กายคตาสติ มาจากการสมาสของคำว่า กาย + คติ + สติ จึงหมายถึง การมีสติ ในการเห็นทางดำเนินและเป็นไปของกายอย่างปรมัตถ์หรือตามความเป็นจริง, สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากาย ให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นปฏิกูล ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา เกิดความหน่ายหรือนิพพิทาไปในทั้งกายตนแลผู้อื่น, ซึ่งใช้หลักในการเจริญวิปัสสนาเหมือนกับกายานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองที่เป็นการใช้สติพิจารณากายเป็นอารมณ์ ในลักษณะเดียวกัน
กายคตาสติ เป็นการปฏิบัติพระกรรมฐานที่ดีงาม กล่าวคือเป็นการปฏิบัติสมถวิปัสสนา ที่ประกอบด้วยทั้ง สติ สมาธิ และปัญญา ทั้ง ๓ กล่าวคือ เมื่อมีสติ ย่อมเกิดสมาธิหรือจิตตั้งมั่นจากความสงบระงับจากการปฏิบัติอานาปานสติ หรืออิริยบถ หรือสัมปชัญญะ แล้วนำมาเป็นกำลังในการเจริญวิปัสสนาใน ปฏิกูลมนสิการบ้าง ธาตุมนสิการบ้าง หรือ นวสีวถิกาบ้าง เพื่อให้เห็นความจริงเกี่ยวกับกาย ว่าไม่งาม น่าปฏิกูล ของเหล่ากายทั้งปวง กล่าวคือพิจารณาให้เห็นความจริงที่เป็นไปทั้งในกายตนและในกายผู้อื่น เพื่อยังให้เกิดนิพพิทา จึงบรรเทาหรือดับตัณหาอันเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์, จัดเป็น ๑ ในอนุสติ ๑๐ ที่ควรระลึกถึงอยู่เนืองๆ
และทั้งสติและสมาธิที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติกายคตาสติอย่างถูกต้องดีงาม ก็ย่อมคือสัมมาสติและสัมมาสมาธิในองค์มรรค(มรรคปฏิบัติที่มีองค์ ๘) ที่จักพึงยังให้เกิดสัมมาญาณ(สัมมาปัญญา)ในที่สุด อันเป็นมรรคองค์ที่ ๙ ในสัมมัตตะ ๑๐ หรือมรรคมีองค์ ๑๐ ของพระอริยเจ้าเป็นที่สุด
ที่มาของบทความ และ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย http://www.nkgen.com/486.htm
No comments:
Post a Comment