(ก็ตาม) เป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว วางภาระเสียได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความ จริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ ทั้งใน เวลาภายหน้า ฯ
             [๗๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิต คาถาไว้ว่า
                          กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้(น่า)รังเกียจ ด้วยโคตร
                          ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ
             ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด  ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด  ประกอบด้วยประโยชน์  มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  เราเห็น ด้วย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
                          กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร
                          ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบ อัคคัญญสูตร ที่ ๔

โลกสูตร (ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก)




ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลกสูตร (ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก)
[๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแรกทรงตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียวตลอด ๗ วัน ครั้งนั้นแลโดยล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากสมาธิแล้วทรงตรวจดูโลก ด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้เดือดร้อน อยู่ด้วยความเดือดร้อนเป็นอันมาก และเป็นผู้ถูกความเร่าร้อนซึ่งเกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง เกิดจากโมหะบ้าง แผดเผาอยู่
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเนื้อความแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
โลกนี้เกิดความเดือดร้อนแล้ว ถูกผัสสะครอบงำแล้ว ย่อมกล่าวถึงโรค(ชรา มรณะ) โดยความเป็นตัวตน ก็โลกย่อมสำคัญโดยประการใด ขันธปัญจกะ(ขันธ์ ๕)อันเป็นวัตถุแห่งความสำคัญนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นจากประการที่ตนสำคัญนั้น โลกข้องแล้วในภพ มีความแปรปรวนเป็นอื่น ถูกภพครอบงำแล้ว ย่อมเพลิดเพลินภพนั่นเอง (สัตว์)โลกย่อมเพลิดเพลินสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นภัย(ภัย คือ อบายภูมิ ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย) โลกกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์(ทุกข์มีอรรถว่า ทำให้เดือดร้อน มีอรรถว่าความบีบคั้น ความแปรปรวน)ก็บุคคลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อจะละภพนั่นแล
ก็สมณะหรือพราหมณ์(ผู้ประเสริฐ)เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความหลุดพ้นจากภพด้วยภพ(สัสสตทิฏฐิ - มีความเห็นว่าเที่ยง) เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ไม่หลุดพ้นไปจากภพ ก็หรือสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความสลัดออกจากภพด้วยความไม่มีภพ(อุจเฉททิฏฐิ - มีความเห็นว่าขาดสูญ)เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ไม่สลัดออกไปจากภพ, ก็ทุกข์นี้ ย่อมเกิดเพราะอาศัยอุปธิ(สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ มูลแห่งทุกข์ได้แก่ อุปธิ ๔ คือ ๑.กามูปธิ, ๒.ขันธูปธิ, ๓.กิเลสูปธิ, ๔.อภิสังขารูปธิ.) ทั้งปวง, ความเกิดแห่งทุกข์ย่อมไม่มี เพราะความสิ้นอุปาทานทั้งปวง,
ท่านจงดูโลกนี้ สัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ถูกอวิชชาครอบงำหรือยินดีแล้วในขันธปัญจกะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากภพ ก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งในส่วนทั้งปวง(เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื่องขวาง) โดยส่วนทั้งปวง(สวรรค์ อบาย และมนุษย์ เป็นต้น)ภพทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, บุคคลผู้เห็นปัญจกะกล่าวคือ ภพตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้อยู่ ย่อมละภวตัณหา(มีความยินดีติดใจในภพ รูปภพ อรูปภพ ที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดว่าเที่ยง ยั่งยืน ซึ่งเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งความปราถนาภพ และความยินดีพอใจในฌาณ ตัณหาที่เกิดพร้อมกับสัสสตทิฏฐิโดยอาศัยอารมณ์ ๖)ได้ ทั้งไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหา(ตัณหาที่เกิดพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิโดยอาศัยอารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายมีตัวตนอยู่และตัวตนนี้ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดย่อมสูญหายไปสิ้น ไม่เกิดใหม่อีก และมีความยินดีติดใจในความเห็นผิด) ความดับด้วยอริยมรรคเป็นเครื่องสำรอกโดยไม่มีส่วนเหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงคือ นิพพาน จึงมีได้, ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุนั้นครอบงำมาร ชนะสงครามล่วงภพได้ทั้งหมด เป็นผู้คงที่(นิพพาน)ฉะนี้แล.
จบโลกสูตรที่ ๑๐
(พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๔๔ หน้าที่ ๓๕๙)

