Monday, May 25, 2015

ละอุปาทาน



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ที่เรามาพร้อมกันวันนี้ให้พากันดูใจของตน ให้รู้จักที่อยู่ที่อาศัยของตน
เกิดมาแล้วเราต้องแสวงหาที่พึ่งของเรา ถ้าเราไม่มีที่พึ่งที่อาศัยแล้วเราก็ไม่มีที่อยู่ 
เหตุฉะนั้นเราก็ต้องหาหลักฐาน ต้องอบรมกรรมฐาน 
เหตุไฉนเรียกว่ากรรมฐาน 
กรรมว่างานที่ทำ ฐานะคือที่ตั้ง 
เวลานี้จิตเราตั้งอยู่ ณ สถานใด ในภูมิอันใด ในภพใด 
อยากรู้ต้องกำหนดจิตเข้า นึกคำภาวนาไปให้รู้จักหลักฐานของเรา 
เราเคยทำบริกรรมภาวนา ระลึกคำภาวนาอันใดแล้ว 
เราก็ระลึกคำภาวนานั้นๆ เพ่งดูจิตดวงนั้นว่าอยู่สถานใด 
เวลานี้จิตของเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตสงบหรือไม่สงบ 
เราต้องการความสุขต้องการความเจริญ จงทำจิตให้สงบอยู่ในกรรมฐาน 
ฐานที่ตั้งนี้พระพุทธเจ้าท่านวางไว้
หลักของพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องวัด 
ศีล เวลานี้เราทั้งหลายก็เป็นผู้สำรวมอยู่แล้ว 
กายก็ดีวาจาก็ดี ใจก็ดี เป็นปกติหรือสงบระงับอยู่แล้ว ยังอยู่แต่สมาธิ 
สมาธิเป็นผู้ตั้งจิตมั่นอยู่ภายใน ก็ลองตั้งดูซิ 
จิตตั้งมั่นนั้นเป็นอย่างไร มันไม่ได้ส่งไปข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง 
ตั้งจำเพาะอยู่ที่รู้ ความรู้อยู่ตรงไหนเราก็เพ่งดูอยู่ตรงนั้น 
เราไม่ต้องหา ดูสิ่งที่มีอยู่ มีอยู่ในดวงจิตของเรา มันอยู่อย่างไรก็ดูอยู่อย่างนั้น 
เพื่อว่าจะได้รู้จักความเป็นอยู่ของเรา 
มันเป็นสุขเราก็รู้จัก มันเป็นทุกข์เราก็รู้จัก มันเฉยๆ เราก็รู้จัก 
สมาธิคือมันว่างจากอารมณ์สัญญาหมด เราก็รู้จัก 
จิตของเราตกอยู่ในชั้นใดภูมิใด เราก็รู้จัก 
เช่นตกอยู่ในกามาวจรหรือพ้นจากกามาวจร อย่างนี้เราก็รู้จัก
จิตพ้นจากกามาวจรนั้นอย่างไร คือจิตอยู่ในกามาวจรนั้น
มันท่องเที่ยวอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย เป็นที่อารมณ์อยู่ 
ที่เรียกว่าผู้มีความยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ทั้งหลาย 
อย่างนี้เรียกว่าจิตอยู่ในกามาวจรภูมิ อยู่ในภพที่เรียกว่ากามภพ
จิตพ้นจากกามาวจรเป็นอย่างไร
คือมันปล่อยวางรูปภายนอก เสียงภายนอก กลิ่นภายนอก รสภายนอก 
สัมผัสอารมณ์ทั้งหลายไม่มี 
เห็นแต่อัตตภาพร่างกายของเรานี้ มาพิจารณาสังขารร่างกายของเรานี้อยู่จำเพาะตัวของเรา 
ไม่ได้ส่งจิตไปอื่นไปไกล เห็นแต่สังขารร่างกายของเราเอง 
ความชำรุดทรุดโทรม หรือเห็นสังขารร่างกายอย่างที่เป็นอยู่นั้นอย่างนั้น 
มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เหล่านี้ ไม่มีสิ่งอื่นจะยิ่งไปกว่านี้ จะเหนือไปกว่านี้ 
ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เห็นความชำรุดทรุดโทรม หรือเห็นความแตกสลายไป 
จิตมันก็เลยละจากรูปนี้ เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปนี้ 
เพราะรูปนี้ไม่มีแก่น ไม่มีสาร ไม่มีสาระ 
เราถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา 
เมื่อเราพิจารณาในมูลกรรมฐานแล้ว
เห็นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา 
เหตุใดจึงว่าเช่นนั้น เราก็พิจารณาดูซี่ ยกขึ้นมาอย่างนี้ 
ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด 
เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว 
เขโล น้ำลาย สิงคานิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มูตตัง น้ำมูตร 
นี่มันเป็นคนที่ไหน มันไม่ได้เป็นผู้หญิงผู้ชาย ไม่ได้เป็นใครทั้งหมด มันเป็นอย่างนั้น
เมื่อเราเห็นอย่างนี้แล้วเราจึงละสักกายทิฐิได้ 
วิจิกิจฉา ความสงสัยเคลือบแคลงว่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่มี เป็นจริงอย่างนั้น 
เราเห็นอย่างนั้นแล้ว จิตของเราก็ว่าง สงบลงไป 
เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็พิจารณาเห็นได้ 
เช่นว่าน้ำมูกนี่มันจะเป็นคนได้อย่างไร น้ำลายจะเป็นคนได้อย่างไร น้ำมูตรจะเป็นคนได้อย่างไร 
พิจารณาดู เมื่อเราพิจารณาเห็นจริงแจ้งประจักษ์อย่างนั้นแล้ว 
เห็นว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ไม่มีเราไม่มีเขา 
สิ่งเหล่านั้นเขาไม่ได้เป็นอะไร เขาต่างอยู่อย่างนั้น 
เราหลงถือเอาเขาเป็นตัวเป็นตนเสียเอง 
เราพิจารณาแยกธาตุจำแนกออกแล้ว เลยเห็นว่าไม่มีตัวตน มันก็เลยละสักกายทิฐิ 
สัตว์บุคคลมันก็ละได้วางได้ อารมณ์ สัญญาทั้งหลาย วิจิกิจฉาก็ไม่มีแล้ว 
สีลัพพัตตปรามาส ความลูบคลำว่าจะดีอย่างนั้นจะดีอย่างนี้ ก็ไม่มีแล้ว มันก็เลยละได้
เมื่อจิตละได้แล้วมันก็วางจากรูป วางจากรูปมันก็ถึงอรูปภพ
อรูปภพคือเป็นอย่างไร คือจิตว่างหมดไม่มีอะไร เหลือแต่ผู้รู้
ความรู้นี่แหละเป็นของสำคัญ ที่เรียกว่า “พุทธะ” คือผู้รู้
เพราะเหตุนี้เราก็มาแสวงหาความรู้ เราต้องการความรู้
เราก็ทำความรู้นั้นอยู่ พิจารณาความรู้นั้นอยู่ 
ความรู้นี้ไม่ใช่มืด ไม่ใช่แจ้ง ไม่ใช่สว่าง ไม่ใช่หลง 
ความที่มันหลงเราก็รู้อยู่ มืดเราก็รู้อยู่ สว่างเราก็รู้อยู่ สุขมันก็รู้ ทุกข์มันก็รู้ อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ต้องกำหนดความรู้นี้ให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์ในตัวของเรา
ความรู้นี้เป็นของสำคัญมาก เช่นทุกขเวทนาเกิดขึ้น
ก็ใช้ความพิจารณาให้เห็นจริงว่าเวทนาก็เป็นส่วนเวทนา 
ผู้รู้ไม่ได้เป็นอะไรไปด้วย ไม่ได้แตกทำลายอะไรหรอก มันยังรู้อยู่ 
สุขเวทนาก็เช่นกัน สุขเกิดขึ้นก็รู้ว่าสุขมันเกิด 
รู้อยู่อย่างนั้น ไม่ไปหลงว่าสุขนั้นเป็นตัวตนของเรา 
ทุกข์เกิดขึ้นเราก็ดูให้รู้อยู่ว่ามันเกิดขึ้น ไม่ไปยึดความทุกข์เอาเป็นตัวเรา 
มืดเกิดขึ้นเราก็ดูมันรู้อยู่ สว่างเกิดขึ้นเราก็ดูมันรู้อยู่ 
ความรู้นี้เหนืออะไรๆ หมด เหนือโลกเหนือโลกุตตรธรรมทั้งหลาย 
มันเป็นอย่างนั้นแหละความรู้ เกิดมันก็รู้ แตกมันก็รู้ 
แต่ว่าเราทั้งหลายเห็นความเกิดขึ้นมาก็หลง เห็นความตายขึ้นมาก็หลง 
