Thursday, July 18, 2013

ขันธ์๕



                           ขันธ์ ๕

วันนี้จะได้นำเรื่องขันธ์ ๕ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย
คือร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรา ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านี้ เมื่อรวมลงแล้วเรียกว่าขันธ์ ๕ ที่ได้ชื่อว่าขันธ์ ๕ นั้นเพราะเป็นกอง ประชุมด้วยปรากฏการณ์ ๑๑ อย่าง คือ เป็นสภาพที่มีแล้วในอดีต ๑ เป็นสภาพที่จะเป็นไปในอนาคต ๑ เป็นสภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ๑ เป็นสภาพที่มีอยู่ภายใน ๑ เป็นสภาพที่มีอยู่ภายนอก ๑ เป็นสภาพที่หยาบ ๑ เป็นสภาพที่ละเอียด ๑ เป็นสภาพที่เลว ๑ เป็นสภาพที่ประณีต ๑ เป็นสภาพที่ไกล ๑ เป็นสภาพที่ใกล้ ๑ รวมเป็นสภาพที่ปรากฎได้ใน ๑๑ ประการ เรียกว่า ขันธ์ ได้แก่เบญจขันธ์ มีอยู่ ๕ ประการคือ
๑. รูปขันธ์ กองรูป มีหน้าที่แตกดับ
๒. เวทนาขันธ์ กองเวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์รูปนาม ที่แตกดับ
๓. สัญญาขันธ์ กองสัญญา มีหน้าที่จำรูปนามที่แตกดับ
๔. สังขารขันธ์ กองสังขาร มีหน้าที่ปรุงแต่งรูปนาม ที่แตกดับ
๕. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ มีหน้าที่รู้รูปนามที่แตกดับ
ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน ได้แก่พระปรมัตถธรรมนั้นเอง อุปมาเหมือนป่าไม้ เมื่ออยู่ในป่าเรียกว่าต้นไม้ เมื่อนำมาใช้ทำบ้านเรือน เรียกว่าเสาบ้าง เรียกว่าพื้นบ้างเป็นต้น ข้อนี้ฉันใด แม้ขันธ์ ๕ ก็เอาปรมัตถ์ทั้ง ๓ ประการ เว้นพระนิพพานมาเป็นฉันนั้นเหมือนกัน คำว่าปรมัตถธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ สงเคราะห์พระปรมัตถธรรม ๓ ลงในขันธ์ ๕ ดังนี้ รูปขันธ์ คือรูป ๒๘ เวทนาขันธ์ คือเวทนาเจตสิก ๑ ดวง สัญญาขันธ์ คือสัญญาเจตสิก ๑ ดวง สังขารขันธ์ คือ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง วิญญาณขันธ์ คือจิต ๘๙ ดวง หรือกล่าวโดยพิสดารมี ๑๒๑ ดวง ส่วนคำที่ว่า เว้นพระนิพพานนั้น หมายความว่า พระนิพพานนั้นไม่นับเข้าในขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เรียกว่า ขันธวิมุตติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ ถ้ายังมีขันธ์ ๕ อยู่ก็ยังเป็นพระนิพพานไม่ได้
ขันธ์ ๕ นี้คือรูปนามนั่นเอง มีการสงเคราะห์ดังนี้
รูปขันธ์ จัดเป็นรูปธรรม
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ทั้ง ๓ นี้คือ นามเจตสิก วิญญาณขันธ์ คือนามจิต รวมนามเจตสิกกับนามจิตเข้าด้วยกันจัดเป็นนามธรรม
ขันธ์ ๕ นี้จึงได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรม เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง แต่ละครั้งๆ นั้นก็ถูกขันธ์ ๕ หมดทุกขันธ์
รูปขันธ์นั้นเป็นรูปที่ประกอบไปด้วย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือประกอบ ไปด้วย ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม อันเป็นที่อาศัยของนามขันธ์ทั้ง ๕ มีเวทนาขันธ์ เป็นต้น
เวทนาขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่ด้านรับอารมณ์ทั้งที่ดีที่ชั่ว คือทำหน้าที่รับอารมณ์และก็เสวยอารมณ์นั้นๆ
สำหรับสัญญาขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่จำอารมณ์ คือจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัสเป็นต้น
สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่คิดอารมณ์ ทั้งที่ดีที่ชั่ว
วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์
ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ นี้ รูปขันธ์เป็นที่อาศัยของนามขันธ์ทั้ง ๔ สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นทางที่จิตมาสู่อารมณ์ คือว่าเป็นวิญญาณของจิต แต่ว่าไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับจิต ขอให้ท่านทั้งหลายคิดให้ซึ้งๆ คือ เวทนา การรับอารมณ์ เสวยอารมณ์ก็ดี สัญญา การจำอารมณ์ก็ดี สังขาร คือสภาวะธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้คิดดีคิดชั่วก็ดี วิญญาณ คือสภาวธรรมที่รู้อารมณ์ที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี นั่นเป็นอาการของจิต แต่ไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับจิต คือวิญญาณขันธ์ ๕ นั้น เราคิดอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับว่าเป็นอันเดียวกัน แต่เป็นคนละอัน วิญญาณขันธ์ ๕ นั้น เป็นอาการของจิต ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณธาตุ คือเป็นธาตุรู้ แต่ว่าไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับวิญญาณขันธ์ อุปมาเหมือนกันกับพระจันทร์และแสงสว่างของพระจันทร์ พระจันทร์อุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของพระจันทร์อุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์ หรืออุปมาเหมือนกันกับพระอาทิตย์กับแสงของพระอาทิตย์ พระอาทิตย์อุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของพระอาทิตย์อุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์ หรืออุปมาเหมือนกันกับไฟฉายและแสงสว่างของไฟฉาย ไฟฉายอุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของไฟฉายอุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์ มันเป็นคนละอัน คือแสงสว่างของพระจันทร์ก็ดี พระอาทิตย์ก็ดี ไฟฉายก็ดี ก็ไม่ใช่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์หรือกระบอกไฟฉาย ส่วนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และกระบอกไฟฉาย ก็ไม่ใช่แสงสว่างของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือกระบอกไฟฉายเหล่านั้น หรืออุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงของกลอง เสียงกลองก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับกลอง กลองก็คนละอันกันกับเสียงกลอง ข้อนี้ฉันใด เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณขันธ์ ก็มิใช่อันเดียวกันกับวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับเวทนาสัญญาสังขาร วิญญาณขันธ์ เป็นคนละอัน เราจะสังเกตง่ายๆ เวลานอนว่าเป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เวลานอนหลับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์นั้นดับไปหมด แต่จิตคือวิญญาณธาตุนั้นไม่ดับ มีอาการเกิดดับๆ อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ เวลาถูกยาสลบ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์นั้นไม่เกิด มันดับไปหมด แต่จิตของเรายังไม่ดับขณะนั้น คือยังไม่ตาย เพราะเหตุไรจึงไม่รู้ เพราะว่าจิตไม่ออกไปทำงาน เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณขันธ์ก็ไม่มี เมื่อไรจิตออกไปทำงานแล้ว เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณขันธ์จึงมี ทีนี้เวลาตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์เหล่านั้นดับหมด ไม่มีเหลือ แต่จิตคือวิญญาณธาตุนี้ หากว่ายังมีกิเลสอยู่ก็ไม่ดับ ต้องไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ตามกำลังของบุญบาปที่ทำไว้ เช่นว่าถ้ามีความโกรธมากก็ไปตกนรก มีความโลภมากก็ไปเกิดเป็นเปรต ถ้ามีความหลงมากก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามีมนุษยธรรมมากก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าบำเพ็ญกามาวจรไว้มากก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา ถ้าบำเพ็ญรูปาวจรกุศลไว้มากก็ไปเกิดในรูปพรหม ถ้าบำเพ็ญอรูปาวจรกุศลไว้มากก็ไปเกิดในอรูปพรหม หมายความว่า ถ้ากิเลสยังไม่ดับก็ยังจะไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่อยู่ แต่ถ้าหากว่ากิเลสดับหมดแล้ว ตัววิญญาณธาตุนี้ก็ถึงความบริสุทธิ์ เราเรียกความบริสุทธิ์นี้ว่า พระนิพพาน เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานจิตของเราบริสุทธิ์สะอาดหมดจด จากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานอีกเลย เราเรียกผู้นั้นว่า ถึงพระนิพพานแล้ว
