Wednesday, November 20, 2013

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กลับไปสารบัญ
 ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร      
พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไปหรือดำเนินไป
       พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม ขับเคลื่อนพระศาสนา เป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคียทั้ง๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  คือภายหลังจากการตรัสรู้แล้ว ๒ เดือน ซึ่งก็คือวันอาสาฬหบูชาในสมัยปัจจุบันนั่นเอง   เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุดทั้ง ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ความจริงของอริยะ หรือความจริงอันประเสริฐทั้ง ๔  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ(ญาณชนิดตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม)
       ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)  และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระศาสนา เรียกว่าเป็น ปฐมสาวก
กลับไปพุทธพจน์
ปฐมเทศนา
แสดงธรรมเป็นครั้งแรกในโลก แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
(จาก พระไตรปิฎก ฉบับสมาคมศิษเก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
        [๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
        การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย (กามสุขัลลิกานุโยค)  
        เป็นธรรมอันเลว   เป็นของชาวบ้าน  เป็นของปุถุชน
        ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
        การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค)
        ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น   
        นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
        ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
        ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?
        ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละคือ  
                ปัญญาอันเห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ) ๑,   
                ความดำริชอบ(สัมมาสังกัปปะ) ๑,   
                เจรจาชอบ(สัมมาวาจา) ๑,   
                กระทำชอบ(สัมมากัมมันตะ) ๑,   
                เลี้ยงชีวิตชอบ(สัมมาอาชีวะ) ๑,   
                พยายามชอบ(สัมมาวายามะ) ๑,  
                ระลึกชอบ(สัมมาสติ) ๑,   
                ตั้งจิตชอบ(สัมมาสมาธิ) ๑  
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.
        [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์   ความแก่ก็เป็นทุกข์   ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์   ความตายก็เป็นทุกข์   ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์   โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก  ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน(นันทิ)  มีปกติเพลิดเพลิน(นันทิ)ในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา.  
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือ  ด้วยมรรคคือ วิราคะ  สละ  สละคืน  ปล่อยไป  ไม่พัวพัน.
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คืออริยมรรคมีองค์ ๘นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ............. ตั้งจิตชอบ ๑.
        [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๑)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.(ญาณทัสสนะที่ ๒)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๓)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขสมุทัยอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๔)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.(ญาณทัสสนะที่ ๕)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๖)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๗)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.(ญาณทัสสนะที่ ๘)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๙)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.(มรรค) (ญาณทัสสนะที่ ๑๐)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค)นี้นั้นแล ควรให้เจริญ.(ญาณทัสสนะที่ ๑๑)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค)นี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๑๒)    (แสดงสรุปญาณทัสสนะทั้ง ๑๒ อาการ ในบทอริยสัจ ๔)
 ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓  มีอาการ ๑๒
        [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓  มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า  เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.  
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.
         อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.
         ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่   ดวงตาเห็นธรรม  ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.
         [๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้ บันลือเสียงว่า
         นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี
         อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ  ใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
         เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
         เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
         เทวดาชั้นยามา ...  เทวดาชั้นดุสิต ...  เทวดาชั้นนิมมานรดี ...  เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...
         เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม  ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า
         นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี  
         อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
         ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก  ด้วยประการฉะนี้แล.  
         ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.  
         ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ  ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
[ "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" - โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ]
         เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบ

ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
          [๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรา กล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น. (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)
          [๑๙] ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือจากนั้น ด้วยธรรมีกถา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.
ท่านทั้งสองนั้น ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความ สงสัยได้แล้ว
ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย  ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า  ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสองพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งสองจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งสองจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุทั้งสองนั้น.
          ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวาย ได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถา.
ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตนำบิณฑบาตใดมา ทั้ง ๖ รูปก็เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนั้น.
          วันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.
ท่านทั้งสองได้เห็น ธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัย ได้แล้ว
ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสอง พึงได้บรรพชา พึงได้ อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งสองจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งสองจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
          พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุทั้งสองนั้น.

No comments:

Post a Comment