Thursday, October 31, 2013

อวิชชา ๘ ความไม่รู้และไม่ปฏิบัติ ตามความเป็นจริงแห่งธรรม

        ๑. ความไม่รู้ใน"ทุกข์"  ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ รู้ และให้ดับสนิทนั้น หมายถึงทุกข์อุปาทานหรือการเกิดอุปาทานขันธ์ ๕, และรู้เท่าทันทุกข์อุปาทานที่เกิดนั้น,  ตลอดจนไม่เข้าใจเวทนา จึงไม่ยอมรับทุกขเวทนา-ความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นชนิดไม่ถูกใจไม่สบายใจหรือไม่ชอบใจอันเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่งที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   จึงเกิดการสับสนไม่เข้าใจ  การปฏิบัติจึงไม่ถูกเป้าหมายที่ถูกต้อง  อันย่อมทำให้การดับไปแห่งทุกข์ไม่สัมฤทธิ์ผล ดังเช่น ต้องปฏิบัติเพื่อดับอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์อย่างแท้จริงที่สามารถดับลงไปได้  แต่ด้วยอวิชชาจึงไม่รู้ จึงกลับไปพยายามปฏิบัติในแนวทางที่จะดับทุกขเวทนาอันเป็นสภาวธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิตหรือขันธ์หนึ่งของชีวิต ที่อย่างไรเสีย ก็ต้องมีอยู่
        ๒. ความไม่รู้ใน"สมุทัย"  เหตุหรือปัจจัยให้เกิดทุกข์คือตัณหา อันมี ๓  กามตัณหา-ความอยากในกามหรือในทางโลกๆ(เช่นใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส), ภวตัณหา-ความอยากในธรรมารมณ์(สิ่งที่สัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยใจ), ตลอดจนวิภวตัณหา-ความไม่อยากในธรรมารมณ์,หรือความอยากในความไม่อยาก หรือความอยากดับสูญ  อันล้วนเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงให้เกิดอุปาทาน อันเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นในที่สุด   เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ จึงไม่ระมัดระวังจึงสร้างตัณหาความทะยานอยาก  หรือความไม่อยากแอบแฝงขึ้น  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขึ้น
        ๓. ความไม่รู้ใน "นิโรธ"  ความสุขจากการหลุดพ้น  ว่าเป็นเช่นใด?  ไม่เคยสัมผัส หรือไม่เข้าใจสภาวะนิโรธอันว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน อันยังผลให้เกิดอุปาทานทุกข์อันรุ่มร้อนเผาลนขึ้น,  บางทีเข้าใจผิดไปยึดความสุขสงบในฌาน หรือความว่างในอรูปฌาน   ทําให้ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้วจักเป็นสุขสงบบริสุทธิ์เยี่ยงใด?   หรือดับร้อนอะไร?  เยี่ยงใด?   คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม?   มีจริงหรือเปล่า?   และมักเข้าใจผิด จับสภาวะผลของความสุขสงบสบายอันเกิดแต่การปฏิบัติสมาธิหรือฌาน  หรือความว่างในอรูปฌานว่าเป็นสภาวะนิโรธ ฯลฯ.   ทั้งหลายเหล่านี้ทําให้จริงๆแล้วยังคงมีความกังวลความสงสัยอยู่ลึกๆในจิต(วิจิกิจฉา)  จึงทำให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างผิดแนวทางโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา
        ๔. ความไม่รู้ใน"มรรค"   แนวทางปฎิบัติเพื่อการดับทุกข์   ควรปฏิบัติอย่างไร?   ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ   ปฏิบัติไม่ถูก  ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน?   วิธีใด?  ของใครถูกแน่?  มรรคองค์ใดแน่ๆที่ทำให้พ้นทุกข์?  ต้องปฏิบัติเป็นลำดับหรือไม่?  จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติอยู่เสมอๆ อันมักก่อให้เกิดการปฏิบัติแบบนอกลู่ผิดทาง อันนําผลร้ายมาสู่นักปฏิบัติเองโดยไม่รู้ตัว
