Friday, November 1, 2013

ถาม-ตอบ...แนวการปฏิบัติธรรม



๒. ปุจฉา - แล้วควรจะทำอย่างไร?  จึงจะหยุดคิดปรุงแต่งที่เป็นทุกข์เร่าร้อนเผาลนอยู่นี้ได้  มันไม่ยอมหยุดคิดหยุดนึกเลย  คอยแต่ผุดคิดผุดนึกขึ้นมาอยู่เสมอๆ
        วิสัชนา - อาการไม่สามารถหยุดคิดหยุดนึกปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านไปปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลานี้  มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อจิตดำเนินอยู่ในองค์ธรรมชรา จึงหมายถึงการถูกครอบงำหรือประกอบด้วยอุปาทานอันแรงกล้าเสียแล้ว กล่าวคือขันธ์ทุกขันธ์ที่เกิดขึ้นล้วนแฝงความว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเรื่องราวของตัวของตนอย่างยึดมั่น   เมื่อเป็นไปดังนี้แล้ว เมื่อสติระลึกรู้ขึ้นมา และเข้าใจแล้วว่ารู้ตามดังข้างต้นแล้ว  มีความรู้สึกหรือเวทนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามย่อมเข้าใจว่าเป็นไปดังนั้นตามธรรม แล้วให้ละตัณหานั้นเสียก่อน แล้วให้ถือ อุเบกขา ในโพชฌงค์ ๗ (ห้ามท้อแท้ ด้วยคิดเสียว่าฝึกสั่งสมการละตัณหา และอุเบกขา ที่เป็นองค์สำคัญยิ่งในการปฏิบัติ) กล่าวคือ เป็นกลาง วางทีเฉย ด้วยการไม่โอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ  (ไม่ใช่การหยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง) ปล่อยวาง ด้วยการไม่ไปคิดนึกแทรกแซงว่าดีหรือชั่ว  ไม่แทรกแซงว่าถูกหรือผิด  ไม่แทรกแซงว่าเราดีเขาชั่ว  ไม่แทรกแซงว่าเราถูกเขาผิด  ไม่แทรกแซงว่าบุญบาป  ไม่แทรกแซงว่าอดีตอนาคต  ไม่แทรกแซงว่าสุขหรือทุกข์  เพราะล้วนเป็นกริยาจิตที่หลอกล่อให้ไปปรุงแต่งจนเป็นทุกข์เนื่องต่อสัมพันธ์ไป   ดังนั้นผู้มีปัญญาจากการรู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ ๕  ก็จะมีพลังปัญญาหรือพลังจิตที่จะละตัณหา แล้วอุเบกขาได้อย่างมั่นคงกว่า เมื่อมีสติระลึกรู้เท่าทันขึ้นมา อันเนื่องจากการรู้เข้าใจเหตุปัจจัยด้วยตนเองอย่างแจ่มแจ้ง   ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญญาจากความเข้าใจในธรรม  ก็จะไปหาเหตุผลต่างๆนาๆ  และย่อมไม่เห็นเหตุปัจจัยอย่างปรมัตถ์  จึงกลายเป็นการดิ้นรนอย่างถูกหลอกล่อให้ไปปรุงแต่งเพื่อหาทางแก้ไขหรือปฏิบัติแบบต่างๆนาๆ ที่กลับกลายเป็นมารยาจิตที่หลอกล่อให้ปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งจนเป็นทุกข์ต่อเนื่องไปอยู่ตลอดเวลา  จึงดับทุกข์เหล่านั้นไม่ได้  จึงวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์อยู่เยี่ยงนั้น อย่างยาวนานด้วยอวิชชา
        การอุเบกขา ก็คือ รู้ตามความเป็นจริง แล้วไม่ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง  หรือก็คือ การปฏิบัติดังนี้ต่อเวทนา กล่าวคือ เมื่อเกิดสุขเวทนาก็ไม่ติดเพลิน ไม่บ่นถึง ก็คือละตัณหา แล้วไม่ปรุงแต่งหรือการไม่คิดปรุงแต่งหรืออุเบกขานั่นเอง,   เมื่อเกิดทุกขเวทนาก็ไม่พิรี้พิไร ไม่รำพัน ไม่โอดครวญ ก็มีความหมายเดียวกันคืออาการละวิภวตัณหา แล้วไม่ปรุงแต่งหรือไม่คิดปรุงแต่งหรืออุเบกขานั่นเอง   ถ้าเป็นอทุกขมสุขก็เพียงรู้เท่าทันและไม่ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์หรืออุเบกขาเช่นกัน
        ดังนั้นความหมายหรือลักษณาการของการอุเบกขาเหล่านี้ จึงเหมือนกัน  แตกต่างแต่การสื่อออกมาเป็นภาษาทางโลก หรือมุมมองในการพิจารณาตามธรรมแบบต่างๆเท่านั้นเอง เช่น ไม่ยึดมั่นหมายมั่น,  ปล่อยวาง,  อุเบกขา,  ไม่ปรุงแต่ง,  ไม่คิดนึกปรุงแต่ง,  ไม่ยินดียินร้าย,  ไม่ฟุ้งซ่านออกไปภายนอก ฯ.
