Sunday, June 9, 2013

"มรณาสันนวิถี" คตินิมิตอารมณ์ และ วิถีจิตใกล้ตาย (มรณาสันนวิถี)



[ปุจฉา] คำถามมีอยู่ว่า.. 
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง... "มรณาสันนวิถี" 
คตินิมิตอารมณ์
และ วิถีจิตใกล้ตาย 
(มรณาสันนวิถี)
เป็นไฉน ยังไง อย่างไรหนอ ? 


ท่านทั้งหลาย "ใครก็ได้" ช่วยตอบให้หน่อยเถิด
ก็จะเกิด "บุญกุศล" ทุกประการ... 


[วิสัชนา] คำตอบสัมมาอธิบายว่า... 
เรื่อง... "มรณาสันนวิถี" 
คตินิมิตอารมณ์
และ วิถีจิตใกล้ตาย 
(มรณาสันนวิถี)
เป็นอย่างนี้นี่เอง... 


ก็พระองค์มีพุทธประสงค์ให้เข้าใจอย่างนี้นี่เอง...
-------------------------------------------------- 
มรณาสันนวิถี หมายความถึง "วิถีจิต"
ที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวารก่อนจุติ 
ชื่อว่า “มรณาสันนวิถี”
คือ วิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด 
หรือ วิถีจิต ชวนจิตสุดท้ายก่อนที่จะตาย

ธรรมดาของชวนวิถีจิตจะเกิดซ้ำถึง ๗ ขณะ
ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน... 
ปกติชวนวิถีจิตจะเกิด ๗ ขณะ
แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล 


แต่ว่า.. ในขณะที่กำลังสลบ
ชวนวิถีจะเกิดซ้ำกันเพียงแค่ ๖ ขณะ 
เป็นสภาพของจิต ซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
อย่างทั่วๆไปที่ใช้กันอยู่.. ว่า.. 
ไม่ใช่ขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ 
และ ก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถีจะเกิดเพียง ๕ ขณะ 
เพราะเหตุว่า.. "มีกำลังอ่อนลง"
ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ 
จากความเป็นบุคคลนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนจุติจิตจะเกิด
ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า.. 
(เว้นพระพุทธเจ้า สามารถรู้ได้ ฯลฯ)
ชวนจิตวิถีสุดท้ายจะเป็นกุศล 
หรือ จะเป็นอกุศล 
จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา 
หรือ ทางหู หรือ ทางจมูก หรือ ทางลิ้น
หรือ ทางกาย หรือ ทางใจ 

จุติจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ "เคลื่อน" 
จากความเป็นบุคคลนี้
ที่เป็น "จิต" ชาติวิบาก 
ที่เป็น "ผล" ของกรรม
เมื่อจุติเกิด ก็แสดงถึง "ความตาย" 
โดยสมมติของบุคคลนั้นๆ
แต่ก่อน "จุติจิต" เกิด 
ก็ต้องมีชวนจิตสุดท้าย ๕ ขณะ
ที่เรียกว่า..... "มรณาสันนวิถี" 
ซึ่ง เป็นกุศลจิตก็ได้
ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในสุคติภูมิ 
และ เป็นอกุศลจิตก็ได้
เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิ 

ดังนั้น เมื่อเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต 
จิตก็จะต้องมีอารมณ์
คือ จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสิ่งที่ "ถูกรู้" 
เรียกว่า "อารมณ์"
ซึ่งอารมณ์ก่อนตาย 
ที่เป็น "อารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย"
ก็แล้วแต่ว่า.. จะเป็นอารมณ์อะไร 
เป็น ปรมัติ ก็ได้ ที่เป็น สี เสียง กลิ่น รส
สิ่งที่กระทบสัมผัส 
หรือ เป็นบัญญัติเรื่องราวก็ได้
ที่เกิดทางมโนทวาร ก็ได้ 


ในส่วนของ อารมณ์ก่อนตายที่เป็น คตินิมิตอารมณ์
คตินิมิตอารมณ์ คือ "อารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย" ห้าขณะ 
ก่อนที่ "จุติจิต" จะเกิด โดยเป็นเรื่องราว
ที่เกิดทางมโนทวาร โดยการคิดเป็นเรื่อง 
ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์
เช่น เห็น เป็นวิมานบนสวรรค์ก่อนตาย 
ก็คือ นึกคิดเป็นวิมาน ก็เป็น "คตินิมิตอารมณ์"
คือ เป็นนิมิต ที่เป็นคติที่จะไปในเบื้องหน้า 
มี "สวรรค์" หรือ "นรก" เป็นต้น
เป็น นิมิตที่แสดงคติที่จะไป 
คือ ภพภูมิที่จะไปในเบื้องหน้า นั้นเอง.