        ๕. ความไม่รู้"อดีต"   อันคือการไม่รู้ระลึกชาติ หรือภพ(ชาติ ภพ ในปฏิจจสมุปบาท)ที่เคยเกิดเคยเป็นต่างๆในอดีต ของปัจจุบันชาติ อันคือ สภาวะมนุษย์ในชาตินี้นั่นเอง  หรือก็คือการย้อนระลึกขันธ์ ๕ หรืออุปาทานขันธ์ ๕ (การกระทําต่างๆในอดีตโดยการพิจารณาเป็นระบบอย่างแยบคาย)ที่เคยเกิด เคยเป็น  กล่าวคือ ไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขันธ์ ๕ ที่เคยเกิดๆดับๆในอดีตว่า ก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์ขึ้นนั้น เกิดแต่เหตุปัจจัยอะไร?  มิใช่อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นเองอย่างไร้เหตุผล   การรู้อดีต หรือการระลึกชาติภพในปฏิจจสมุปบาทมีจุดประสงค์เพื่อเป็น เครื่องรู้(ความรู้)  เครื่องระลึกเพื่อเตือนสติ  เครื่องพิจารณาเพื่อก่อให้เกิดปัญญาญาณและนิพพิทา(ความหน่าย คลายกําหนัดในความชื่นชม ความยินดี)ในสิ่งที่ไปยึดไปอยาก  อันยังผลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์   การรู้อดีตจึงมิได้มีเจตนาเพื่อการพิรี้พิไร ครํ่าครวญอาลัยในอดีต หรือมุ่งหมายทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่ประการใด หรือเพื่อประโยชน์ในทางโลก (พิจารณาในปฏิจจสมุปบาทจนเข้าใจเรื่องภพ ชาติ ชรา-มรณะ จนมีความเข้าใจแล้ว ลองย้อนมาพิจารณาอีกครั้ง)
        ๖. ความไม่รู้"อนาคต"  การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ)ของขันธ์ทั้ง ๕ หรือการเกิดๆดับๆของขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาว่าล้วนเป็นไปตามกรรม(การกระทําที่มีเจตนา)และหลักอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น    และในอนาคตนั้น ก็จักต้องเป็นเช่นนั้น เป็นไปตามหลักเหตุผล-อิทัปปัจจยตา อันเกิดมาแต่กรรมอันคือการกระทํานั่นเอง   และความทุกข์ในภายหน้าก็ล้วนเกิดๆดับๆอันเกิดแต่กรรมอันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับอดีต   และด้วยความความไม่รู้อนาคต  จึงประมาท  ขาดการป้องกัน  จึงมิได้ระมัดระวัง  สำรวม  หรือแก้ไข,  กล่าวคือ การรู้อนาคตนั้นเพราะการเข้าใจในหลักเหตุปัจจัย(อิทัปปัจจยตา)นั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้  ผลเยี่ยงนี้จึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน   อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจในเหตุหรือสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อย่างแจ่มแจ้งหรือหลักอิทัปปัจจยตา  จึงย่อมรู้ผลที่จักเกิดขึ้นในอนาคต  เพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ  ระวังป้องกันแก้ไข  หรือยังให้เกิดนิพพิทาเช่นกัน  มิใช่เพื่อประโยชน์ในทางโลกๆ
        ๗. ความไม่รู้ใน"อดีตและอนาคต"  คือ เมื่อไม่รู้อดีตและอนาคต  จึงไม่สามารถหยั่งรู้ได้ถึงทุกข์ต่างๆที่จักต้องบังเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากอดีต  จึงเกิดการไม่ยอมรับเมื่อวิบากกรรมเหล่านั้นมาเยือน จึงไม่เข้าใจในผลหรือเหตุปัจจัยต่างๆที่จะเกิดในอนาคตอย่างถูกต้องตามธรรมหรือตามความเป็นจริง  จึงเกิดความไม่เข้าใจ  ความไม่รู้  ความไม่มีเครื่องเตือนสติ  และเกิดความประมาทขึ้นเป็นที่สุด จึงไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา   การรู้อดีตหรือรู้อนาคตไม่ได้เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์หรือประโยชน์ในทางโลกแต่อย่างใด  แต่ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดับทุกข์  พึงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
