Wednesday, November 20, 2013

อนัตตลักขณสูตร

กลับไปพุทธพจน์

อนันตลักขสูตร
                  
ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เรื่องอนัตตาในขันธ์ ๕ ต่อเหล่าพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนสำเร็จพระอรหันต์
        [๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
        รูปเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตา(ใช่ตัวตน, มีตัวตน หรือเป็นของตัวตน อย่างแท้จริง)แล้ว  รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ(ความเสื่อม ความเจ็บไข้ ความแปรปรวน)  และบุคคลพึงได้(หมายถึง เมื่อเป็นเราหรือของเราจริงๆ ย่อมต้องบังคับบัญชาได้ตามปรารถนา)ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
        ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย  ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตัวตน  ตัวตนหรือกายที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆนั้น เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือฆนะของเหล่าเหตุที่มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งกัน คือ ธาตุ ๔) ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวนด้วยอนิจจัง จึงเจ็บป่วย)  และบุคคลย่อมไม่ได้(หมายถึง ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาเพราะว่ารูปขึ้นอยู่กับเหตุคือธาตุทั้ง ๔  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา) ในรูปว่า  รูปของเรา จง(สวย จงงาม)เป็นอย่างนี้เถิด  รูปของเรา อย่าได้(น่าเกลียด)เป็นอย่างนั้นเลย.
(กล่าวคือ รูปนั้นเป็นเพียงมวลหรือก้อนหรือฆนะของเหตุที่มาเป็นปัจจัยกัน คือธาตุ ๔  จึงย่อมขึ้นหรือเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันคือธาตุ ๔  แท้จริงหรือปรมัตถ์แล้วจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวตนที่หมายถึงเราหรือของเรา  ถ้ารูปนั้นเป็นของเราหรือของตัวของตนจริงๆแล้วไซร้ จะต้องขึ้นอยู่กับเราจึงย่อมควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา  ต้องควบคุมบังคับให้สวยให้งามได้และไม่แปรปรวนหรือดับไปตามสภาวธรรมได้ด้วยตัวตนของตนเองอย่างแท้จริงและแน่นอน  รูปหรือกายจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา, เพียงแต่การบังคับให้กายกระทำอะไรๆอันเป็นเพียงการกระทำคือกายสังขาร หรือบางครั้งไปควบคุมเหตุบางประการได้ชั่วขณะหนึ่งๆ จึงก่อมายาจิตคิดไปเอาเองว่าเป็นเราหรือของเราที่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ตามปรารถนา,  ในขันธ์อื่นๆก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนขึ้นอยูกับเหตุนั้นๆ จึงขึ้นหรืออิงหรือเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยกัน  จึงย่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราหรือตัวเราเช่นกัน,  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมการเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นได้ในพระไตรลักษณ์และขันธ์ ๕)
         เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  และบุคคลพึง(ควบคุมบังคับบัญชา)ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด(ดังเช่น จงเป็นแต่สุขเวทนาเถิด)   เวทนาของ เราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย(ดังเช่น ขอได้อย่าเกิดทุกขเวทนาใดๆเลย).
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา  ฉะนั้นเวทนาจึง เป็นไปเพื่ออาพาธ(แปรปรวน) และบุคคลย่อมไม่(สามารถควบคุม)ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด  เวทนาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  สัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่าสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  สัญญาของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.  
         สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้วสังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของ  เราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะ สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา  ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด  สังขารทั้งหลายของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
         วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่าวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้นวิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่าวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.  
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
        [๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน  รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
         พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
         . ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         . เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
         (โยนิโสมนสิการจากปฎิจจสมุปบาท และพระไตรลักษณ์  จะพบความจริงได้ด้วยตนเองในที่สุดว่า ทั้งสุขและทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ย่อมเป็นทุกข์ในที่สุดทั้งสิ้น)
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
         ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?  
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง?  
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?  
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
         ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
         ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?  
         ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.  
         ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน(อัตตา)ของเรา?  
         ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ
(ยถาภูตญาณทัสสนะ - ความรู้ความเห็น ตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง)
         [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
         รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก(ภายในหมายถึงรูปกายของตน, ภายนอกหมายถึงของบุคคลอื่น) หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ (สัมมาญาณ) ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก  หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
         (ไม่ใช่ของเราอย่างจริงแท้แน่นอน,  เพียงเกิดแต่เหตุปัจจัย ขึ้นระยะหนึ่ง แล้วต้องแปรปรวนดับไปเป็นที่สุดอย่างจริงแท้แน่นอน).
         สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบ หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก  หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ
         เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
         [๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้  
         ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ
         เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด  เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น, เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว
         อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
         [๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน ภาษิตของผู้มีพระภาค.
         ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อนัตตลักขณสูตร จบ
อนัตตลักษณะ : ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา
        ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของไม่ใช่ตัวใช่ตน หรือมิใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตน โดยอรรถต่างๆ
        ๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(
สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย  เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ ด้วยฆนะ, แต่ความจริงอย่างยิ่งหรืออย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว  มิได้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ  แท้จริงจึงขึ้นอยู่กับเหตุที่มาประชุมกันอันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา จึงไม่ใช่อะไรหรือของใครให้เป็นเจ้าของได้  เพราะย่อมขึ้นอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใด  โดยแท้จริงจึงว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นาย ก. นาย ข. หรือการสมมติเป็นต่างๆ(สมมติสัจจะ)