แท้ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น แก่เราก็รู้ว่าแก่ ผู้รู้มันไม่ได้แก่ด้วย 
เจ็บไข้ได้พยาธิมันก็รู้อยู่ ผู้รู้ไม่ได้เจ็บไม่ได้ไข้ไปด้วย 
ตายมันก็รู้อยู่ ผู้รู้มันไม่ได้ตาย ที่จริงมันเป็นอย่างนี้
เหตุฉะนั้นให้พากันเร่งปฏิบัติภาวนา เพ่งเล็งดู กำหนดดู
ไม่ต้องหาของสำหรับดูที่ไหน ดูของที่เรามีอยู่หมดแล้วในตัวของเรา 
ที่ว่างก็มีอยู่แล้ว ไม่ว่างก็มีอยู่แล้ว สุขก็มีอยู่แล้ว ทุกข์ก็มีอยู่แล้ว มีทุกอย่างเดี๋ยวนี้แหละ 
ดูที่เรามีอยู่น่ะแหละ มันตั้งอยู่อย่างไรก็เฝ้าดูมันอย่างนั้น ดูให้รู้ 
แล้วอย่าไปยึดเอาสิ่งโน้นสิ่งนี้มาเป็นตัวเป็นตน 
เรื่องมันเป็นอย่างนั้นแหละ เราต้องพากันเข้าใจข้อนี้ 
เหตุฉะนั้นจึงได้มาทำกรรมฐาน กรรมคือการที่กระทำ ฐานฐานะคือที่ตั้ง
ตั้งให้มันอยู่ ว่างอยู่ก็ให้รู้ ไม่ว่างก็ให้รู้ 
เราจะละได้ต้องเพ่งมูลกรรมฐาน 
ท่านสอนมูลกรรมฐานก็เพื่อให้รู้ตามจริง 
ท่านสอนเรื่องผมให้เรารู้ว่าผมมันเป็นยังไง มันเป็นคน หรือเป็นอะไร 
ผมนี่มันเป็นของสะอาดหรือไม่สะอาด 
นี่เป็นวิธีที่จะกำจัดราคะ โลภะ โทสะ โมหะของเรา 
เพื่อให้กำจัดความทะเยอทะยานเรื่องตัวตนของเรา 
ขนล่ะมันเป็นคนที่ไหน เล็บอย่างนี้มันเป็นคนที่ไหน ฟันอย่างนี้เป็นคนที่ไหน 
หนังมันเป็นคนที่ไหนเล่า เนื้ออย่างนี้เป็นคนที่ไหน เส้นเอ็นเป็นคนที่ไหน 
กระดูกเป็นคนที่ไหน เส้นเลือดเป็นคนที่ไหน 
เยื่อในกระดูกเล่าเป็นคนที่ไหนเล่า พิจารณาดูซี่ 
หทัยวัตถุเป็นคนที่ไหน ตับไตไส้น้อยไส้ใหญ่อาหารเก่าอาหารใหม่นั่นเป็นคนที่ไหน 
เราพากันมาเพ่งดูสิ่งเหล่านี้ให้เห็นอย่างว่านั้น 
เราจึงจะละอุปาทานการยึดถือได้ เราจึงจะละสักกายทิฐิได้ 
ถ้าเราไม่พิจารณาอย่างนี้แล้วมันละไม่ได้ มันวางไม่ได้ 
ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริงแล้ว 
มันก็ไม่มีที่ยึด ไม่มีที่จะถือเอาในตัวของเรา 
เมื่อจิตมันเห็นแล้วมันก็ปล่อยเองวางเอง
เหตุนั้นให้พากันกำหนดเพ่งเล็งดู วางอารมณ์ลงไป ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก
เพ่งลงไป ดูให้รู้ใครเป็นผู้ว่านี้คือผม นี้คือขน นี้คือเล็บ นี้คือฟัน นี้คือหนัง 
ผมก็เป็นผม ขนก็เป็นขน เล็บก็เป็นเล็บ ฟันก็เป็นฟัน หนังก็เป็นหนัง 
ยังเหลืออะไรล่ะ ดูเข้าชี่ เราจะเห็นตนละ 
ตนก็คือผู้รู้ว่านี่ผม นี่ขน นี่เล็บ นี่ฟัน นี่หนัง ตนคือผู้รู้ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าดี ว่าชั่ว 
ผู้นั้นแหละตนละ ไปจ้องดูซี ให้มันเห็นแน่นอนซี 
ผู้นั้นไม่ได้เป็นอะไรนี่ ไม่ได้เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง 
มันเป็นแต่ผู้รู้เท่านั้น ผู้รู้มันไม่ดับไม่หาย ไม่แตกไม่สูญ ไม่ทำลาย 
ว่างมันก็รู้ว่าว่าง หมดมันก็รู้ว่าหมด แต่ผู้รู้มันไม่รู้จักหมด 
เป็นอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมา 
ถ้าเราหลงแล้วเอาผู้รู้ไปผสมผเส ไปยึดอะไรเข้ามา 
ก็เป็นตัวสมุทัย เป็นตัวภพตัวชาติขึ้นมา นี่มันเป็นอย่างนั้น 
ถ้าเรากำหนดให้รู้จริงแล้ว มันไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรหรอก
มันเป็นแต่รู้เท่านั้น ธรรมชาติมีอยู่อย่างนั้น 
เกิดมันก็ไม่เกิด ถ้าจะเกิดมันก็รู้ แล้วจะไปเกิดทำไมล่ะ แก่มันก็รู้ จะไปแก่ทำไมล่ะ 
เจ็บมันก็รู้ จะไปเจ็บทำไมล่ะ ตายมันก็รู้ จะไปตายทำไมล่ะ หลงมันก็รู้แล้วจะไปหลงทำไม 
นี่จึงว่า “พุทธะ” คือผู้รู้ ความรู้นี้แหละสำคัญมาก 
เราต้องเจริญให้ยิ่ง ทำให้ยิ่ง พิจารณาให้ยิ่ง กำหนดให้ยิ่ง
ต้องเพ่งอยู่สิ่งเดียว พอเรากำหนดจิตนิ่งอยู่สิ่งเดียวแล้ว 
โรคทั้งหลายมันก็ระงับดับหมด ภัยมันก็ดับหมด 
กิเลสตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มันก็ดับไปเอง 
เพราะจิตนั้นไม่เป็นแล้ว ใครจะมาเป็นเล่า ภัยเวรมันก็ดับไปเอง 
ผู้นั้นไม่มีภัยแล้ว ภัยมันจะมาจากไหนเล่า 
ผู้นั้นไม่มีเวรแล้ว เวรมันจะมาจากไหนเล่า 
ผู้นั้นไม่มีกรรม กรรมมันจะมาจากไหนเล่า 
ผู้นั้นไม่มีความชั่ว ความชั่วมันจะมาจากไหนเล่า 
ผู้นั้นไม่ทุกข์ ทุกข์มันจะมาจากไหนเล่า มันก็เป็นแต่ผู้รู้เท่านั้น 
ทำให้รู้เสียเดี๋ยวนี้ ให้เห็นแจ้งประจักษ์เชื่อมั่นลงไปซิ 
ความรู้ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นภัย ไม่มีได้เป็นเวร 
เวลานี้เราไปยึดเอาภัย มันก็เป็นภัย ไปยึดเอาเวร มันก็เป็นเวร 
ไปยึดเอากรรม มันก็เป็นกรรม ยึดเอาทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ 
ยึดอย่างไหนมันก็เป็นอย่างนั้น
เพราะเหตุนั้นท่านจึงให้ไม่ยึดอะไรทั้งหมด ท่านให้ปล่อยให้วางให้ละ
ในธัมมจักกัปวัตนสูตร ท่านว่า “จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย” 
จาโค คือความสละ หรือความละ ความวาง ความปล่อยให้ 
เมื่อจิตเราเป็นหนึ่งอยู่แล้ว เป็น เอกัง จิตตัง จิตดวงเดียวแล้ว 
เอกัง ธัมมัง เป็นธรรมดวงเดียวแล้ว 
สิ่งทั้งหลายก็ว่างไปเอง ไม่มีอะไร ว่างหมด 
จิตเป็นธรรมอยู่ดวงเดียวนั้นแหละ ไม่ต้องส่งหน้าส่งหลัง คำนึงถึงอื่นละ 
จะพ้นทุกข์ก็พ้นตรงนั้นแหละ พ้นทุกข์ก็เมื่อจิตมันไม่ทุกข์น่ะแหละ 
มันเป็นแต่ผู้รู้ รู้มันไม่ใช่ทุกข์ มันกำหนดรู้อยู่อย่างนั้น สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้อยู่อย่างนั้น 
ท่านว่าปัญญาวิปัสสนากรรมฐานผู้รู้จักที่เกิดแห่งสังขาร 
รู้จักที่ดับแห่งสังขาร เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยในสังขาร 
อย่างนี้เป็นวิปัสสนาคือความรู้แจ้งเห็นจริง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ 
เหตุนี้แหละจึงให้พากันทำให้เข้าใจ
พวกเรากระทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันแน่นอนลงไปซิ 
ปัญญานั้นคือความรู้ว่าจิตของเรามีอยู่อย่างไร 
สมาธินั้นคือจิตของเราตั้งมั่น เมื่อตั้งแล้วจะเอนเอียงอย่างไรเราก็รู้ 
มันตรงอยู่เราก็รู้ มันนิ่งอยู่เราก็รู้ 
นี่แหละความสุขทั้งหลายเกิดจากความสงบเป็นสมาธิ 
