Thursday, July 18, 2013

นิวรณ์ ๕ ประการ


นิวรณ์ ๕ ประการ

ณ โอกาสบัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ธรรมะที่จะนำมาบรรยายในวันนี้ ได้แก่เรื่องนิวรณ์ ๕

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การทำงานทุกสิ่งทุกอย่างทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม ไม่สำเร็จตามความประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง หรือมีอันตรายเกิดขึ้นฉันใด การเจริญพระกรรมฐานของเราไม่สำเร็จสมประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรืออันตรายเข้ามาขัดขวางฉันนั้น ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้นำเอาเรื่องนิวรณ์ ๕ ประการ ซึ่งเป็นมหาภัยอันยิ่งใหญ่ในการขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราท่านทั้งหลาย ไม่ให้ดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล นิวรณ์ธรรมนี้เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือ สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา หมายความว่านิวรณ์ธรรมนี้เป็นธรรมที่กั้นความดีไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา หรือว่ากั้นจิตใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึงคุณงามความดี อุปมาเหมือนกันกับแผ่นกระดาษหรือพลาสติก หรือน้ำยากั้นกระแสไฟฟ้าไม่ให้ช็อตกันข้อนี้ฉันใด นิวรณ์นี้ก็เป็นบาปหรือกิเลสกั้นบุญไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา เช่นเวลาที่พวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกรรมฐาน ก็กั้นศีลกั้นสมาธิกั้นปัญญา กั้นพระไตรลักษณ์ กั้นอริยมรรคอริยผล กั้นพระนิพพานไว้ไม่ให้เกิดขึ้นแก่เราหรือว่ากั้นจิตกั้นใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึงศีล สมาธิ ปัญญา พระไตรลักษณ์ อริยมรรค อริยผล นิพพาน นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ

๑. กามฉันทะนิวรณ์ ได้แก่ความรักใคร่พอใจในอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนา เช่น พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าชอบใจ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในความสุขในความสบายในความเฉย หรือพอใจในความคิดของตัวเอง พอใจในการทำงาน พอใจในการพูดการคุยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ พอใจในการเล่น ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติพระกรรมฐาน เช่นเรานั่งไป เห็นแม่น้ำ ภูเขาเห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นพรหม เห็นพ่อแม่ซึ่งได้ล่วงลับจากเราไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้า เห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็มีความใคร่ความพอใจในนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่เรา ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในแสงสว่างที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติมีความใคร่ ความพอใจในปีติ ในปัส สัทธิ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในสติ ในญาณะคือความรู้ ในอุเบกขาความเฉย หรือมีราคะดำกฤษณากำหนัดกล้า เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมพินาศอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยถูกตัดรอน คือเอาสติไปกำหนดจิตที่ถูกกามฉันทะเข้าครอบงำ ก็จะเกิดความดิ้นรนเหมือนสุนัขบ้าที่เต็มไปด้วยความดุร้าย ทำให้จิตใจใฝ่ฝันหาแต่รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัสธรรมารมณ์ที่ดีๆ นึกถึงแต่รสกามคุณที่เคยสัมผัส จนเป็นเหตุทำอะไรนอกรีตนอกรอยของธรรมวินัย ขาดหิริ ความละอายใจตัวเอง ขาดโอตตัปปะความเกรงกลัว ต่อผลของบาป ขาดการยั้งคิด ขาดความเข้มแข็ง จิตใจอ่อนแอ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของราคะดำกฤษณา แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ ลงไปแล้วจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุด เพราะว่าผู้ที่ยินดีในกามคุณหรือบริโภคกามคุณก็อุปมาเหมือนกันกับสุนัขที่ แทะกระดูกซึ่งไม่มีเนื้อ ตนเองนึกว่าเอร็ดอร่อย แต่ที่ไหนได้ต้องกลืนกินนำ้ลายตัวเองข้อนี้ฉันใด ผู้บริโภคกามคุณ ซึ่งนึกว่ามีความเอร็ดอร่อยในรสอันเลอเลิศ ก็เหมือนกันฉันนั้น