ขันธ์ ๕ นี้ท่านจัดเป็นมารประการหนึ่ง เพราะเป็นสภาพผู้ทำลายล้าง เป็นผู้ทำให้เกิดความลำบากอยู่หลายประการ เช่น พวกเราทั้งหลายที่มีความลำบากลำบนทนทุกข์ทรมานเจ็บโน้นปวดนี้ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะว่ามีขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ เป็นเหตุจึงมีการเจ็บไข้ได้ป่วย เหตุนั้นขันธ์ ๕ ท่านจึงว่าเป็นมารประการหนึ่ง เรียกว่าขันธมาร
อีกอย่างหนึ่ง ขันธ์ ๕ นี้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า ฆ่าโดยไม่มีความรู้สึกตัวโดย ไม่มีความสงสัย อุปมาเหมือนบุรุษคนหนึ่ง เขามีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง แต่มาคิดว่าคฤหบดีนี้ เขารักษาตัวดีนัก เราจะฆ่าโดยพลการนั้นคงฆ่าไม่ได้ จำเป็นที่เราจะต้องใช้อุบาย เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงเข้าไปขอรับใช้คฤหบดี คฤหบดีนั้นก็รับไว้ โดยที่หารู้ไม่บุรุษนั้นจะมาฆ่าตน บุรุษนั้นพยายามรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีทุกประการ จนคฤหบดีนั้นไว้ใจ มอบทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นภาระอยู่ในความดูแลของบุรุษนั้น วันหนึ่งในขณะที่คฤหบดีเผลอหลับไป บุรุษนั้นก็ใช้ดาบตัดคอคฤหบดีนั้นขาดตายไป คฤหบดีนั้นก็หาได้ทราบได้สงสัยบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่าตน เพราะเหตุนั้นขันธ์ ๕ นี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าโดยไม่รู้สึกตัว โดยที่ไม่มีความสงสัยแต่ประการใด
ทีนี้ขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติคือ ในขณะที่เรากำหนดบทพระกรรมฐานนี้ ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกันหมดทุกขันธ์ สมมติว่า ในขณะที่ตาเห็นรูปนั้น รูปขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่เห็นมีความสุขความทุกข์ไหม ถ้ามีความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี เวทนาขันธ์เกิดแล้ว อาการที่จำรูปที่เห็นนั้นได้ว่า เป็นรูปอะไร เกิดขึ้นจากไหน สัญญาขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่เห็นรูปนั้น มีความชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี สังขารขันธ์เกิดแล้ว การที่รู้ว่ารูปนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เป็นรูปของอะไร มาจากไหน วิญญาณขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่หูฟังเสียงก็เหมือนกัน สมมติว่าท่านทั้งหลายฟังการบรรยายธรรมของหลวงพ่ออยู่ในขณะนี้ ขณะที่ได้ยินเสียงนั้น รูปขันธ์มันเกิดพร้อมแล้ว ขณะที่ได้ยินนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาขันธ์เกิดแล้ว อาการที่จำได้ว่าเป็นเสียงของใคร สัญญาขันธ์เกิด เมื่อได้ยินเสียงแล้วชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี เฉยๆ ก็ดี สังขารขันธ์เกิด การที่รู้ว่าเสียงนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเสียงของใคร วิญญาณขันธ์เกิด ในขณะที่จมูกได้กลิ่นลิ้นได้รส กายได้สัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ก็เหมือนกัน ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้นพร้อมกันเลย แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ขันธ์ ๕ นี้จะเกิดพร้อมกันได้ ก็ต่อเมื่อเรามีสติกำหนด ถ้าเราไม่มีสติกำหนดขันธ์ ๕ นี้ก็ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อใดเราพยายามทำขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้เกิดขึ้นพร้อมกันทุกขณะๆ ไม่ว่าจะเป็น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ก็ตาม เมื่อนั้นการประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐานของเรา ก็สามารถที่จะดำเนินไปตามปฏิปทาที่จะได้บรรลุ อริยมรรค อริยผล พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง


ที่ข้อมูล... http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=200:2009-12-17-21-11-30&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131

No comments:

Post a Comment