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม 

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ตั้งแต่ สมัยตรัสรู้ ตราบจนถึงสมัยปรินิพพานด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ อันไม่มีผู้ใดเปรียบปาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้า ผู้ทรงถึงพร้อมด้วยสัมปทา(๑) คือเหตุสัมปทา ผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทา
เหตุสัมปทา การ ถึงพร้อมด้วยเหตุ คือ การทรงบำเพ็ญพระบารมีจนถึงพร้อมเพื่อตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า
ผลสัมปทา การถึงพร้อมด้วยผลมี ๔ อย่างคือ...
๑. ญาณสัมปทา ได้แก่ มัคคญาณ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณ เป็นต้น ซึ่งมีมัคคญาณนั้นเป็นมูล
๒. ปหานสัมปทา ได้แก่ละกิเลสทั้งสิ้น พร้อมทั้งวาสนาที่ไม่ดี วาสนา คือ กิริยาอาการทางกาย วาจาที่ประพฤติจนเคยชิน ซึ่งถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ละไม่ได้
๓. อานุภาวสัมปทา ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในการทำให้สำเร็จได้ตามที่ปรารถนา
๔. รูปกายสัมปทา ได้แก่ พระรูปสมบัติ อันประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ และอนุพยัญชนะ อันเป็นที่เจริญตาเจริญใจของชาวโลกทั้งมวล
เมื่อ เหตุคือ บารมีถึงพร้อมแล้ว ก็ทำให้ถึงพร้อมด้วยผลสัมปทา คือ การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ทำให้พระองค์พ้นทุกข์แต่เพียงพระองค์เดียว พระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ก็เพื่อตรัสรู้และบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อดับกิเลสพ้นทุกข์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ก็จะไม่ทรงพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นมี ๒ ประเภท คือ
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (๒) ผู้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งซึ่งสัจจะด้วยพระองค์เองในธรรมทั้งหลายที่ไม่ เคยได้ฟังมาก่อน ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และทรงบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า (๓) ผู้ตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ด้วยพระองค์เองที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
ฉะนั้น การบำเพ็ญเหตุ คือ บารมี เพื่อบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผล จึงมากน้อยต่างกัน
สัตตูปการสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยพระอัธยาศัยและอุตสาหอุปการะแก่สัตว์โลกเป็นนิจ แม้ในเหล่าสัตว์ผู้มีความผิด มีท่านพระเทวทัต เป็นต้น กับการรอเวลาแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ ผู้มีปัญญินทรีย์ยังไม่แก่กล้า และพระองค์ทรงแสดงธรรมอันจะนำสัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวง โดยมิได้ทรงเพ่งลาภสักการะ เป็นต้น
เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยเหตุสัมปทา และผลสัมปทาแล้ว พระองค์ก็ทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ เป็นการถึงพร้อมด้วย สัตตูปการสัมปทา การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้งสาม
ด้วย เหตุนี้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาจึงเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ การตรัสรู้ธรรมทำให้พระองค์ทรงหมดจดจากกิเลส และพระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามหมดกิเลสด้วย
ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นต่างกับความจริงที่เราคิดนึก หรือเข้าใจอย่างไรบ้าง.
ความจริงพระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆกัน
การที่หลงยึดความโลภ ความโกรธ และสภาพธรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น เป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย การหลงเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ก็เพราะไม่รู้ความจริงของธรรมทั้งปวง เมื่อเห็นขณะใดก็ยึดความเห็นซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งว่าเป็นตัวตน เป็นเราเห็น เมื่อได้ยิน ก็ยึดสภาพธรรมที่ได้ยินนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็ยึดสภาพธรรมที่ได้กลิ่นนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้กลิ่น เมื่อลิ้มรสก็ยึดสภาพธรรมที่ลิ้มรสนั้นเป็นตัวตน เป็นเราลิ้มรส เมื่อคิดนึกเรื่องใดก็ยึดสภาพธรรมที่คิดนึกนั้น เป็นตัวตน เป็นเรานึกคิด เป็นต้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆได้ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดภาษาใด หรือไม่เรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดๆเลยก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ดังที่พระองค์ได้แสดงธรรมแก่ท่านพระอานนท์ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา"