๒. พยาปาทนิวรณ์ ความปองร้าย เช่นนึกถึงคนที่เคยล่วงเกินขึ้นมา ก็เกิดความโกรธ เกิดความแค้นใจ ผูกใจเจ็บ คิดจะแก้แค้นขึ้นมา ตลอดถึงไม่พอใจในผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่พอใจในการเดินจงกรมของเพื่อน ซึ่งบางท่านอาจเดินไปพูดไปคุยไป หรือบางครั้งก็ไม่พอใจในการพูดการจามการไอ การเข้าห้องน้ำ การสรงน้ำซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง รบกวน หรือไม่พอใจในการฉันอาหารของเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน หรือไม่พอใจในผู้เทศน์ผู้สอน ผู้สอบอารมณ์ ไม่พอใจในการบรรยายธรรมะ ตลอดถึงไม่พอใจในสถานที่อยู่ ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ อันเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี และไม่พอใจในความเจ็บปวด ความคิดที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง คือไม่ชอบใจไม่พอใจในสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทำให้ใจหงุดหงิดโกรธง่าย เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมอยู่เป็นนิจ ดุจดังว่าอาวุธที่เสียบแทงดวงใจอยู่ให้ปวดร้าวแสนสาหัสฉะนั้น

๓. ถีนมิทธะนิวรณ์ คือความหดหู่ท้อถอย กำหนดบทพระกรรมฐานไม่กระฉับกระเฉง หรือจิตจับอารมณ์ไม่มั่นทำให้เวลาเรานั่งกำหนดบทพระกรรมฐานก็ไม่ได้ดี ทำให้สติสัมปชัญญะหย่อน ผู้ถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำนี้ ไม่เพียงแต่จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิเท่านั้นที่กำหนดไม่ได้ดี แม้ว่าในขณะที่ฟังบรรยายธรรมะ หรือเทศน์หรือสอนก็ดีก็หลงๆ ลืมๆ จับต้นชนปลาย จับหลังใส่หน้า จับหน้าใส่หลัง ไม่รู้ว่าอะไรเริ่มต้นท่ามกลาง และสิ้นสุดคือฟังไม่รู้เรื่อง หรือว่าประกอบการงานอย่างอื่นเช่นว่า แม่ครัวทำครัวก็ทำไม่ได้ดี บางทีไฟไหม้หม้อข้าวก็มี บางทีลืมไปเอาอย่างโน้นมาประกอบอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็เสียไป สำหรับผู้ทำการงานบางอย่างเช่นขับรถ หากว่าถีนมิทธะเข้าครอบงำ บางครั้งทำให้หลับในได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดอันตรายขึ้นแก่ตนได้ทุกขณะ ถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอนนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมทำลายล้างสติไม่ให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันรูปนาม มันซึมอยู่เนืองๆ ดุจฝุ่นที่ฟุ้งขจรไปปิดกั้นทางสัญจร ไม่ให้คนเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่เห็นทางฉะนั้น

๔. อุทธัจจกุกกุจจะนิวรณ์ ความร้อนใจเมื่อนึกถึงบาปกรรมอันตนเคยทำมาแล้ว ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้วมิใช่ว่าจะทำแต่คุณงามความดีอย่างเดียว คิดดีทำดีพูดดีอย่างเดียวหามิได้ ทุกรูปทุกนามเกิดขึ้นมาแล้ว บางครั้งก็อาจทำชั่วพูดชั่วคิดชั่วด้วยกันทั้งนั้น เหตุนั้นการทำดีพูดดีคิดดีก็ตาม การคิดชั่วทำชั่วพูดชั่วก็ตาม เวลามาเจริญพระกรรมฐานนี้ จะเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา โดยเฉพาะนึกถึงบาปกรรมที่ตนเคยทำมาแล้ว และบุญไม่ได้ทำหรือทำเพียงเล็กน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความร้อนใจเพราะนึกถึงแต่บาปกรรมที่ตน เคยทำไว้และเป็นเหตุให้เกิดคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งเรื่องในอดีต ทั้งเรื่องในอนาคต วุ่นวายทับถมจิตใจทำให้เหินห่างต่อการที่จะกำหนดรู้ในปัจจุบันธรรม ดุจดังในวสันตฤดู หมู่เมฆจากทิศานุทิศปิดบังสุริยแสงให้มืดครึ้ม อีกฝนฟ้าก็คนอง เป็นอุปสรรคต่อบุรุษผู้ต้องการเดินทางฉะนั้น เมื่อใดอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำจิตใจของเราอยู่ เมื่อนั้นแม้ว่าเราจะฟังธรรม สาธยายธรรมหรือว่าเราจะปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็ไม่สามารถบรรลุสามัญญผลตามที่ต้องการได้ ตัวอย่างเรื่องของนายตัมพทาฐิกะ ซึ่งท่านกล่าวไว้ในธรรมบทภาค ๔ มีเรื่องเล่าว่า (เรื่องนายตัมพทาฐิกะนี้ มีอยู่ในเรื่องการประหาณกิเลส ๑๐ ประการแล้ว จึงจะไม่นำมาลงไว้ในที่นี้อีก ให้ดูเอาในเรื่องการประหาณกิเลส ๑๐ นั้น)

….นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราลองนึกดูซิว่าฆ่าคนตั้ง ๒ พันกว่าคน แทนที่ตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ แต่นี่นายตัมพทาฐิกะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพียงแต่เป็นมรรคครั้งแรกเท่านั้น ก็ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายไปแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่ได้เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในวันข้างหน้า ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายหนทางที่เราจะปฏิบัติไม่ให้บาปกรรมทั้งหลายที่ เราทำไว้ติดตามทัน มีหนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งนี้ นับว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดินแล้ว ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในที่ทุกสถานใน กาลทุกเมื่อ สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้จิตใจของเราเกิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ เกิดซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นานาประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมได้ เมื่อใดเราข่มอุทธัจจกุกกุจจะลงได้ จิตใจของเราเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความสงบสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกับนายตัมพทาฐิกะ

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัย เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงไหม ใครไปเห็นมา นรกสวรรค์มีจริงไหม ไม่เห็นว่าจะน่าเชื่อที่ตรงไหน คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิดจริงไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ บาปบุญนรกสวรรค์พระนิพพานมีจริงไหม การบวชได้บุญจริงหรือ เราสึกดีกว่า เพราะเราไม่ได้บวชเอาบุญ เราบวชตามประเพณีต่างหาก ตลอดทั้งสงสัยในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ นั่งกำหนดไปเห็นนิมิตเกิดขึ้นมา เช่นเห็นแม่น้ำ เห็นป่าไม้ภูเขาลำธารสถานที่ เห็นพระพุทธรูปเห็นเจดีย์เป็นต้น ก็เกิดความสงสัยเอะใจขึ้นว่านี่อะไรกัน ก็เป็นตัววิจิกิจฉาความสงสัยแล้ว เมื่อเอะใจขึ้นมาสมาธิของเราก็ตก เมื่อสมาธิตก การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นตัววิจิกิจฉานี้ จึงเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเจริญขึ้นได้ มีความกังขาสงสัยอยู่ในใจเสมอว่า รูปนามเป็นอย่างไรหนอ สมาธิ สมาบัติมรรคผลนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ดุจบุรุษผู้เดินไปถึงทาง ๒ แพร่ง ทั้งไม่ทราบว่าจะไปตรงไหนจึงจะถูกต้อง ได้แต่นั่งรำพึงอยู่ว่า ทางไหนหนอๆ สิ้นกาลนานฉะนั้น


นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการที่กล่าวมานี้แหละ เป็นสิ่งที่กั้นกระแสจิตของเรา ไม่ให้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา ดังนั้นนิวรณ์นี้จึงเป็นภัยใหญ่อันสำคัญ ที่ขัดขวางหรือกั้นกลางไม่ให้บรรลุปฏิเวธธรรม เมื่อนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายรีบกำหนดทันที เมื่อใดเรากำหนดได้ นิวรณ์ ๕ นี้สงบลง เราก็สามารถที่จะได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสม อบรมมา……

ที่มาของบทความ....
http://www.watpit.org/index.php?option=com_content&view=article&id=206:2009-12-18-20-10-31&catid=86:2009-12-17-06-19-38&Itemid=131

No comments:

Post a Comment