Wednesday, November 20, 2013

อนัตตลักขณสูตร

กลับไปพุทธพจน์

อนันตลักขสูตร
                  
ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เรื่องอนัตตาในขันธ์ ๕ ต่อเหล่าพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนสำเร็จพระอรหันต์
        [๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
        รูปเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตา(ใช่ตัวตน, มีตัวตน หรือเป็นของตัวตน อย่างแท้จริง)แล้ว  รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ(ความเสื่อม ความเจ็บไข้ ความแปรปรวน)  และบุคคลพึงได้(หมายถึง เมื่อเป็นเราหรือของเราจริงๆ ย่อมต้องบังคับบัญชาได้ตามปรารถนา)ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
        ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย  ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตัวตน  ตัวตนหรือกายที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆนั้น เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของเหล่าเหตุที่มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งกัน คือ ธาตุ ๔) ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวนด้วยอนิจจัง จึงเจ็บป่วย)  และบุคคลย่อมไม่ได้(หมายถึง ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาเพราะว่ารูปขึ้นอยู่กับเหตุคือธาตุทั้ง ๔  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา) ในรูปว่า  รูปของเรา จง(สวย จงงาม)เป็นอย่างนี้เถิด  รูปของเรา อย่าได้(น่าเกลียด)เป็นอย่างนั้นเลย.
(กล่าวคือ รูปนั้นเป็นเพียงมวลหรือก้อนหรือฆนะของเหตุที่มาเป็นปัจจัยกัน คือธาตุ ๔  จึงย่อมขึ้นหรือเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันคือธาตุ ๔  แท้จริงหรือปรมัตถ์แล้วจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวตนที่หมายถึงเราหรือของเรา  ถ้ารูปนั้นเป็นของเราหรือของตัวของตนจริงๆแล้วไซร้ จะต้องขึ้นอยู่กับเราจึงย่อมควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา  ต้องควบคุมบังคับให้สวยให้งามได้และไม่แปรปรวนหรือดับไปตามสภาวธรรมได้ด้วยตัวตนของตนเองอย่างแท้จริงและแน่นอน  รูปหรือกายจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา, เพียงแต่การบังคับให้กายกระทำอะไรๆอันเป็นเพียงการกระทำคือกายสังขาร หรือบางครั้งไปควบคุมเหตุบางประการได้ชั่วขณะหนึ่งๆ จึงก่อมายาจิตคิดไปเอาเองว่าเป็นเราหรือของเราที่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ตามปรารถนา,  ในขันธ์อื่นๆก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนขึ้นอยูกับเหตุนั้นๆ จึงขึ้นหรืออิงหรือเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยกัน  จึงย่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราหรือตัวเราเช่นกัน,  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมการเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นได้ในพระไตรลักษณ์และขันธ์ ๕)
         เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  และบุคคลพึง(ควบคุมบังคับบัญชา)ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด(ดังเช่น จงเป็นแต่สุขเวทนาเถิด)   เวทนาของ เราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย(ดังเช่น ขอได้อย่าเกิดทุกขเวทนาใดๆเลย).
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา  ฉะนั้นเวทนาจึง เป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวน) และบุคคลย่อมไม่(สามารถควบคุม)ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด  เวทนาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  สัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่าสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  สัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.  
         สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้วสังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของ  เราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะ สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา  ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด  สังขารทั้งหลายของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่าวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้นวิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่าวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.  
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
        [๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน  รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
         พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
         . ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         . เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
         (โยนิโสมนสิการจากปฎิจจสมุปบาท และพระไตรลักษณ์  จะพบความจริงได้ด้วยตนเองในที่สุดว่า ทั้งสุขและทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ย่อมเป็นทุกข์ในที่สุดทั้งสิ้น)
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
         ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?  
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง?  
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?  
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?  
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?  
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ
(ยถาภูตญาณทัสสนะ - ความรู้ความเห็น ตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง)
         [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
         รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก(ภายในหมายถึงรูปกายของตน, ภายนอกหมายถึงของบุคคลอื่น) หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ (สัมมาญาณ) ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก  หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
         (ไม่ใช่ของเราอย่างจริงแท้แน่นอน,  เพียงเกิดแต่เหตุปัจจัย ขึ้นระยะหนึ่ง แล้วต้องแปรปรวนดับไปเป็นที่สุดอย่างจริงแท้แน่นอน).
         สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบ หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก  หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         [๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้  
         ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ
         เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด  เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น, เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
         อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
         [๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน ภาษิตของผู้มีพระภาค.
         ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อนัตตลักขณสูตร จบ
อนัตตลักษณะ : ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา
        ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของไม่ใช่ตัวใช่ตน หรือมิใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตน โดยอรรถต่างๆ
        ๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(
สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย  เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ ด้วยฆนะ, แต่ความจริงอย่างยิ่งหรืออย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว  มิได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ  แท้จริงจึงขึ้นอยู่กับเหตุที่มาประชุมกันอันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา จึงไม่ใช่อะไรหรือของใครให้เป็นเจ้าของได้  เพราะย่อมขึ้นอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใด  โดยแท้จริงจึงว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นาย ก. นาย ข. หรือการสมมติเป็นต่างๆ(สมมติสัจจะ)
            เป็นของสูญ ในความหมายของอสังขตธรรมเช่นกัน ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมหรือสภาวธรรมที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการประชุมหรือปรุงแต่งกันขึ้นเป็นสังขาร อันเป็นฆนะกลุ่มก้อนของการที่มีเหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน
        ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้  ไม่เป็นของใครจริง  แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้  เพราะเกิดแต่
เหตุปัจจัยจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัย  จึงไม่ได้ขึ้นหรืออิงอยู่กับผู้ใดอย่างแท้จริง
        ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ  ไม่เป็นไปตามความปรารถนา  
ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง  เพราะสภาวะของสังขาร
เองก็มีแรงแต่ภายใน ตลอดจนแรงจากภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุด โดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง  แต่เพราะมีการควบคุมบังคับเหตุได้บ้างบางส่วนและได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันโดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชาว่าสามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา
        ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็น
สังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
        ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็น
อัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา  (แสดงรายละเอียดของอัตตาในขันธ์ ๕ ว่ามีจริงหรือไม่)
        ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงจึงก่อให้เกิดทุกข์  เมื่อธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่ไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหาหรือไปยึดมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)ว่าเป็นของตัวตน ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(สติ)เหล่านั้น ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา

No comments:

Post a Comment