เมื่อความไม่รู้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความยินดีพอใจ หลงยึดถือเพิ่มพูนยิ่งขึ้นในยศถาบรรดาศักดิ์ ชาติตระกูล วรรณะ เป็นต้น ความจริงนั้นสิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงสีต่างๆที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆกัน
การหลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น อุปมาเหมือนคนเดินทางในที่ซึ่งย่อมเห็นเหมือนกับว่ามี่เงาน้ำอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเข้าใกล้ เงาน้ำที่เห็นก็หายไป เพราะแท้จริงแล้วหามีน้ำไม่ เงาน้ำที่เห็นเป็นมายา เป็นภาพลวงตา ฉันใด การเข้าใจผิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพราะความไม่รู้ เพราะความจำ เพราะความยึดถือ ก็ฉันนั้น
คำว่า สัตว์ บุุคคล ชาย หญิง เป็นต้นนั้น เป็นเพียงคำบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ย่อมจะเห็นได้ว่าวัตถุสิ่งของต่างๆ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และเรื่องต่างๆนั้น ถึงแม้จะวิจิตรสักเพียงใด ก็จะปรากฏให้รู้ไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว การรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และการนึกคิด
สภาพธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ เช่นสภาพธรรมที่รู้สี สภาพธรรมที่รู้เสียง สภาพธรรมที่รู้กลิ่น สภาพธรรมที่ลิ้มรส สภาพธรรมที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว สภาพที่รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และสภาพธรรมที่คิดนึกเรื่องต่างๆ เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกสภาพรู้สิ่งต่างๆนั้นว่า จิต.

----------------------------------------------------------------------------------------
(๑) อภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา
(๒) ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกนิเทส ข้อ ๓๘ นวกนิเทส ข้อ ๑๕๑
(๓) ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกนิเทส ข้อ ๓๙ นวกนิเทส ข้อ ๑๕๑
(ที่มา หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก โดยอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์)

สังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง

สังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง
 

   พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น สมบูรณ์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ

ธรรมข้อใดที่อาจจะมีผู้เข้าใจผิดได้  พระองค์ก็ทรงบัญญัติคำกำกับให้ชัดเจนยิ่ง

ขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจความหมายของธรรมข้อนั้นผิด  เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติ

ว่าธรรมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  เป็นสังขารธรรม (ธรรมที่มีสภาพปรุง

แต่ง)  นั้นเป็นสังขตธรรม (ธรรมที่ปรุงแต่งแล้ว) สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น

แล้วดับไป

                พระองค์ทรงบัญญัติคำว่า  สังขตธรรมกับคำว่าสังขารธรรม  เพื่อให้รู้

ว่าธรรมใดที่เกิดขึ้นธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น   เมื่อปัจจัยดับ   ธรรมที่เกิดขึ้น

เพราะปัจจัยนั้นก็ต้องดับไป     สังขตธรรมคือธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป     ฉะนั้น
"สังขารธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้นจึงเป็นสังขตธรรม จิตปรมัตถ์ 
เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม"
(นิพพานเป็นอสังขตธรรม)
สังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป
สังขตธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  เพราะฉะนั้น
จิต เจตสิก และรูป เป็นทั้งสังขารธรรมและสังขตธรรม
(ที่มา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา)

"มรณาสันนวิถี" คตินิมิตอารมณ์ และ วิถีจิตใกล้ตาย (มรณาสันนวิถี)



[ปุจฉา] คำถามมีอยู่ว่า.. 
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง... "มรณาสันนวิถี" 
คตินิมิตอารมณ์
และ วิถีจิตใกล้ตาย 
(มรณาสันนวิถี)
เป็นไฉน ยังไง อย่างไรหนอ ? 


ท่านทั้งหลาย "ใครก็ได้" ช่วยตอบให้หน่อยเถิด
ก็จะเกิด "บุญกุศล" ทุกประการ... 


[วิสัชนา] คำตอบสัมมาอธิบายว่า... 
เรื่อง... "มรณาสันนวิถี" 
คตินิมิตอารมณ์
และ วิถีจิตใกล้ตาย 
(มรณาสันนวิถี)
เป็นอย่างนี้นี่เอง... 