            เป็นของสูญ ในความหมายของอสังขตธรรมเช่นกัน ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมหรือสภาวธรรมที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการประชุมหรือปรุงแต่งกันขึ้นเป็นสังขาร อันเป็นฆนะกลุ่มก้อนของการที่มีเหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน
        ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้  ไม่เป็นของใครจริง  แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้  เพราะเกิดแต่
เหตุปัจจัยจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัย  จึงไม่ได้ขึ้นหรืออิงอยู่กับผู้ใดอย่างแท้จริง
        ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ  ไม่เป็นไปตามความปรารถนา  
ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง  เพราะสภาวะของสังขาร
เองก็มีแรงแต่ภายใน ตลอดจนแรงจากภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุด โดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง  แต่เพราะมีการควบคุมบังคับเหตุได้บ้างบางส่วนและได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันโดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชาว่าสามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา
        ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็น
สังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
        ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็น
อัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา  (แสดงรายละเอียดของอัตตาในขันธ์ ๕ ว่ามีจริงหรือไม่)
        ลักษณะหรืออาการเหล่านี้จึงจึงก่อให้เกิดทุกข์  เมื่อธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่ไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหาหรือไปยึดมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)ว่าเป็นของตัวตน ด้วยทั้งความไม่รู้(อวิชชา)และไม่รู้เท่าทัน(สติ)เหล่านั้น ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กลับไปสารบัญ
 ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร      
พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไปหรือดำเนินไป
       พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม ขับเคลื่อนพระศาสนา เป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคียทั้ง๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  คือภายหลังจากการตรัสรู้แล้ว ๒ เดือน ซึ่งก็คือวันอาสาฬหบูชาในสมัยปัจจุบันนั่นเอง   เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุดทั้ง ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ความจริงของอริยะ หรือความจริงอันประเสริฐทั้ง ๔  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ(ญาณชนิดตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม)
       ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)  และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระศาสนา เรียกว่าเป็น ปฐมสาวก
กลับไปพุทธพจน์
ปฐมเทศนา
แสดงธรรมเป็นครั้งแรกในโลก แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
(จาก พระไตรปิฎก ฉบับสมาคมศิษเก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
        [๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
        การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย (กามสุขัลลิกานุโยค)  
        เป็นธรรมอันเลว   เป็นของชาวบ้าน  เป็นของปุถุชน
        ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
        การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค)
        ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น   
        นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
        ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
        ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?
        ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละคือ  
                ปัญญาอันเห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ) ๑,   
                ความดำริชอบ(สัมมาสังกัปปะ) ๑,   
                เจรจาชอบ(สัมมาวาจา) ๑,   
                กระทำชอบ(สัมมากัมมันตะ) ๑,   
                เลี้ยงชีวิตชอบ(สัมมาอาชีวะ) ๑,   
                พยายามชอบ(สัมมาวายามะ) ๑,  
                ระลึกชอบ(สัมมาสติ) ๑,   
                ตั้งจิตชอบ(สัมมาสมาธิ) ๑  
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.
        [๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์   ความแก่ก็เป็นทุกข์   ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์   ความตายก็เป็นทุกข์   ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์   โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก  ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน(นันทิ)  มีปกติเพลิดเพลิน(นันทิ)ในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา.  
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือ  ด้วยมรรคคือ วิราคะ  สละ  สละคืน  ปล่อยไป  ไม่พัวพัน.
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คืออริยมรรคมีองค์ ๘นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ............. ตั้งจิตชอบ ๑.
        [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๑)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.(ญาณทัสสนะที่ ๒)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๓)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขสมุทัยอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๔)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.(ญาณทัสสนะที่ ๕)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๖)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธอริยสัจ.(ญาณทัสสนะที่ ๗)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.(ญาณทัสสนะที่ ๘)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๙)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.(มรรค) (ญาณทัสสนะที่ ๑๐)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค)นี้นั้นแล ควรให้เจริญ.(ญาณทัสสนะที่ ๑๑)
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค)นี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.(ญาณทัสสนะที่ ๑๒)    (แสดงสรุปญาณทัสสนะทั้ง ๑๒ อาการ ในบทอริยสัจ ๔)
 ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓  มีอาการ ๑๒
        [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓  มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า  เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.  
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.
         อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.
         ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่   ดวงตาเห็นธรรม  ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.
         [๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้ บันลือเสียงว่า
         นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี
         อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ  ใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
         เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
         เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป.
         เทวดาชั้นยามา ...  เทวดาชั้นดุสิต ...  เทวดาชั้นนิมมานรดี ...  เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...
         เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม  ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า
         นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี  
         อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลก จะปฏิวัติไม่ได้.
         ชั่วขณะการครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก  ด้วยประการฉะนี้แล.  
         ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.  
         ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ  ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
[ "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" - โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ]
         เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบ

ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
          [๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรา กล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น. (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)
          [๑๙] ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือจากนั้น ด้วยธรรมีกถา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.
ท่านทั้งสองนั้น ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความ สงสัยได้แล้ว
ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย  ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า  ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสองพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งสองจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งสองจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุทั้งสองนั้น.
          ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวาย ได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถา.
ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตนำบิณฑบาตใดมา ทั้ง ๖ รูปก็เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนั้น.
          วันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา.
ท่านทั้งสองได้เห็น ธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัย ได้แล้ว
ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์ทั้งสอง พึงได้บรรพชา พึงได้ อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งสองจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งสองจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
          พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุทั้งสองนั้น.

วันวิสาขบูชา

     ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖   วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
     ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด  ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ  ได้ปรินิพพาน คือดับขันธ์ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ    
     ๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
     ๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
     ๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
     นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖  ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
   วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
   สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
   ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
   ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
   ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เญ็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
   ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
   การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย
ห ลั ก ธ ร ร ม ส ำ คั ญ ที่ ค ว ร น ำ ม า ป ฏิ บั ติ
๑. ค ว า ม ก ตั ญ ญู คือความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น
• บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูก ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก
• ลูกเมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้ แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของ ท่าน และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
• ครูอาจารย์มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่น และช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย
• ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู
• ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้เพราะ บิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน
• นอกจากบิดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง นายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
• ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์
• พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฎิบัติบูชากล่าวคือการจัดกิจกรรม ในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ด้วยการทำนุ บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฎิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
๒. อ ริ ย สั จ ๔ 
อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ
• ทุกข์ ได้แก่ปัญหาของชีวิตพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจาก การเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิด จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิความ ยากจน
• สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา ของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัญหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
• นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไข ได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ ๘ ประการ ( ดูมัชฌิมาปฎิปทา )
• มรรค การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ
๓. ค ว า ม ไ ม่ ป ร ะ ม า ท 
ความไม่ประมาทคือ การมีสติเสมอทั้ง ขณะทำขณะพูด และขณะคิด สติคือการระลึกได้ ในภาคปฎิบัติเพื่อนำ มาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหว ของอริยาบท ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวของอริยาบท กล่าวคือ ระลึกทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้ง ระลึกรู้ทัน ในขณะพูดคิด และขณะทำงานต่างๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า มีความไม่ประมาท
การทำงานต่างๆ สำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือผู้ทำย่อมต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่า ตนเองเป็นใครมีหน้าที่อะไร และกำลังทำอย่างไร หากมีสติระลึกรู้ได้อย่างนั้น ก็ย่อมไม่ผิดพลาด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dhammathai.org/day/visaka.php
๙ พฤษภาคม ๒๕๑๔  โดยท่านพุทธทาสภิกขุ