        การปฏิบัติดังนี้ คือ ละตัณหาเสียก่อน แล้วอุเบกขา จึงเป็นการดับอุปาทานทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนอย่างถูกต้อง  หรือการดับด้วยการเกิดนิพพิทาจากการรู้เห็นเป็นไปตามความเป็นจริง เช่น ระลึกรู้เข้าใจในไตรลักษณ์ แล้วอุเบกขา   การดับด้วยวิธีอื่นๆล้วนเป็นการดับอย่างชั่วคราวหรือกล่าวได้ว่ายังไม่ถูกต้องดีงาม เช่น อาจด้วยกำลังขององค์ฌานกดข่ม กล่าวคือจิตมีฌานสมาธิเป็นเอกจึงไร้นิวรณ์ ๕ จึงไม่สนใจในทุกข์ อันเป็นไปได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้   หรือจากการเบี่ยงเบนบดบังด้วยอริยบถอันเป็นไปตามธรรมชาติ  หรือเป็นไปตามพระไตรลักษณ์คือคงทนอยู่ไม่ได้จึงดับไปเอง   จึงล้วนไม่ได้เกิดแต่ สติ สมาธิ ปัญญาจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องอันเมื่อปฏิบัติบ่อยๆครั้งย่อมสั่งสมเป็นสังขารอันดีงามหรือมหาสติในที่สุด
        อีกลักษณาการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถหยุดการคิดปรุงแต่งได้ คือ การเป็นมิจฉาฌาน,มิจฉาสมาธิ  คือ ปฏิบัติสมถสมาธิหรือฌานอย่างไม่ถูกต้องมาก่อน  ที่เคยมีอาการติดเพลินเพื่อเสพรสของความสุข,ความสบาย,และความสงบ อันเกิดขึ้นแต่อำนาจขององค์ฌาน,สมาธิโดยไม่รู้ตัวสักนิดในอดีต  มักเนื่องจากไม่ได้นำผลอันเกิดขึ้นจากฌานสมาธิเหล่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ในการวิปัสสนาหรือธรรมวิจยะอย่างจริงจัง    จิตจึงมีสังขารที่สั่งสมไว้หรือความเคยชินในลักษณะชอบเกาะติดแน่นหรือแน่วแน่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นสันดานอันเนื่องจากการสั่งสมในขั้นต้นในอดีตอย่างผิดๆโดยไม่รู้ตัวเพราะขาดการวิปัสสนา จนจิตมีความชำนาญอย่างยิ่งยวดในการเกาะยึดติดสิ่งต่างๆตลอดจนองค์ฌานต่างๆหรือความสุข,สงบ,สบายในสมาธิ กล่าวคือ เมื่อไม่ยึดเกาะหรือกำหนดในสิ่งใดแล้วมีความรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้จะให้จิตไปอยู่ที่ไหน  ดังนั้นเมื่อจิตหวั่นไหวเลื่อนไหลหลุดจากองค์ฌานหรือสมาธิด้วยเหตุอันใดก็ดี   จิตจึงมักหันมายึดเกาะเวทนาหรือความทุกข์หรือความคิดเป็นทุกข์เหล่านั้นที่จรเข้ามากระทบแทนอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อยคลายด้วยอำนาจของความเคยชินที่สั่งสมโดยไม่รู้ตัว  เป็นไปในลักษณะอุปัฏฐานะในวิปัสสนูปกิเลส (วิธีแก้ไขอ่านจิตส่งในติดสุข)
