Saturday, July 20, 2013

ฌาน ๔

กุศลฌาน จตุกกนัย
[๗๑๐] ฌาน ๔ คือ ๑. ปฐมฌาน ๒. ทุติยฌาน ๓. ตติยฌาน ๔. จตุตถฌาน [๗๑๑] ในฌาน ๔ นั้น ปฐมฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ประกอบ
ด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๕ คือ
วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า ปฐมฌาน
ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน
            
 [๗๑๒] ทุติยฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุทุติยฌานที่
มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ เป็นไปในภายใน เป็นธรรมชาติผ่องใส เพราะวิตกวิจาร
สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่
สมาธิ อยู่ ในสมัยใด ฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีใน
สมัยนั้น นี้เรียกว่า ทุติยฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุต
ด้วยฌาน
            
 [๗๑๓] ตติยฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทาเพื่อเข้าถึงรูปภพ เพราะคลายปีติได้
อีกด้วย จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าว
สรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ อยู่ ใน
สมัยใด ฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า
ตติยฌาน ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน
            
 [๗๑๔] จตุตตถฌาน เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญมรรคปฏิปทา เพื่อเข้าถึงรูปภพ บรรลุจตุตถฌาน
ที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะ
โสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา อยู่ ในสมัยใด
ฌานมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตาแห่งจิต มีในสมัยนั้น นี้เรียกว่า จตุตถฌาน
ธรรมทั้งหลายที่เหลือเรียกว่า ธรรมที่สัมปยุตด้วยฌาน

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๘๕๔๙ - ๘๕๘๓. หน้าที่ ๓๖๙ - ๓๗๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=8549&Z=8583

No comments:

Post a Comment