ก็พระองค์มีพุทธประสงค์ให้เข้าใจอย่างนี้นี่เอง...
-------------------------------------------------- 
มรณาสันนวิถี หมายความถึง "วิถีจิต"
ที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวารก่อนจุติ 
ชื่อว่า “มรณาสันนวิถี”
คือ วิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด 
หรือ วิถีจิต ชวนจิตสุดท้ายก่อนที่จะตาย

ธรรมดาของชวนวิถีจิตจะเกิดซ้ำถึง ๗ ขณะ
ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน... 
ปกติชวนวิถีจิตจะเกิด ๗ ขณะ
แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล 


แต่ว่า.. ในขณะที่กำลังสลบ
ชวนวิถีจะเกิดซ้ำกันเพียงแค่ ๖ ขณะ 
เป็นสภาพของจิต ซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
อย่างทั่วๆไปที่ใช้กันอยู่.. ว่า.. 
ไม่ใช่ขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ 
และ ก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถีจะเกิดเพียง ๕ ขณะ 
เพราะเหตุว่า.. "มีกำลังอ่อนลง"
ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ 
จากความเป็นบุคคลนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนจุติจิตจะเกิด
ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า.. 
(เว้นพระพุทธเจ้า สามารถรู้ได้ ฯลฯ)
ชวนจิตวิถีสุดท้ายจะเป็นกุศล 
หรือ จะเป็นอกุศล 
จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา 
หรือ ทางหู หรือ ทางจมูก หรือ ทางลิ้น
หรือ ทางกาย หรือ ทางใจ 

จุติจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ "เคลื่อน" 
จากความเป็นบุคคลนี้
ที่เป็น "จิต" ชาติวิบาก 
ที่เป็น "ผล" ของกรรม
เมื่อจุติเกิด ก็แสดงถึง "ความตาย" 
โดยสมมติของบุคคลนั้นๆ
แต่ก่อน "จุติจิต" เกิด 
ก็ต้องมีชวนจิตสุดท้าย ๕ ขณะ
ที่เรียกว่า..... "มรณาสันนวิถี" 
ซึ่ง เป็นกุศลจิตก็ได้
ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในสุคติภูมิ 
และ เป็นอกุศลจิตก็ได้
เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิ 

ดังนั้น เมื่อเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต 
จิตก็จะต้องมีอารมณ์
คือ จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสิ่งที่ "ถูกรู้" 
เรียกว่า "อารมณ์"
ซึ่งอารมณ์ก่อนตาย 
ที่เป็น "อารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย"
ก็แล้วแต่ว่า.. จะเป็นอารมณ์อะไร 
เป็น ปรมัติ ก็ได้ ที่เป็น สี เสียง กลิ่น รส
สิ่งที่กระทบสัมผัส 
หรือ เป็นบัญญัติเรื่องราวก็ได้
ที่เกิดทางมโนทวาร ก็ได้ 


ในส่วนของ อารมณ์ก่อนตายที่เป็น คตินิมิตอารมณ์
คตินิมิตอารมณ์ คือ "อารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย" ห้าขณะ 
ก่อนที่ "จุติจิต" จะเกิด โดยเป็นเรื่องราว
ที่เกิดทางมโนทวาร โดยการคิดเป็นเรื่อง 
ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์
เช่น เห็น เป็นวิมานบนสวรรค์ก่อนตาย 
ก็คือ นึกคิดเป็นวิมาน ก็เป็น "คตินิมิตอารมณ์"
คือ เป็นนิมิต ที่เป็นคติที่จะไปในเบื้องหน้า 
มี "สวรรค์" หรือ "นรก" เป็นต้น
เป็น นิมิตที่แสดงคติที่จะไป 
คือ ภพภูมิที่จะไปในเบื้องหน้า นั้นเอง.

คตินิมิตอารมณ์ สามารถเป็น "เหตุ"
ที่จะทำให้ชะงักไม่เกิดจุติจิตได้หรือไม่ 

ในความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย 
เกิดแต่.. "เหตุปัจจัย"
ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ 
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็สามาถรเกิดสภาพธรรมนั้น..
.. ต่อ.. ทันที.. ได้.. เป็นธรรมดา 


ดังนั้น "จุติจิต" ที่เป็นความตาย
แม้แต่ พระพุทธเจ้าผู้เลิศสูงสุด 
หรือ มารผู้มีอำนาจ
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม "จุติจิต" ก็สามารถเกิดได้ 
ไม่มีใครที่ไหนใดๆทั้งสิ้น ที่จะไปห้าม "จุติจิต"
เพราะเป็นไปตามอำนาจของสภาพธรรม 