ปัญญาก็เกิดจากสมาธินี่แหละ ถ้าเราตั้งหลักตั้งฐานได้แล้ว
มันก็มีรากฐาน ปัญญาก็เกิดขึ้น พอจิตเคลื่อนไหวมันก็รู้แล้ว นั้นเรียกว่าปัญญา 
จิตนิ่งมันก็รู้อีกแหละ นั่นเรียกว่าสติ ปัญญาอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล 
ให้พากันเข้าใจ แต่นี้ต่อไปให้พากันหมั่นทำข้อปฏิบัติอยู่เสมอ 
เราต้องการพ้นทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายไม่ได้อยู่บนฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่ในต้นไม้ภูเขาเหล่ากอ
อยู่จำเพาะที่จิตของเรา เมื่อจิตของเราไม่ทุกข์แล้วจะเอาอะไรมาทุกข์เล่า 
มันก็พ้นที่จิตไม่ทุกข์น่ะแหละ จะพ้นตรงไหน ถ้าจิตไม่ทุกข์ก็แปลว่ามันพ้นน่ะซี 
จิตยังมีทุกข์ก็แปลว่ายังไม่พ้น เมื่อจิตยังมีภพอยู่ก็แปลว่ามันยังไม่พ้นจากทุกข์ 
เมื่อจิตไม่มีภพ มันก็หมดภพ เพราะมันไม่ได้ไปยึดอะไรนี่ ไม่ได้ไปเกาะอะไร 
มันเป็นแต่ผู้รู้อยู่เท่านั้น มันจะเอาภพมาจากไหน 
ได้ยินได้ฟังแล้วต้องทวนกระแสเข้ามา 
เอหิปัสสิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ก็ดูรูปธรรม นามธรรมของเราเองน่ะซี 
รูปธรรมก็อัตภาพร่างกายของเรา นามธรรมก็ดวงใจของเรา 
เรามาดูซี่ ธรรมนี้เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมหรืออัพยากตธรรม เราต้องรู้จัก 
กุศลธรรมคือความสุข อกุศลธรรมคือความทุกข์ 
อัพยากตธรรมสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ ดีก็ไม่ใช่ ชั่วก็ไม่ใช่ ปฏิเสธทั้งหมด
เพราะฉะนั้นเมื่อเราทั้งหลายต้องการความพ้นทุกข์ ต้องรู้ว่ามันพ้นที่จิตสงบ
เมื่อจิตของเราสงบแล้ว มันก็พ้นตรงนั้นเอง ไม่ต้องไปหาที่อื่น นี่แหละข้อปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นให้พากันทำจิตของเราให้แน่วแน่ลงไป กำหนดผู้รู้เอาไว้
ผู้รู้นั้นไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว ผู้รู้คือพุทธะ 
ให้เราถึงพุทธสรณะ ธรรมสรณะ สังฆสรณะ 
ได้สรณะที่พึ่งอย่างแน่วแน่จริง แจ้งประจักษ์ลงไป ไม่มีสรณะอื่นจะยิ่งไปกว่านี้ 
เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตรับฟังแล้วในโอวาทานุศาสนี ธรรมะคำสั่งสอนนี้ 
ซึ่งแสดงโดยย่นย่อ พอเป็นข้อปฏิบัติประดับสติปัญญาบารมี 
ก็ให้พากันโยนิโสมนสิการ กำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนของตน
ให้เป็นไปในศีล เป็นไปในธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว 
พวกท่านทั้งหลายจะประสบแต่ความสุขความเจริญงอกงามดังได้แสดงมา 
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(ถอดจากบันทึกในแถบบันทึกเสียงของนายแพทย์อวย เกตุสิงห์
ม.ร.ว. ส่งศรี เกตุสิงห์ ผู้ถอด อวย เกตุสิงห์ เรียบเรียง)
..... จากพระธรรมเทศนา “จิต” ใน อาจาโรวาท ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๐ .....
dlitemag
ผู้สนับสนุน >>> http://goo.gl/bTZ3Ly




No comments:

Post a Comment