        ๘. ความไม่รู้ใน"ปฏิจจสมุปบาท"   ไม่ทราบ, ไม่รู้กระบวนการเกิดขึ้นแห่งทุกข์และกระบวนการดับไปแห่งทุกข์  เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจจึงย่อมไม่สามารถดับทุกข์ที่เหตุปัจจัยได้อย่างเข้าใจและถูกต้องตามจริง(ปรมัตถ์),   อันอุปมาได้ดั่ง "ช่างยนต์ที่ไม่รู้ไม่ศึกษาเรื่องเครื่องยนต์  แล้วจักซ่อมเครื่องยนต์ให้ได้ดีและเร็วได้ฉันใด"
        ดังนั้นเมื่อไม่รู้ ไม่เห็น และไม่เข้าใจในปฏิจจสมุปบาทหรือเรื่องการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ด้วยอวิชชา  จึงไม่มีการแก้ไข  หรือแก้ไขหรือปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง,  จิตย่อมถูกครอบงําด้วยอาสวะกิเลสอันเป็นสัญญาความจําที่แฝงด้วยกิเลสที่ทําให้จิตขุ่นมัวอันนอนเนื่องอยู่ในจิต  กล่าวคือ เมื่ออาสวะกิเลสผุดขึ้นมาจะเป็นด้วยผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ๑   หรือเจตนาขึ้นมา๑  หรือเกิดแต่การกระทบผัสสะขึ้นมา๑  ก็ตามที  ก็จักเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาโดยทันที  จึงเป็นเหตุที่ไปกระตุ้น เร่งเร้า ส่งเสริมให้เกิดสังขารสิ่งปรุงแต่ง อันหมายถึงการกระทําต่างๆทั้ง ๓ ทาง อันมี มโนสังขาร(จิตสังขารหรือความคิด),  วจีสังขาร(ทางวาจา),  กายสังขาร(การกระทําทางกาย) ตามความเคยชินที่ได้เคยสั่งสม ได้เคยอบรม หรือได้เคยประพฤติ, ได้เคยปฏิบัติ หรือก็คือการกระทํา(กรรม)ต่างๆแต่ในอดีต  จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารอันเป็นเหตุ เช่นความคิด ความนึก ความเห็น  อันล้วนแฝงกิเลส จึงเป็นเหตุก่อ ให้ดำเนินไปในกองทุกข์
         สังขารในปฏิจจสมุปบาท ที่หมายถึง การกระทําต่างๆนั้น เช่น การกระทําทางใจ-ความคิดนึกต่างๆ, การกระทําทางวาจา-การพูดจาต่างๆ, การกระทําทางกาย-การกระทําต่างๆทางกาย  ล้วนเป็นไปตามความเคยชินตามที่ได้สั่งสม,จดจำ,อบรมหรือประพฤติ,ปฏิบัติมาแล้วแต่อดีต ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ หรืออาสวะกิเลสและร่วมด้วยกับอวิชชาความไม่รู้ นั่นเอง
ในที่นี้ เราจะเน้นที่จิตหรือใจอันยังให้เกิดมโนสังขารหรือการกระทําทางใจหรือจิต อันคือ ความคิดนึก
ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหลักหรือศูนย์บัญชาการของชีวิต,  และทําให้เกิดทุกข์และดับทุกข์โดยตรง
ตลอดทั้งยังเป็นต้นกําเนิดหรือเหตุปัจจัยหลักของ
กายสังขารอันยังให้เกิดกายกรรม-การกระทําทางกาย  และ
วจีสังขารอันยังให้เกิดวจีกรรม-การกระทําทางวาจา
ผ่านทางสัญเจตนาหรือเจตนาอันเกิดมาแต่จิตหรือใจนั่นเอง
จึงกล่าวได้ว่าจิตเป็นประธานทั้งต่อฝ่ายกายและฝ่ายใจ  เป็นไปดังพุทธพจน์นี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม  บุคคลคิดแล้ว  จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ



อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี้ครับ.........http://www.nkgen.com/patitja1.htm







No comments:

Post a Comment