เพราะฉะนั้น คตินิมิตอารมณ์
ก็เป็นเพียง "บัญญัติ" เรื่องราว 
ที่เป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย
ดังนั้น เมือมีการเกิดขึ้นของ.. 
ชวนจิตสุดท้าย ๕ ขณะ..... แล้ว
ที่มี คตินิมิตเป็นอารมณ์ 
ก็จะต้องเป็นเหตุปัจจัยให้มีการเกิดขึ้น
ของ "จุติจิต" อย่างแน่นอน 
ไม่สามารถบังคับบัญชาว่า..
"ไม่ให้เกิด" หรือ "อย่าเกิด" 
ไม่มีใครที่ไหนใดๆไปทำอย่างนั้นได้เลย
หรือ จะหยุดชะงัก เพราะ สภาพธรรม 
ที่เป็นชวนจิตสุดท้ายเกิดแล้ว
สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า... 
ไม่สามารถผัดเพี้ยนกับความตายได้เลย

ความตาย จึงเลือกไม่ได้เลยว่าเป็นใคร
จะยากดีมีจน มีคุณธรรม 
เป็นพาล หรือ บัณฑิต
จึงควรสำเหนียกว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ 
ควรที่จะสะสมคุณงามความดี
และ ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา "ญาณ" 
ในชีวิตที่เหลือน้อย และ ไม่ทราบเวลาตาย
เพื่อที่จะเป็นที่พึ่งต่อไปในโลกหน้า 
และ ไม่ต้องเกิดแล้วตายอีก
เกิดแล้วตายอีก 
เกิดแล้วตายอีก ไม่จบไม่สิ้น. 


ดูเพียงอาการภายนอก 
ไม่สามารถบอกได้ว่าตายหรือไม่ตาย 
เพราะถ้าจะตายจริง ๆ
ก็ต้องเป็นในขณะที่จุติเกิดขึ้น 
ทำกิจเคลื่อนจากภพนั้นชาตินั้น
และ ถ้ากล่าวถึงมรณสันนวิถีแล้ว 
เมื่อเห็นคตินิมิตอารมณ์
กล่าวคือ อารมณ์ที่เป็นคติที่จะไปเกิด 
เป็นการเห็นทางมโนทวาร เช่น เห็นวิมาน 
เห็นสวนนันทวัน หรือ เห็นไฟนรก เป็นต้น 


ซึ่ง คตินิมิตอารมณ์
เป็นอารมณ์เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น 
จะไม่มีการชะงักเลย
ย่อมเป็นเหตุให้จุติจิตเกิดขึ้น 
เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้นทันที 
เป็นความเกิดขึ้น เป็นไปของธรรม 
ซึ่งใคร ๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ 
เพราะชวนวิถีจิตสุดท้าย 
เกิดก่อนที่จุติจิตจะเกิด 
เป็น "มรณสันนวิถี" 
ซึ่งเลือกไม่ได้เลยว่า.. จะเป็นตอนไหน 

การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก
ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น.. 
.. ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกที ๆ 
ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดง
"พระธรรม" ด้วยข้ออุปมาให้เห็นถึง.. 
ความเล็กน้อย ของชีวิตไว้มากมาย
เพื่อให้ผู้ฟัง (อ่าน) ได้เข้าใจตามความเป็นจริง 
เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
อันมีประมาณน้อยนี้ 
เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้า
พอพระอาทิตย์ขึ้นมา ก็เหือดแห้งไป 
ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น 
ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ 
ที่กลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน
ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น 
หรือ แม้กระทั่ง อุปมาเหมือนกับการทอผ้า
ของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้า 
แผ่นผ้าก็จะค่อย ๆ เต็มขึ้น
ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จก็จะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ 
จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด 
ชีวิตชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น 
ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ซึ่งจะต้องสิ้นสุดลงที่ความตาย 
ก็ควรจะแสวงหาประโยชน์ สำหรับตนเอง
จากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด 
ก่อนที่ความตายจะมาถึง
ด้วยการไม่ประมาทในการเจริญบุญกุศล 
สะสมความดี ละทิ้งความชั่ว
(ละทิ้งการเป็นบริวารของ "มหาโจร") 
และ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ.