Sunday, June 9, 2013

โลกสูตร (ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก)




ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลกสูตร (ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก)
[๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแรกทรงตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียวตลอด ๗ วัน ครั้งนั้นแลโดยล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากสมาธิแล้วทรงตรวจดูโลก ด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้เดือดร้อน อยู่ด้วยความเดือดร้อนเป็นอันมาก และเป็นผู้ถูกความเร่าร้อนซึ่งเกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง เกิดจากโมหะบ้าง แผดเผาอยู่
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเนื้อความแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
โลกนี้เกิดความเดือดร้อนแล้ว ถูกผัสสะครอบงำแล้ว ย่อมกล่าวถึงโรค(ชรา มรณะ) โดยความเป็นตัวตน ก็โลกย่อมสำคัญโดยประการใด ขันธปัญจกะ(ขันธ์ ๕)อันเป็นวัตถุแห่งความสำคัญนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นจากประการที่ตนสำคัญนั้น โลกข้องแล้วในภพ มีความแปรปรวนเป็นอื่น ถูกภพครอบงำแล้ว ย่อมเพลิดเพลินภพนั่นเอง (สัตว์)โลกย่อมเพลิดเพลินสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นภัย(ภัย คือ อบายภูมิ ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย) โลกกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์(ทุกข์มีอรรถว่า ทำให้เดือดร้อน มีอรรถว่าความบีบคั้น ความแปรปรวน)ก็บุคคลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อจะละภพนั่นแล
ก็สมณะหรือพราหมณ์(ผู้ประเสริฐ)เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความหลุดพ้นจากภพด้วยภพ(สัสสตทิฏฐิ - มีความเห็นว่าเที่ยง) เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ไม่หลุดพ้นไปจากภพ ก็หรือสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความสลัดออกจากภพด้วยความไม่มีภพ(อุจเฉททิฏฐิ - มีความเห็นว่าขาดสูญ)เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ไม่สลัดออกไปจากภพ, ก็ทุกข์นี้ ย่อมเกิดเพราะอาศัยอุปธิ(สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ มูลแห่งทุกข์ได้แก่ อุปธิ ๔ คือ ๑.กามูปธิ, ๒.ขันธูปธิ, ๓.กิเลสูปธิ, ๔.อภิสังขารูปธิ.) ทั้งปวง, ความเกิดแห่งทุกข์ย่อมไม่มี เพราะความสิ้นอุปาทานทั้งปวง,
ท่านจงดูโลกนี้ สัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ถูกอวิชชาครอบงำหรือยินดีแล้วในขันธปัญจกะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากภพ ก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งในส่วนทั้งปวง(เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื่องขวาง) โดยส่วนทั้งปวง(สวรรค์ อบาย และมนุษย์ เป็นต้น)ภพทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, บุคคลผู้เห็นปัญจกะกล่าวคือ ภพตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้อยู่ ย่อมละภวตัณหา(มีความยินดีติดใจในภพ รูปภพ อรูปภพ ที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดว่าเที่ยง ยั่งยืน ซึ่งเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งความปราถนาภพ และความยินดีพอใจในฌาณ ตัณหาที่เกิดพร้อมกับสัสสตทิฏฐิโดยอาศัยอารมณ์ ๖)ได้ ทั้งไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหา(ตัณหาที่เกิดพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิโดยอาศัยอารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายมีตัวตนอยู่และตัวตนนี้ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดย่อมสูญหายไปสิ้น ไม่เกิดใหม่อีก และมีความยินดีติดใจในความเห็นผิด) ความดับด้วยอริยมรรคเป็นเครื่องสำรอกโดยไม่มีส่วนเหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงคือ นิพพาน จึงมีได้, ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุนั้นครอบงำมาร ชนะสงครามล่วงภพได้ทั้งหมด เป็นผู้คงที่(นิพพาน)ฉะนี้แล.
จบโลกสูตรที่ ๑๐
(พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๔๔ หน้าที่ ๓๕๙)

No comments:

Post a Comment