         ตลอดจนอาจเกิดแต่ตัณหา,อุปาทานอันเร่าร้อนรุนแรงหรือสั่งสมในเรื่องนั้นๆมานาน(อาสวะกิเลส)  จึงมีสภาพดุจดั่งฟืนที่เคยไฟมาแล้ว ที่ย่อมลุกติดไฟ(ของตัณหาอุปาทาน)ได้อย่างง่ายๆรวดเร็วและร้อนแรงกว่าฟืนธรรมดา  เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงดำเนินและเป็นไปอย่างรวดเร็วจนถึงเวทนูปาทานขันธ์หรือสังขารูปาทานขันธ์ในชรา จนสติตามไม่เท่าทันเวทนาหรือจิตก่อนถูกครอบงำด้วยตัณหาอุปาทาน   จึงอาจต้องพิจารณาดับตัณหาอุปาทานนั้นๆตรงๆเช่นกัน เช่นพิจารณาธรรมให้เกิดนิพพิทา   พึงระวังพิจารณาในวิภวตัณหาด้วย คือในความไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้เป็นไป  โดยใช้ปัญญาพิจารณาโทษหรือทุกข์นั้นตรงๆเลย  หรือหันหน้าสู้  ให้เห็นคุณเห็นโทษตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้งอย่างน้อมเกิดนิพพิทา   และข้อสำคัญยอมรับตามความเป็นจริง  เหมือนดั่งการน้อมยอมรับในเวทนา เพราะปัญญาความเข้าใจในเวทนา ที่เมื่อมีการผัสสะขึ้นย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอทุกขมสุขบ้าง เป็นทุกข์ธรรมชาติ อันเป็นไปตามธรรมหรือเหตุที่มาผัสสะ
         หรือไปอยู่กับการบริกรรม เช่นพุทโธ แบบมีสติ  หมายความว่าทำในขณะใดก็ได้อย่างมีสติ อย่างต่อเนื่องที่เป็นสัมมาสมาธิในการวิปัสสนา   ไม่ได้ต้องการให้เกิดสมถสมาธิ,หรือฌานแต่ประการใด   แต่ต้องการให้เป็นเครื่องอยู่ของจิต  คือให้จิตมีที่ยึดอย่างมีสติ ไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดทุกข์  การบริกรรมนี้จึงต้องเป็นไปอย่างมีสติ  ไม่ต้องการให้เลื่อนไหลไปเป็นสมถสมาธิหรือฌานที่ให้แต่ความสงบสบายแต่อย่างใด   พุทก็รู้ว่าพุท  โธก็รู้ว่าโธ  คือ พุท ขึ้นในใจก็ให้รู้ว่าพุท   โธ ขึ้นในใจก็ให้รู้ว่าโธ  อย่างมีสติ   อาจเว้นจังหวะถี่ ยาว สั้น ตามสะดวกไม่ต้องสมํ่าเสมอก็ดี จะได้ไม่เลื่อนไหลเพราะคล่องปากคล่องใจไปสู่สมาธิระดับประณีต   ขอให้มีสติเมื่อพุท เมื่อโธก็แล้วกัน  การบริกรรมอย่างมีสติไม่เลื่อนไหลนี้ถ้าพิจารณาโยนิโสมนสิการแล้ว ก็เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาอย่างหนึ่ง  คือการมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต(จิตสังขาร)  พุทโธนั้นเป็นจิตสังขารอย่างหนึ่งที่เราสังขารหรือปรุงขึ้นนั่นเอง
        ถ้ายังไม่สามารถดับทุกข์ที่กำลังเร่าร้อนเผาลนในชราลงไปได้อีก  ก็ให้ใช้วิธีปฏิบัติดังใน ภิกขุณีสูตร อันเป็นการใช้ทั้งสติ สมาธิในการดับทุกข์ที่กำลังเผาลนจนร้อนรุ่ม  หรือใช้การเจริญโพชฌงค์ ๗ เฉพาะกาล เป็นเครื่องปฏิบัติ
อ่านบทความเพีมเติมได้ที่........http://www.nkgen.com/757.htm#รวม

No comments:

Post a Comment