Sunday, June 9, 2013

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม 

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ตั้งแต่ สมัยตรัสรู้ ตราบจนถึงสมัยปรินิพพานด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ อันไม่มีผู้ใดเปรียบปาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้า ผู้ทรงถึงพร้อมด้วยสัมปทา(๑) คือเหตุสัมปทา ผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทา
เหตุสัมปทา การ ถึงพร้อมด้วยเหตุ คือ การทรงบำเพ็ญพระบารมีจนถึงพร้อมเพื่อตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า
ผลสัมปทา การถึงพร้อมด้วยผลมี ๔ อย่างคือ...
๑. ญาณสัมปทา ได้แก่ มัคคญาณ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณ เป็นต้น ซึ่งมีมัคคญาณนั้นเป็นมูล
๒. ปหานสัมปทา ได้แก่ละกิเลสทั้งสิ้น พร้อมทั้งวาสนาที่ไม่ดี วาสนา คือ กิริยาอาการทางกาย วาจาที่ประพฤติจนเคยชิน ซึ่งถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ละไม่ได้
๓. อานุภาวสัมปทา ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในการทำให้สำเร็จได้ตามที่ปรารถนา
๔. รูปกายสัมปทา ได้แก่ พระรูปสมบัติ อันประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ และอนุพยัญชนะ อันเป็นที่เจริญตาเจริญใจของชาวโลกทั้งมวล
เมื่อ เหตุคือ บารมีถึงพร้อมแล้ว ก็ทำให้ถึงพร้อมด้วยผลสัมปทา คือ การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ทำให้พระองค์พ้นทุกข์แต่เพียงพระองค์เดียว พระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ก็เพื่อตรัสรู้และบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อดับกิเลสพ้นทุกข์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ก็จะไม่ทรงพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นมี ๒ ประเภท คือ
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (๒) ผู้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งซึ่งสัจจะด้วยพระองค์เองในธรรมทั้งหลายที่ไม่ เคยได้ฟังมาก่อน ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และทรงบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า (๓) ผู้ตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ด้วยพระองค์เองที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
ฉะนั้น การบำเพ็ญเหตุ คือ บารมี เพื่อบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผล จึงมากน้อยต่างกัน
สัตตูปการสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยพระอัธยาศัยและอุตสาหอุปการะแก่สัตว์โลกเป็นนิจ แม้ในเหล่าสัตว์ผู้มีความผิด มีท่านพระเทวทัต เป็นต้น กับการรอเวลาแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ ผู้มีปัญญินทรีย์ยังไม่แก่กล้า และพระองค์ทรงแสดงธรรมอันจะนำสัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวง โดยมิได้ทรงเพ่งลาภสักการะ เป็นต้น
เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยเหตุสัมปทา และผลสัมปทาแล้ว พระองค์ก็ทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ เป็นการถึงพร้อมด้วย สัตตูปการสัมปทา การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้งสาม
ด้วย เหตุนี้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาจึงเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ การตรัสรู้ธรรมทำให้พระองค์ทรงหมดจดจากกิเลส และพระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามหมดกิเลสด้วย
ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นต่างกับความจริงที่เราคิดนึก หรือเข้าใจอย่างไรบ้าง.
ความจริงพระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆกัน
การที่หลงยึดความโลภ ความโกรธ และสภาพธรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น เป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย การหลงเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ก็เพราะไม่รู้ความจริงของธรรมทั้งปวง เมื่อเห็นขณะใดก็ยึดความเห็นซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งว่าเป็นตัวตน เป็นเราเห็น เมื่อได้ยิน ก็ยึดสภาพธรรมที่ได้ยินนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็ยึดสภาพธรรมที่ได้กลิ่นนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้กลิ่น เมื่อลิ้มรสก็ยึดสภาพธรรมที่ลิ้มรสนั้นเป็นตัวตน เป็นเราลิ้มรส เมื่อคิดนึกเรื่องใดก็ยึดสภาพธรรมที่คิดนึกนั้น เป็นตัวตน เป็นเรานึกคิด เป็นต้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆได้ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดภาษาใด หรือไม่เรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดๆเลยก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ดังที่พระองค์ได้แสดงธรรมแก่ท่านพระอานนท์ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา"

เมื่อความไม่รู้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความยินดีพอใจ หลงยึดถือเพิ่มพูนยิ่งขึ้นในยศถาบรรดาศักดิ์ ชาติตระกูล วรรณะ เป็นต้น ความจริงนั้นสิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงสีต่างๆที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆกัน
การหลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น อุปมาเหมือนคนเดินทางในที่ซึ่งย่อมเห็นเหมือนกับว่ามี่เงาน้ำอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเข้าใกล้ เงาน้ำที่เห็นก็หายไป เพราะแท้จริงแล้วหามีน้ำไม่ เงาน้ำที่เห็นเป็นมายา เป็นภาพลวงตา ฉันใด การเข้าใจผิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพราะความไม่รู้ เพราะความจำ เพราะความยึดถือ ก็ฉันนั้น
คำว่า สัตว์ บุุคคล ชาย หญิง เป็นต้นนั้น เป็นเพียงคำบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ย่อมจะเห็นได้ว่าวัตถุสิ่งของต่างๆ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และเรื่องต่างๆนั้น ถึงแม้จะวิจิตรสักเพียงใด ก็จะปรากฏให้รู้ไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว การรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และการนึกคิด
สภาพธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ เช่นสภาพธรรมที่รู้สี สภาพธรรมที่รู้เสียง สภาพธรรมที่รู้กลิ่น สภาพธรรมที่ลิ้มรส สภาพธรรมที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว สภาพที่รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และสภาพธรรมที่คิดนึกเรื่องต่างๆ เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกสภาพรู้สิ่งต่างๆนั้นว่า จิต.

----------------------------------------------------------------------------------------
(๑) อภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา
(๒) ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกนิเทส ข้อ ๓๘ นวกนิเทส ข้อ ๑๕๑
(๓) ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกนิเทส ข้อ ๓๙ นวกนิเทส ข้อ ๑๕๑
(ที่มา หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก โดยอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์)

No comments:

Post a Comment