Saturday, August 10, 2013

อานาปานสติสูตร


อานาปานสติสูตร
พุทธพจน์ และ พระสูตร ๗.
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๔
อานาปานสติสูตร นี้แบ่งสาระที่แสดงเป็นสำคัญๆ ได้ดังนี้
หลักการเจริญอานาปานสติ
แสดงการเจริญอานาปานสติ แล้วย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
แสดงการเจริญในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
และแสดงการเจริญใน โพชฌงค์ ๗ ย่อมยังให้ วิชชาและวิมุตติ บริบูรณ์
การปฏิบัติในอานาปานสติสูตรนี้  มีข้อสังเกตุประการหนึ่งว่า ล้วนเป็นการปฏิบัติที่ต้องมีสติที่หมายถึงการระลึกรู้กำกับทั้งสิ้น  จึงเป็นการเจริญสมถวิปัสสนา  จึงมิได้หมายถึงการปฏิบัติในแง่สมถสมาธิที่มีเจตนากำหนดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดของจิตเพื่อให้เกิดสมาธิหรือฌานขึ้น เพื่อให้จิตรวมลงสงบหรือสุขแต่อย่างเดียว  ดังที่เห็นได้จากการปฏิบัติธรรมกันเป็นส่วนใหญ่ทั่วไปดังนั้นพึงแยกแยะให้ถูกต้องด้วยว่า ขณะนั้นปฏิบัติอะไรต้องการฝึกสติเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิอันเป็นไปเพื่อการวิปัสสนา  หรือฝึกฌานสมาธิล้วนๆอันเป็นเรื่องทั่วไปที่มีมานานแสนนานแม้ในเหล่าอัญญเดียรถีร์ก็ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลเสียอีก อันจัดเป็นมิจฉาสมาธิ  ฌานสมาธิจึงไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนาแต่ฝ่ายเดียวเพราะมีผู้เข้าใจสับสนกันเป็นอันมากโดยเข้าใจความนัยๆอย่างผิดๆโดยไม่รู้ตัวไปเสียว่า อานาปานสติ คือการฝึกหรือปฏิบัติฌานสมาธิที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดหรืออารมณ์ เพื่อเข้าถึงความสุขสงบเท่านั้น  จึงขาดการวิปัสสนาอันเป็นหัวใจของการปฏิบัติในพระศาสนาไปเสีย การปฏิบัติธรรมจึงยังไม่บริบูรณ์แต่ก็พาให้เข้าใจผิดไปว่าได้ปฏิบัติถูกต้องหรือดีงามบริบูรณ์แล้ว จึงขาดความก้าวหน้าทั้งๆที่ตามความจริงแล้วอานาปานสติมิได้มีจุดประสงค์โดยตรงที่ฌานหรือสมาธิ(แต่ก็ทำให้เกิดฌานสมาธิขึ้นได้เช่นกัน!) แต่เป็นการฝึกให้มีสติตามชื่อพระสูตรอยู่แล้วพร้อมการวิปัสสนาคือสำเหนียก ที่แปลว่าศึกษานั่นเอง   และสังเกตุได้ว่าสิ่งที่เกิดและกล่าวถึงในอานาปานสติสูตรนี้มีเพียงองค์ฌานปีติ สุขเพียงเท่านั้นที่เด่นชัดขึ้น อันย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อมีจิตแน่วแน่เท่านั้นเพราะการอยู่กับการปฏิบัติหรือการพิจารณาธรรมต่างๆรวมทั้งสังขารกายอันเกิดแต่ลมหายใจ และจัดเป็นเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากอานาปานสตินี้ คือสุขเวทนาของปีติและสุขนั่นเอง แต่ไม่ถึงขั้นเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิระดับประณีตลึกซึ้งแต่อย่างใด จึงยังคงมีสติบริบูรณ์แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้งสติและสมาธิก็มีความเนื่องสัมพันธ์หรือเป็นเหตุปัจจัยกัน ดังนั้นในบางครั้งก็่เลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิระดับลึกประณีตขึ้นก็เป็นไปโดยสภาวธรรม(ธรรมชาติ)เนื่องจากการพักผ่อนในการพิจารณา เป็นไปโดยอาการธรรมชาติ  แต่ล้วนต้องมิได้เกิดแต่เจตนาจากการติดเพลิน(นันทิ)ในความสงบ สุข ปีติ ฯ. จากผลของฌานสมาธิ อันเป็นตัณหาชนิดรูปราคะหรืออรูปราคะอันละเอียดอ่อนแต่ประการใด(ซึ่งมักเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติแต่เป็นไปโดยไม่รู้ตัว ในผู้ที่ขาดการวิปัสสนา)  กล่าวคือ โดยมิได้ด้วยเจตนาทำฌานสมาธิ    มีแต่เจตนาแรงกล้าในการฝึกสติให้เห็นธรรมในกายสังขารหรือธรรมอื่นๆประกอบไปด้วยเป็นสำคัญ
กล่าวโดยย่อก็คือ ถ้ามีสติพิจารณาอยู่ก็เป็นการเป็นสมถวิปัสสนาที่ประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนา กล่าวคือ เจริญทั้งสติ, สมาธิ และปัญญาเพราะสตินั้นเนื่องสัมพันธ์ให้เกิดสมาธิด้วย  และการพิจารณาตามดังธรรมบรรยายก็ยังให้เกิดปัญญา จึงเป็นการเจริญสมถวิปัสสนาอย่างครบถ้วนกระบวนความ,   แต่ถ้าเพราะต้องการอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดเพื่อให้จิตสงบแน่วแน่แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นการเจริญแต่สมาธิ  แต่ถ้ายึดในอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือลงภวังค์ก็เป็นเจริญฌาน ที่ปฏิบัติกันโดยทั่วๆไปในอัญญเดียรถีร์ด้วย  จึงควรทำให้ถูกต้องตามเจตนาด้วย  จึงจักถือว่าถูกต้องดีงาม  เพราะลมหายใจนั้นสามารถใช้เป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดในการปฏิบัติ วิปัสสนา สติ สมาธิหรือฌาน ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนักปฏิบัติเองเป็นสำคัญ   อันจะเกิดขึ้นและเป็นไปดังนี้
กล่าวโดยสรุป ในการปฏิบัติโดยย่อก็คือ  จิตที่สงบสบายแต่อานาปานสติแล้ว ดำเนินต่อไปในการเจริญวิปัสสนาต่างๆเสียนั่นเอง
มิจฉาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ
สัมมาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ
มิจฺฉาสติสฺส  มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ
สมฺมาสติสฺส  สมฺมาสมาธิ  ปโหติ
(อวิชชาสูตร ๑๙/๑)
๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘)
[๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวก ผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกัน เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และ พระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ  ก็สมัยนั้นแล พระเถระทั้งหลายพากันโอวาท พร่ำสอนพวกภิกษุอยู่ คือ พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวก โอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำ สอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ
[๒๘๓] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้ เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณ ที่ตนยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุคุณ ที่ตนยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งคุณ ที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท
พวกภิกษุ ชาวชนบททราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่ง ฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะ เพิ่มประมาณขึ้น คือ ภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ
[๒๘๔] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บาน แห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับ บริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้  ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก  และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น  ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท อันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น  ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควร ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ๆ ฯ
[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็น พระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษ แล้วเพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะ สิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระสกคาทามี เพราะสิ้นสัญโญชน์๓ อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะ สิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบ ความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญมรรค มีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบ ความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ดี  อยู่ที่โคนไม้ก็ดี  อยู่ในเรือนว่างก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาวหรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาวเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้นหรือเมื่อหายใจ เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น,   สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก, ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก, ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก, ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก  ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก  ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก  ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัด หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก, ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้าดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว, หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาวเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้นหรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้า นี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง ในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย  (เพราะ)มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ (ย่อม)กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ (เพราะทำเหตุ กล่าวคือมีสติ รู้สึกตัวไม่ซัดส่ายไปปรุงแต่งนั่นเอง อภิชฌาและโทมนัสจึงระงับไปด้วยปฎิจจสมุปบันธรรม  จึงมิได้หมายถึงต้องกระทำอะไรๆเพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัส)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเรา จักเป็นผู้กำหนดรู้สุข  หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้าดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด รู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจัก ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้าดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าว อานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้าสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้าดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วย ปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   เธอเมื่อเป็นผู้ มีสติ อย่างนั้นอยู่  ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ..........ฯลฯ (เหมือนดังข้างต้นใน เห็นกายในกาย)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ..........ฯลฯ (เหมือนดังข้างต้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อ เธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอัน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรม นั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อม เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ ชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิต ตั้งมั่น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้ มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้
ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อม เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อานาปานสติสูตร ที่ ๘ 
 ......................................................
อานาปานสติภาวนา
พุทธพจน์ และ พระสูตร ๗.
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๓
                                                           
[๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่.
ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มอานิสงส์ใหญ่?
ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ดี  อยู่ที่โคนไม้ก็ดี  อยู่ในเรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก  มีสติหายใจเข้า.
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว.
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น  เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียก ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุข หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียก ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะ หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะ หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า.
ดูกรราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้  ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง
อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป  หาเป็น อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบ มหาราหุโลวาทสูตร ที่ ๒.

http://www.nkgen.com/37.htm