คตินิมิตอารมณ์ สามารถเป็น "เหตุ"
ที่จะทำให้ชะงักไม่เกิดจุติจิตได้หรือไม่ 

ในความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย 
เกิดแต่.. "เหตุปัจจัย"
ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ 
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็สามาถรเกิดสภาพธรรมนั้น..
.. ต่อ.. ทันที.. ได้.. เป็นธรรมดา 


ดังนั้น "จุติจิต" ที่เป็นความตาย
แม้แต่ พระพุทธเจ้าผู้เลิศสูงสุด 
หรือ มารผู้มีอำนาจ
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม "จุติจิต" ก็สามารถเกิดได้ 
ไม่มีใครที่ไหนใดๆทั้งสิ้น ที่จะไปห้าม "จุติจิต"
เพราะเป็นไปตามอำนาจของสภาพธรรม 


เพราะฉะนั้น คตินิมิตอารมณ์
ก็เป็นเพียง "บัญญัติ" เรื่องราว 
ที่เป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย
ดังนั้น เมือมีการเกิดขึ้นของ.. 
ชวนจิตสุดท้าย ๕ ขณะ..... แล้ว
ที่มี คตินิมิตเป็นอารมณ์ 
ก็จะต้องเป็นเหตุปัจจัยให้มีการเกิดขึ้น
ของ "จุติจิต" อย่างแน่นอน 
ไม่สามารถบังคับบัญชาว่า..
"ไม่ให้เกิด" หรือ "อย่าเกิด" 
ไม่มีใครที่ไหนใดๆไปทำอย่างนั้นได้เลย
หรือ จะหยุดชะงัก เพราะ สภาพธรรม 
ที่เป็นชวนจิตสุดท้ายเกิดแล้ว
สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า... 
ไม่สามารถผัดเพี้ยนกับความตายได้เลย

ความตาย จึงเลือกไม่ได้เลยว่าเป็นใคร
จะยากดีมีจน มีคุณธรรม 
เป็นพาล หรือ บัณฑิต
จึงควรสำเหนียกว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ 
ควรที่จะสะสมคุณงามความดี
และ ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา "ญาณ" 
ในชีวิตที่เหลือน้อย และ ไม่ทราบเวลาตาย
เพื่อที่จะเป็นที่พึ่งต่อไปในโลกหน้า 
และ ไม่ต้องเกิดแล้วตายอีก
เกิดแล้วตายอีก 
เกิดแล้วตายอีก ไม่จบไม่สิ้น. 


ดูเพียงอาการภายนอก 
ไม่สามารถบอกได้ว่าตายหรือไม่ตาย 
เพราะถ้าจะตายจริง ๆ
ก็ต้องเป็นในขณะที่จุติเกิดขึ้น 
ทำกิจเคลื่อนจากภพนั้นชาตินั้น
และ ถ้ากล่าวถึงมรณสันนวิถีแล้ว 
เมื่อเห็นคตินิมิตอารมณ์
กล่าวคือ อารมณ์ที่เป็นคติที่จะไปเกิด 
เป็นการเห็นทางมโนทวาร เช่น เห็นวิมาน 
เห็นสวนนันทวัน หรือ เห็นไฟนรก เป็นต้น 


ซึ่ง คตินิมิตอารมณ์
เป็นอารมณ์เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น 
จะไม่มีการชะงักเลย
ย่อมเป็นเหตุให้จุติจิตเกิดขึ้น 
เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้นทันที 
เป็นความเกิดขึ้น เป็นไปของธรรม 
ซึ่งใคร ๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ 
เพราะชวนวิถีจิตสุดท้าย 
เกิดก่อนที่จุติจิตจะเกิด 
เป็น "มรณสันนวิถี" 
ซึ่งเลือกไม่ได้เลยว่า.. จะเป็นตอนไหน 

การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก
ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น.. 
.. ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกที ๆ 
ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดง
"พระธรรม" ด้วยข้ออุปมาให้เห็นถึง.. 
ความเล็กน้อย ของชีวิตไว้มากมาย
เพื่อให้ผู้ฟัง (อ่าน) ได้เข้าใจตามความเป็นจริง 
เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
อันมีประมาณน้อยนี้ 
เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้า
พอพระอาทิตย์ขึ้นมา ก็เหือดแห้งไป 
ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น 
ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ 
ที่กลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน
ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น 
หรือ แม้กระทั่ง อุปมาเหมือนกับการทอผ้า
ของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้า 
แผ่นผ้าก็จะค่อย ๆ เต็มขึ้น
ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จก็จะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ 
จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด 
ชีวิตชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น 
ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ซึ่งจะต้องสิ้นสุดลงที่ความตาย 
ก็ควรจะแสวงหาประโยชน์ สำหรับตนเอง
จากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด 
ก่อนที่ความตายจะมาถึง
ด้วยการไม่ประมาทในการเจริญบุญกุศล 
สะสมความดี ละทิ้งความชั่ว
(ละทิ้งการเป็นบริวารของ "มหาโจร") 
และ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ. 


No comments:

Post a Comment