Monday, July 1, 2013

ปาฏิหาริย์ ๓ ประการ-อิทธิปฏิหาริย์


                           พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
๑๑. เกวัฏฏสูตร
เรื่องนายเกวัฏฏ (ชาวประมง)
             [๓๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา. ครั้งนั้น เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มี-
*พระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ เมื่อเกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรกราบทูลดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ แก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาวห่มขาวดังนี้. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร ได้กราบทูลเป็นคำรบสองว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้จำกัด พระผู้มีพระภาคเพียงแต่กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่ง ที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณ แม้ครั้งที่ ๓ เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรก็ได้กราบทูลอย่างนั้น.

ปาฏิหาริย์ ๓ ประการ-อิทธิปฏิหาริย์
             [๓๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงได้ประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ
อิทธิปาฏิหาริย์ ๑
อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๑
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๑
ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน?
 ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใส เห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ครั้นแล้วเขาจะบอกแก่คนผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่านไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า ท่าน มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ได้ด้วยวิชาชื่อว่า
คันธารีนั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า  
ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์. 
อาเทสนาปฏิหาริย์
             [๓๔๐] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้จิตของท่านเป็นดังนี้. ครั้นแล้วเขาบอกแก่คนที่ยังไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่าอัศจรรย์จริงหนอ ท่าน ไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ทายใจ ทายความรู้สึกนึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ ... เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวกะเขาว่าท่าน มีวิชาอย่างหนึ่งชื่อว่า มณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิดทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นก็ได้ ... ด้วยวิชาชื่อว่า มณิกานั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสกันบ้างไหม? พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอาเทสนาปาฏิหาริย์.

อนุสาสนีปาฏิหาริย์
             [๓๔๑] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าทำในใจอย่างนั้นจงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด นี้เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
             [๓๔๒] ดูกรเกวัฏฏ์ อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกพระธรรม พระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติ-*โมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.

 เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙  บรรทัดที่ ๗๓๑๗ - ๗๘๙๘.  หน้าที่  ๓๐๖ - ๓๒๙.
                                                                                    By….ธรรมะ คือปกติของชีวิต


                                                                                 

No comments:

Post a Comment